ความสำคัญของมนุษยศาสตร์ดิจิทัล

ในเมื่อแก่นของมนุษยศาสตร์ยังเป็นเรื่องการตีความหลากหลาย การใช้ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์  ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ที่ผ่านมาก็ได้สอนและปลูกฝังความคิดนี้มาตลอด  และก็ทำได้ดีอย่างมาก  เห็นได้จากตัวอย่างนิสิตเก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานจำนวนมาก  จึงไม่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนอะไรที่จะต้องรับเรื่องใหม่ ๆ อย่างมนุษยศาสตร์ดิจิทัลเหล่านี้เข้ามา   คณะอักษรศาสตร์ยังคงสามารถสอนโดยยึดหลักการและวิธีการเดิมได้ไม่ใช่หรือ  

จริงอยู่ที่ว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่ผ่านมาได้บ่งบอกถึงความสำเร็จของคณะที่ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปจำนวนมาก  แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จท่ามกลางบริบทสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว     ธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วนต่างก็ตื่นตัวและปรับตัวให้พร้อมรับเทคโนโลยีเปลี่ยนวิถี (disruptive technology) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว  ที่ส่งผลให้บริษัทหรือหน่วยงานทั้งหลายที่แม้เคยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งแต่หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีปฎิบัติองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงก็จะล่มสลายจากไปดังตัวอย่างของบริษัท Kodak  บริษัท Nokia  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กระทบทุกวงการในภาพกว้าง   หากในสิบปีข้างหน้าการแปลภาษาโดยอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้   ความจำเป็นของบัณฑิตที่รู้ภาษาต่างประเทศก็อาจลดความสำคัญลง  เราจึงปฏิเสธได้ยากว่าโลกในศตวรรษที่ 21 นี้  คณะอักษรศาสตร์ก็จำเป็นต้องปรับตัว  เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่เหมาะสมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกข้างหน้าได้  บัณฑิตอักษรศาสตร์ที่จะประสบความสำเร็จต่อไป จึงไม่สามารถมีเพียงความรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศหรือมีเพียงความรู้ทางมนุษยศาสตร์ดีเพียงอย่างเดียวได้  จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและสามารถเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในศาสตร์ของตน    แม้ทักษะความหลากหลายของวิชามนุษยศาสตร์จะเอื้อต่อการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้  แต่ทักษะทางเทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ซึ่งดูเเป็นยาขมสำหรับคนสายมนุษยศาสตร์กลับเป็นทักษะพื้นฐานหนึ่งที่จำเป็นในโลกข้างหน้า   การสนับสนุนการเรียนการสอน และการวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านมนุษยศาสตร์ดิิทัลจึงเป็นการเติมเต็มทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตอักษรศาสตร์ให้พร้อมทำงานในอนาคต

นอกจากนี้  หากพิจารณาว่าโลกปัจจุบันและอนาคตเป็นโลกที่มนุษย์ดำเนินชีวิตในโลกดิจิทัลมากขึ้น  มีความเป็นพลเมืองดิจิทัลแต่กำเนิด (digital natives) มากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง เช่น การถ่ายภาพลงฟิลม์ การเขียนบันทึกลงกระดาษ กลายมาเป็นการเก็บและแสดงผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น  การสื่อสารการบันทึกเปลี่ยนผ่านจากจดหมาย จดหมายเหตุ บันทึก มาเป็นการแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านบล็อก ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ  งานทางมนุษยศาสตร์ที่เคยศึกษาทำความเข้าใจในมนุษย์ผ่านสื่อสร้างสรรค์แบบเดิมก็จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านมาเป็นการศึกษาผ่านสื่อใหม่  สื่อสังคมออนไลน์  มนุษยศาสตร์จึงต้องศึกษาเข้าใจวิถีและความคิดมนุษย์ที่เกิดขึ้นและแสดงออกในในสื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ด้วย  มนุษยศาสตร์ดิจิทัลจึงไม่ได้เป็นเพียงการแปลงงานดั้งเดิมให้อยู่ในรูปดิจิทัลที่สามารถสืบค้นและศึกษาได้เท่านั้น  แต่รวมถึงการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของมนุษย์เหมือนที่เคยทำมาเพียงแต่เป็นการศึกษาผ่านสื่อสมัยใหม่ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสม  ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจมนุษย์ที่มาอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น  อีกทั้งการขยายขอบเขตอักษรศาสตร์ยังตอบค่านิยมหลักของคณะอักษรศาสตร์

© 2017  Faculty of Arts, Chulalongkorn University. All rights reserved.