เมื่อมีการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2460 วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่ได้จัดสอนในคณะนี้ ในฐานะเป็นวิชาพิเศษสำหรับนิสิตชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ ในปลายปี พ.ศ. 2466 ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และทรงดำเนินการปรับปรุงคณะแพทยศาสตร์รวมทั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น ได้ทรงจัดหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ด้วยพระองค์เอง โดยทูลเชิญและเชิญผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางมาปกฐกถา เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบรรยาย "ประวัติศาสตร์ไทย" พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีวิวัติ ทรงบรรยาย "อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียต่อวัฒนธรรมไทย" เป็นต้น ในการบรรยายแต่ละครั้ง นอกจากนิสิตแล้วยังมีอาจารย์และบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าฟังด้วย
ใน พ.ศ. 2471 กระทรวงธรรมการมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการศึกษาวิชาอักษรศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และวิชาครู จึงมอบหมายให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปิดสอนขั้นประกาศนียบัตรครูมัธยมสาขาอักษรศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยใช้เวลาศึกษาตามหลักสูตรสามปี สองปีแรกเป็นการศึกษาวิชาสาขาอักษรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ปีสุดท้ายเป็นการศึกษาวิชาครู วิชาประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในจำนวนวิชาที่เปิดสอนสำหรับสายอักษรศาสตร์ และในช่วงนี้เองที่เริ่มมีการแบ่งเป็นแผนกวิชาต่างๆ ขึ้น การแบ่งแผนกวิชาดังกล่าวนี้ได้รับการรองรับอย่างเป็นทางการโดย "พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ" ซึ่งประกาศในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2476 ตามความในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 9 แผนก คือ
1. แผนกสารบรรณและหอสมุดของคณะ 2. แผนกเคมี 3. แผนกฟิสิกส์ 4. แผนกชีววิทยา 5. แผนกคณิตศาสตร์ 6. แผนกภาษาไทยและภาษาโบราณตะวันตก 7. แผนกภาษาปัจจุบัน 8. แผนกฝึกหัดครู 9. แผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
ต่อมาใน พ.ศ. 2477 คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้เปิดสอนในระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตและวิทยาศาสตรบัณฑิต
ตามความในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2477
ในช่วงแรกที่เปิดสอนตามหลักสูตรใหม่นี้ ได้รับผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมแล้วเข้าศึกษาเพิ่มเติมอีก
2 ปี การสอนประวัติศาสตร์จึงขยายเพิ่มจากการสอนในชั้นปีที่
1 และปีที่ 2 มาเป็นปีที่ 3
และปีที่ 4 ด้วย โดยยังคงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2
ส่วน คือ ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์สากล
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า แม้จะมีการตั้งแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการและได้ขยายการสอนจนถึงระดับปริญญาแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่การสอนวิชาประวัติศาสตร์ยังคงอาศัยกำลังอาจารย์จากบุคคลภายนอกโดยมิได้มีอาจารย์ประจำแต่ประการใด
อาจารย์พิเศษซึ่งทำการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้ มีอาทิเช่น
หม่อมเจ้าทองทีฆายุ ทองใหญ่ หลวงวิจิตรวาทการ พระราชธรรมนิเทศ
และพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นต้น
จนถึง พ.ศ. 2478 แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์จึงมีอาจารย์ประจำเป็นท่านแรกคือ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ (ตำแหน่งทางวิชาการหลังสุด) ศาสตราจารย์รองได้พยายามปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมประวัติศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เช่น จีน-ญี่ปุ่น อเมริกา เป็นต้น โดยเพิ่มเติมเข้าในเนื้อหาของประวัติศาสตร์สากล และเนื่องจากเพิ่งมีอาจารย์ประจำเพียงท่านเดียว การเรียนการสอนในช่วงนี้จึงยังต้องอาศัยอาจารย์พิเศษด้วย เช่น นายอภัย จันทวิมล สอนวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป และนายโชจิ อิโต ชาวญี่ปุ่นซึ่งสอนประวัติศาสตร์เอเชีย เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2487 แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มีอาจารย์ประจำเพิ่มขึ้น คือ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล และในปีต่อมาหม่อมราชวงศ์แสงโสม เกษมศรี ก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคนที่สาม การเพิ่มจำนวนอาจารย์ประจำมากขึ้นทำให้การดำเนินงานของแผนกวิชาเป็นไปอย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่การบริหารการเรียนการสอนเข้าสู่ลักษณะการเป็นแผนกวิชาอย่างสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2487 นี้ ศาสตราจารย์รอง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ นับเป็นหัวหน้าแผนกวิชาฯ ท่านแรก แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนตาม หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในช่วงแรกนี้โครงสร้างหลักสูตรเน้นการทำวิทยานิพนธ์ภายใต้การควบคุมของอาจารย์ที่ปรึกษา โดยไม่มีการเรียนรายวิชา นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาคนแรกคือ หม่อมราชวงศ์แสงโสม เกษมศรี ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้แล้วได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำของแผนกวิชาดังกล่าวมาแล้ว นับจากปีแรกเริ่ม การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง พ.ศ. 2505 ก็ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบัณฑิตวิทยาลัยซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปีนั้น ในช่วงเวลานี้เองที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรให้มีทั้งการเรียนรายวิชาและการทำวิทยานิพนธ์ โดยใช้ระบบหน่วยกิต
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2515 ได้มีการแบ่งแยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 แผนกวิชาต่างหากจากกัน คือ แผนกวิชาประวัติศาสตร์ และ แผนกวิชาภูมิศาสตร์ ต่อมาเปลี่ยนจากการเรียก "แผนกวิชา" เป็น "ภาควิชา" ตามความในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้คณะต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วยหน่วยงานระดับภาควิชา ดังนั้นจึงเริ่มใช้คำว่า "ภาควิชาประวัติศาสตร์" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อาจารย์ของภาควิชา
สำหรับทรัพยากรสำคัญใน "ชุมชนวิชาการ" ของภาควิชาประวัติศาสตร์ อันได้แก่ อาจารย์ ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากปี พ.ศ. 2485 ที่มีคณาจารย์เพียง 3 คน ดังกล่าวมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2498 แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มีอาจารย์ประจำ 5 คน อาจารย์พิเศษ 6 คน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ซึ่งเริ่มใช้ระบบหน่วยกิตและมีความจำเป็นต้องเปิดรายวิชามากขึ้น ปรากฎว่า จำนวนอาจารย์ประจำได้เพิ่มขึ้นตามภารกิจทางวิชาการ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2517 มีอาจารย์ประจำ 9 คน อาจารย์พิเศษ 5 คน และในปัจจุบันมีอาจารย์ประจำ 10 คน อาจารย์พิเศษ 2 คน อาจารย์ส่วนใหญ่มีความสนใจเน้นหนักไปทางด้านประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของหลักสูตรใหม่ ที่มุ่งความรู้อย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนให้นิสิตมีความเชี่ยวชาญในเชิงวิจัย ขณะเดียวกันภาควิชาฯ ก็มีอาจารย์ซึ่งชำนาญในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ยุโรป และอเมริกา ซึ่งจะช่วยให้นิสิตมีความรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง (ดูเพิ่มเติมใน "คณาจารย์ในภาควิชา")
พัฒนาการการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์์
หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตของภาควิชาฯ ระยะแรกตั้งจนถึง พ.ศ. 2505 ยึดรูปแบบหลักสูตรปริญญาขั้นสูงของประเทศอังกฤษเป็นเกณฑ์ นิสิตมีภาระหน้าที่หลักคือการเขียนวิทยานิพนธ์ นิสิตท่านแรกที่ผ่านการศึกษาปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ แสงโสม เกษมศรี ซึ่งท่านเล่าถึงสภาพการศึกษาในขณะนั้น ดังความบางตอนว่า
การเรียนปริญญาโทสมัยนั้นรู้สึกลำบากยากใจมิใช่น้อย ด้วยเป็นการเริ่มด้วยกัน
ทั้งอาจารย์และศิษย์ นอกจากนี้อาจารย์ผู้ควบคุมท่านก็มีหน้าที่ราชการหลายอย่าง มาหาท่าน ตัวท่านว่างก็ได้ทำ ไม่ว่างก็ต้องเลื่อนกำหนดไปอีก... บางครั้งต้องเดินทางไปเฝ้าหรือไปหาผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาประวัติศาสตร์ไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อปรึกษาหาความรู้จากท่าน ท่านเหล่านี้บางท่านเป็นเจ้านายชั้นสูง บางท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ บางท่านเป็นทั้งสองประการ โอกาสได้พบจึงหายาก... เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ และนำความนิยมการค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงตำรามาให้ข้าพเจ้าเป็นอันมาก
(ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี, "คนเก่าเล่าเรื่องตนเอง" สี่ศาสตราจารย.์ พระนคร : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2515. หน้า 65.)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นอย่างเป็นทางการ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ในแผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์ขั้นปริญญามหาบัณฑิตเป็นระบบหน่วยกิตตามหลักเกณฑ์สากล และเริ่มนำระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นมาตรฐานในการวางหลักสูตร โดยกำหนดให้นิสิตเรียนรายวิชาจำนวน 30 หน่วยกิต และการเขียนวิทยานิพนธ์ 30 หน่วยกิต เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของหลักสูตรนี้ นอกจากเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้อย่างลึกซึ้งในวิชาประวัติศาสตร์ ก็คือการผลิตมหาบัณฑิตออกไปเป็นครู และอาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์โดยตรง
แผนกวิชายังได้กำหนดหลักสูตรประกาศนียบัตรขั้นสูง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ตามหลักสูตรนี้ผู้ศึกษาไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่เน้นการศึกษารายวิชาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ และสามารถแสวงหาความรู้โดยตนเองได้ในระดับพื้นฐาน ใน พ.ศ. 2518 หลักสูตรนี้ได้ถูกยกเลิกไป
ใน พ.ศ. 2517 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์ขั้นปริญญามหาบัณฑิตอีกครั้งหนึ่ง หลักสูตรปรับปรุงดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญแก่การเขียนวิทยานิพนธ์ และกำหนดหน่วยกิตไว้สำหรับวิทยานิพนธ์นี้ถึง 30 หน่วยกิตเช่นเดิม การเน้นหนักทางด้านนี้มีผลต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ได้เปิดประตูความรู้ที่ลึกซึ้งให้แก่วงวิชาการทางประวัติศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2521 หลักสูตรประวัติศาสตร์ระดับปริญญามหาบัณฑิตได้รับการปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายลดจำนวนหน่วยกิตรวมของบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวคือหน่วยกิตของหลักสูตรทั้งสิ้นรวม 48 หน่วยกิต จำนวนหน่วยกิตของรายวิชาที่ต้องศึกษาทั้งหมดยังคงเป็น 30 หน่วยกิตเช่นเดิม แต่ลดหน่วยกิตวิทยานิพนธ์ จาก 30 หน่วยกิต เป็น 16 หน่วยกิต เนื้อหาของรายวิชาของหลักสูตร พ.ศ. 2521 ยังคงใกล้เคียงกับหลักสูตร พ.ศ. 2517 ทั้งในส่วนวิชาประเภทเนื้อหาและวิชาประเภทเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ค้นคว้า หากได้เพิ่มรายวิชาเกี่ยวกับสัมมนาให้มากกว่าเดิม
ใน พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้งหนึ่ง
หลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมหาบัณฑิต
ให้มีความรู้ทางเนื้อหาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง มีทัศนวิพากษ์
และมีความเชี่ยวชาญในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีการเพิ่มกลุ่มรายวิชาที่จะเอื้อให้นิสิตสามารถพัฒนาหัวข้อและ
โครงร่างวิทยานิพนธ์ที่มีความชัดเจนภายในเวลาอันสมควร โครงสร้างของหลักสูตรเอื้อให้นิสิตสามารถลงทะเบียนรายวิชาได้หมดภายในหนึ่งปี
และเริ่มศึกษาค้นคว้าเพื่อเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ในปีการศึกษาที่สองโดยมีรายวิชาเอกัตศึกษารองรับ
เพื่อที่นิสิตจะได้มีโอกาสปรึกษากับคณาจารย์ของภาควิชาเกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์โดยสม่ำเสมอ
ในปี พ.ศ. 2543 ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุด วัตถุประสงค์ของหลักสูตรฉบับนี้ คือ เพื่อผลิตมหาบัณฑิตผู้มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด และวิธีการวิจัยทางประวัติศาสตร์ สามารถบูรณาการความรู้ด้านเนื้อหาประวัติศาสตร์และเครื่องมือการวิจัยในศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานวิจัยทางประวัติศาสตร์มีนวภาพ และตอบสนองความต้องการของสังคม และเพื่อผลิตมหาบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ที่ตระหนักถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือ ขยายขอบเขตของหลักสูตรออกเป็น 3 แขนงวิชาคือ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก (ดูเพิ่มเติมใน "หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต")
หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ในปีการศึกษา 2539 ภาควิชาประวัติศาสตร์
ได้ขยายการศึกษาถึงขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิต นับเป็นสถาบันแรกและสถาบันแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ เพื่อผลิตผู้ที่มีความรู้รอบและรู้สึกในทางประวัติศาสตร์
ทั้งยังมีความรู้และความเข้าใจในเชิงสหวิทยาการ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการศึกษาและค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์
ทั้งนี้จะเน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและจะขยายไปสู่ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในโอกาสต่อไป
ภาควิชาฯ คาดหวังว่า หลักสูตรนี้จะเป็นการขยายพรมแดนแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้มีความกว้างขวางลึกซึ้ง
และเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการในประวัติศาสตร์ในระดับสูงยิ่งขึ้น
นิสิต
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน (2546) ภาควิชาฯ ได้ผลิตบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพสู่วงวิชาการ ระบบราชการ และภาคเอกชน ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน 331 คน (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มใช้ระบบหน่วยกิต ถึง ปี พ.ศ. 2544) ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน 279 คน และปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน 4 คน
การผลิตผลงานทางวิชาการและเผยแพร่
อาจารย์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ผลิตผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งงานวิจัย ตำรา และงานแปล เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ (ดูเพิ่มเติมใน "คณาจารย์ในภาควิชา")
วิทยานิพนธ์ของนิสิตทั้งระดับปริญญามหาบัณฑิต จำนวน 279 เรื่อง (2485-2544) และดุษฎีบัณฑิต จำนวน 4 เรื่อง (ดูเพิ่มเติมใน "งานวิทยานิพนธ์") ก็เป็นงานศึกษาวิจัยของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาที่เผยแพร่และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผลงานทางวิชาการของอาจารย์และนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์
นับเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และเป็นข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญในการใช้อ้างอิงและเป็นตัวจุดประกายแนวคิด
เพื่อการศึกษาค้นคว้า
ต่อไปของนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และนักวิจัย
ในวิชาที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย
ใน พ.ศ. 2546 ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้จัดตั้งหน่วยวิจัย "ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย" โดยการสนับสนุนของคณะอักษรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาสามารถดำเนินการวิจัย และการเผยแพร่องค์ความรู้ในประเด็นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ (ดูเพิ่มเติมใน "ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย")
กิจกรรมทางวิชาการ : ความรู้สู่สังคม
นอกจากผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการของอาจารย์และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งเป็นสื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สู่สังคมไทย ภาควิชาฯ ยังได้จัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สังคมมาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดสัมมนาทางวิชาการ การจัดบรรยายทางวิชาการ การเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต
ในปี พ.ศ. 2545
ภาควิชาฯ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ จำนวน 4 ครั้ง
สัมมนาระดับนานาชาติ 1 ครั้ง โดยจัดร่วมกับมหาวิทยาลัย Leiden
ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายทางวิชาการ 11
ครั้ง การเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ 2 ครั้ง
รวมทั้งนิทรรศการของภาควิชาประวัติศาสตร์ในงานจุฬาวิชาการ 2545
อีก 2 หัวข้อเรื่องคือ เข้าใจเพื่อนบ้าน และวิกฤตในสังคมไทย
และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไข (ดูเพิ่มเติมใน "กิจกรรมในปีที่ผ่านมา"