ค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ยกระดับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2566 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 19 – 24 ธันวาคม 2566 นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมกับ โรงเรียนบ้านตาดภูวง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร 

จัดโครงงาน “ค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ยกระดับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

Community Development Volunteer Camp, raising Education for Sustainable Development (ESD) 

ในปัจจุบันภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อทุกคนในสังคม เพราะภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางหนึ่งที่สากลโลกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างกันโดยก้าวข้ามขีดจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทุกคนในสังคมจึงควรใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย การจะทำให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญและเกิดความสนใจในการเรียนรู้ของภาษาอังกฤษ ผู้เรียนควรรู้สึกสนุกสนานและสงสัยใคร่รู้ ค่ายสอนที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณโรงเรียนบ้านตาดภูวง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ที่จะไปทำการเรียนการสอนนั้นยังมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์และถูกลอบสังหารที่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
ในเวลาต่อมา เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความผูกพันกับจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะสหายนักปราชญ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่เสมือนการส่งเสริมความเป็นนักปราชญ์นี้ 

การนี้คณะอักษรศาสตร์และคณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ (ก.อศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของการศึกษาและการรำลึกถึงบุคคลดังกล่าว จึงจัดโครงงานนี้เพื่อส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนภายในพื้นที่ด้วยความรู้และประสบการณ์ของนิสิตอักษรศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการรำลึกถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้สร้างคุณูปการทางการศึกษาให้แก่ผู้คนเป็นวงกว้าง โดยมุ่งหวังให้การพัฒนาการศึกษาในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติด้วยเช่นกัน