มนุษยศาสตร์ดิจิทัลหรือ digital humanities เป็นคำที่มีการกล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่ปี 2009 โดยสื่ออย่าง New York Times, Boston Globe, Chronicle of Higher Education มองว่า digial humanities เป็น “the next big thing” ในทางมนุษยศาสตร์ เดิมความสนใจทางเทคโนโลยีของนักมนุษยศาสตร์เป็นไปในรูปแบบของการมองว่าจะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ได้อย่างไรบ้าง งานช่วงแรกเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Humanities Computing เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการข้อมูลงานเขียนสำคัญ ๆ ที่ต้องการศึกษา การทำให้ข้อมูลงานเหล่านั้นอยู่ในรูปดิจิทัลที่สามารถสืบค้นได้ ตลอดจนการกำกับข้อมูลงาน เช่น The Woman Writer Project, The Emily Dickinson Archive เป็นต้น ปัจจุบันงานมนุษยศาสตร์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีการใช้ประโยชน์จากความสามารถทางเทคโนโลยีที่เข้าถึงข้อมูลมหาศาลและประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็วและหลากหลายมิติ สามารถแสดงผลเชิงภาพให้เห็นชัดเจนได้ มีการใช้วิธีการทางสถิติมองหารูปแบบความสัมพันธ์ภายในข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจจะมองว่า มนุษยศาสต์ดิจิทัลไม่ใช่มนุษยศาสตร์ที่แท้จริง เป็นเพียงการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่แท้จริงนั้น มนุษยศาสตร์ดิจิทัลจะเป็นก้าวต่อไปของมนุษยศาสตร์ในอนาคต