อักษรศาสตร์สู่ศตวรรษที่สอง

อักษรจุฬา-01

ในวาระที่คณะอักษรศาสตร์ครบ ๑๐๐ ปีนี้  คณะได้ผลิตบัณฑิตอันมีคุณค่าต่อสังคมไทยและสังคมโลกไปทำงานตามส่วนงานต่าง ๆ  จำนวนมากมาย  บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รู้รอบ เข้าใจมนุษย์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม  มีทักษะการสื่อสารที่สูงกว่าคนทั่วไป  สามารถปรับตัวและเรียนรู้งานใหม่ได้ดี  สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะพื้นฐานสำคัญของนักอักษรศาสตร์ที่คณะยังคงยึดมั่นและเชื่อว่าเป็นแก่นสารสำคัญของการเป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์   และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของอักษรศาสตร์บัณฑิตที่ได้ไปมีบทบาทสำคัญในหลากหลายภาคส่วนของสังคมไทยและสังคมโลก

อย่างไรก็ดี  ในบริบทสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้ย่อโลกให้แคบลง  และกำลังนำโลกสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔  โลกที่มีความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสายงานต่าง ๆ อย่างมาก  ทักษะความรู้แบบเดิม ๆ ที่มีจึงไม่เพียงพอต่อการปรับตัวและประสบความสำเร็จในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้  อักษรศาสตร์บัณฑิตในศตวรรษใหม่นี้จึงจำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในศตวรรษใหม่นี้มากขึ้น  โดยจะต้องมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในงานมนุษยศาสตร์  สามารถคิดสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาด้วยแง่มุมหรือวิธีการใหม่ ๆ   รู้จักแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง   สามารถทำงานร่วมกับบุคคลจากหลากหลายสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และที่สำคัญ  จะเป็นผู้เติมเต็มมิติความเป็นมนุษย์ให้กับโลกและสังคม  โลกที่อาจมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดแต่ก็ยังต้องการบัณฑิตที่มีพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และระหว่างจักรกล

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างบัณฑิตอักษรศาสตร์ในศตวรรษที่สองนี้  คณะมีแผนการดำเนินการหลายส่วนเที่ต้องการระดมทุนจำนวนมากมาพัฒนาคณะและพัฒนาการเรียนการสอนคณะ  การสนับสนุนอาจารย์และนิสิตให้มีโอกาสได้ไปศึกษาหรือวิจัยในสถาบันต่างประเทศเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเปิดโลกทัศน์ให้กับนิสิต  ได้เรียนรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ  ได้เข้าใจเข้าใจคนเข้าใจโลกจากประสบการณ์ตรง  การให้ทุนการศึกษาหรือทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยแก่นิสิตขาดแคลนหรือเรียนดีเพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้เต็มประสิทธิภาพ   นอกจากนี้  สภาพสังคมที่นิสิตปัจจุบันเติบโตมามีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคมแต่เดิมมาก  ทำให้คณะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสมกับการสร้างบัณฑิตที่จะสามารถคิดและแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์  สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเองต่อไป  การพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ จึงเป็นวัตถุประสงค์สำคัญข้อหนึ่งของการระดมเงินทุนนี้   ในการนี้  คณะจำเป็นต้องจัดหาทรัพยากรและสร้างสื่อการเรียนการสอนดิจิทัลที่เหมาะกับการเรียนการสอนนยุคใหม่มากขึ้น    ในขณะเดียวกัน  คณะก็ต้องสนับสนุนให้ทั้งอาจารย์และนิสิตรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ ในการศึกษาวิจัยทางมนุษยศาสตร์  ซึ่งเป็นอนาคตและแนวทางสำคัญของการศึกษาทางมนุษยศาสตร์ดิจิทัล

© 2017  Faculty of Arts, Chulalongkorn University. All rights reserved.