|
|
|
หนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก |
ผลงานเล่มที่ ๖ : พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย 
น้อมสักการบูชาคุณพระสังฆบิดร
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ในกาลพระชันษา ๑๐๐ ปี ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖
และในกาลสิ้นพระชนม์ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
|
หอพระไตรปิฎกนานาชาติได้จัดพิมพ์หนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ ฉบับขุททกนิกาย น้อมสักการบูชาคุณพระสังฆบิดร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในกาลพระชันษา ๑๐๐ ปี ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ และในกาลสิ้นพระชนม์ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
หนังสือนี้ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อหา และวิธีการเสนอเนื้อหา ของคัมภีร์ ๑๕ คัมภีร์ในขุททกนิกาย โดยแบ่งออกเป็น ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ คัมภีร์ที่มีเนื้อหาและลักษณะเฉพาะ (ขุททกปาฐะ ธัมมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต) กลุ่มที่ ๒ คัมภีร์ว่าด้วยกรรมและผลของกรรมที่นำสู่สุคติและทุคติ (วิมานวัตถุ เปตวัตถุ) กลุ่มที่ ๓ คัมภีร์ว่าด้วยประสบการณ์ของพระอรหันต์ (เถรคาถา เถรีคาถา) กลุ่มที่ ๔ คัมภีร์ว่าด้วยชีวิตในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ (ชาดก อปทาน พุทธวงส์ จริยาปิฎก)กลุ่มที่ ๕ คัมภีร์อธิบายขยายความ (นิทเทส ปฏิสัมภิทามัคค์)
ภาพปกหน้า กลางหน้าเป็นภาพพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ลายข้างเป็นลวดลายปูนปั้น ก้านขดดอกพุดตาน หน้าบันด้านหน้าพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพปกหลังเป็นคาถาบาฬีจากพระไตรปิฎกพร้อมคำแปล ลายพระหัตถ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
|
|
|
|
ผลงานเล่มที่ ๕ : พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ
๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
|
อังคุตตรนิกายเป็นนิกายที่ ๔ ของพระสุตตันตปิฎก ต่อจากทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย.
อัฏฐกถากล่าวว่า อังคุตตรนิกายมี ๙,๕๕๗ พระสูตร ในพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ที่จัดพิมพ์มี ๗,๙๐๒ พระสูตร.
ความที่อังคุตตรนิกายมีพระสูตรจำนวนมาก การศึกษาอังคุตตรนิกายที่ผ่านมาจึงมักจำกัดเพียงแค่วิธีการนำเสนออย่างกว้างๆ ว่า อังคุตตรนิกายเป็นนิกายที่มีวิธีการนำเสนอเนื้อหาตามจำนวนเลข เริ่มแต่นิบาตที่ ๑ กล่าวถึงธรรมที่มีจำนวน ๑ เช่น จิต ๑ บุคคลที่เป็นหนึ่ง (เป็นเอก เป็นเลิศ), นิบาตที่ ๒ กล่าวถึงธรรมที่มีจำนวน ๒ เช่น นาม รูป พาล บัณฑิต เป็นเช่นนี้จนถึงนิบาต ๑๑ กล่าวถึงธรรมที่มีจำนวน ๑๑ เช่น อานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ เป็นต้น. สิ่งที่ขาดหายไปอย่างสำคัญ คือ ภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดในอังคุตตรนิกาย.
หนังสือรัตนประทีปนี้ได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการประมวลเนื้อหาทั้งหมดของอังคุตตรนิกายมาจัดหมวดหมู่ตามขั้นตอนของการพัฒนาจิตและตามวิถีชีวิตของบุคคลและสังคมอย่างละเอียด.
ผู้สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
|
|
|
|
ผลงานเล่มที่ ๔ : พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย
เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ |
สังยุตตนิกายเป็นนิกายขนาดใหญ่ มีพระสูตรถึง ๗,๗๖๒ พระสูตร (ตามที่ระบุในอัฏฐกถา) หรือ ๓,๐๓๔ พระสูตร (ตามที่หอพระไตรปิฎกนานาชาตินับได้) ดังนั้น ในงานเขียนที่กล่าวถึงสังยุตตนิกายจึงมักกล่าวโดยย่อ มิได้แจกแจงรายละเอียด มักบอกเพียงว่า แต่ละสังยุตต์ว่าด้วยเรื่องอะไรอย่างสั้นๆ.
ในหนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎกนี้ ได้วิเคราะห์สังเคราะห์เนื้อหาแต่ละส่วนพร้อมทั้งสรุปภาพรวมของสารธรรมในสังยุตตนิกายทั้งหมด นับเป็นงานที่มาก แต่ยิ่งได้ศึกษาก็ยิ่งซาบซึ้งในธรรมอันลุ่มลึกของสังยุตตนิกาย. การที่พระสังคีติกาจารย์ได้รวบรวมพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกันไว้ด้วยกันและมีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ ช่วยให้ได้ศึกษาธรรมเรื่องหนึ่งๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์. |
|
|
ปกหน้า :
รูปพระไตรปิฎกฉบับ
จุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒
พร้อมด้วยแผ่น CD.
หอพระไตรปิฎกนานาชาติ
ได้นำพระไตรปิฎกชุดนี้
มาจัดทำในรูปหนังสือ
อิเล็กทรอนิกส์ (E book)
เพื่อเผยแพร่เป็นสื่อสาธารณะ
ทั่วโลกผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เนื่องในวาระครบ ๑๐๐ ปี
วันสวรรคตพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓.
|
ปกหลัง :
ภาพลายปูนปั้นซุ้มประตูทางเข้าด้านแรก
ของอาคารแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ลายปูนปั้นนี้สะท้อนพระราชปณิธานของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในการสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของชาติ.
ลายปูนปั้นนี้เป็นรูปเหรา (เห รา)
สัตว์ในวรรณคดี มังกรผสมนาค.
เหราเป็นสัตว์กลืนกินอวิชชา
แสดงจุดมุ่งหมายของการศึกษาว่า
พึงเป็นไปเพื่อทำลายอวิชชา ความไม่รู้
พัฒนาสู่ความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ
รวมถึงความรอบรู้ในการดำเนินชีวิตอย่าง
มีคุณธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ
การที่จะทำลายอวิชชา ความไม่รู้ได้
ต้องประพฤติตนดุจดอกมะเขือ
อันเป็นลายตรงกลางซุ้ม คือ
มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
เคารพในครูอาจารย์และในวิชาที่ศึกษา.
|
|
|
ผลงานเล่มที่ ๓ : พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ
ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ |
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงเป็นพระเชษฐภคินีผู้ประเสริฐแห่งราชวงศ์จักรี ทรงสนับสนุนการจัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกไปยังนานาประเทศตามรอยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งทรงส่งเสริมในการกุศลที่เกี่ยวเนื่องกับพระไตรปิฎกเสมอ .
ด้วยเหตุแห่งพระกรณียกิจเป็นอเนกประการที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา พสกนิกรชาวไทยและชาวโลก หอพระไตรปิฎกนานาชาติจึงได้จัดพิมพ์ หนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก ฉบับพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย นี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. |
|
|
|
ปกหน้า :
ภาพพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้า
บรมธรรมิกมหาราช.
การเฉลิมฉลองพระไตรปิฎก
ฉบับนี้เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒
(พ.ศ. ๒๔๓๖)
และการพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับนี้
ไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลก ๒๖๐ แห่ง
ได้มีส่วนสำคัญในการธำรงอธิปไตย
ของชาติ.
ประเทศไทยเป็นประเทศเดียว
ในภูมิภาคและในบรรดาประเทศที่
นับถือพระพุทธศาสนาครั้งนั้น
ที่สามารถคงความเป็นเอกราช
พ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติ
ตะวันตกได้. |
ปกหลัง : ภาพลายรดน้ำปิดทอง
ณ หอเขียน วังสวนผักกาด
หนังสือ Temples of Gold : Seven Centuries of Thai Buddhist Paintings
by Santi Leksukhum ;
photographs by Gilles Mermet .
Bangkok : River Books, 2000.
|
|
|
ผลงานเล่มที่ ๒ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย
จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา |
|
หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายภาพพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ / ทองทึบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สังคายนาและจารเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงมาตรฐานของชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พร้อมทั้งตู้พระไตรปิฎกหลวงตู้แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกใน หนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก ซึ่งหอพระไตรปิฎกนานาชาติ จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา.
ในการนี้ โครงการหอภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดย รศ. ดร.สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ และ สัญชัย ลุงรุ่ง ได้ร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณในการดำเนินการถ่ายภาพอย่างประณีตงดงาม. |
|
|
ปกหน้า : พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ ภาษาบาฬี
อักษรขอม เป็นพระไตรปิฎกหลวงมาตรฐาน
ฉบับแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นผลจากการสังคายนา
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๑ ตามพระราชดำริ
และพระราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์.
การสังคายนาใช้เวลา ๕ เดือน
เมื่อสิ้นสุดการสังคายนา โปรดฯ ให้
จารพระไตรปิฎกลงในใบลาน
ปิดทองแท่งทึบทั้งปกหน้าหลังและกรอบ.
ปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับนี้ประดิษฐาน
ณ หอพระมณเฑียรธรรม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. |
ปกหลัง : ตู้พระไตรปิฎกหลวง
ตู้แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นเพื่อ
ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองทึบดังกล่าว
เป็นงานศิลปกรรมประดับมุกที่งดงามล้ำเลิศยิ่ง
ลวดลายประสานคติไตรภูมิที่เนื่องกับทวยเทพ
และสรรพสัตว์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง
กับเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามปราบทศกัณฑ์
สะท้อนพระราชศรัทธาและพระราช
วิริยอุตสาหะ
อันยิ่งใหญ่ในการวางรากฐาน
กรุงเทพมหานคร
อมรรัตนโกสินทร์ฯ
ให้สุขสวัสดิ์วัฒนาโดยธรรม
เพื่อดำรงชาติไทยและพระพุทธศาสนา
ให้ยั่งยืนจิรัฏฐิติกาล สมด้วย
พระราชปณิธานใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ที่ทรงประกาศว่า
ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา
รักษาประชาชนและมนตรี. |
|
ผู้สนใจหนังสือ ติดต่อได้ที่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ โทร. ๐๒ ๒๑๘ ๔๙๑๖ และ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ. |
|
|
ผลงานเล่มที่ ๑: พระวินัยปิฎก
จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา |
|
หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ได้จัดทำโครงการ หนังสือชุดรัตนประทีปแห่งพระไตรปิฎก เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ผลงานเล่มแรกที่ตีพิมพ์และเริ่มเผยแพร่ คือ พระวินัยปิฎก ผลงานนี้มีลักษณะเด่น ๔ ด้าน
๑. สรุปภาพรวมของพระวินัยปิฎก เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา พร้อมกับวิธีการนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบัน
๒. เป็นหนังสือพื้นฐานสำหรับฆราวาส เพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และสามารถประยุกต์วิธีการจัดการองค์กรในพระวินัยมาสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุขของฆราวาส
๓. บูรณาการวัฒนธรรมพระไตรปิฎก โดยนำ พระราชกำหนดของพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าด้วยศีลสิกขาบท ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๖ มาแสดงในส่วนสิกขาบท ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ ; ปกหน้า แสดงภาพพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ที่ประดิษฐาน ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ; ปกหลังเป็นภาพที่เกี่ยวกับชีวิตพระภิกษุสงฆ์จาก สมุดข่อยเรื่องพระมาลัยจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีอายุเก่าแก่เกือบ ๒๐๐ ปี.
๔. เสนอข้อมูลใหม่ คือ คัมภีร์สายพระวินัยในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๕๔ คัมภีร์ ฉะนั้น หนังสือนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าของการศึกษาวรรณกรรมบาลีด้วย
|
|
|
|
หอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มดำเนินการ โครงการแปลและศึกษาพระไตรปิฎก
ฉบับแรกชื่อ "นโม
ไตรสรณคมน์" เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี โครงการนี้มีความมุ่งหมายที่จะแปลและศึกษาสารธรรมในพระไตรปิฎก
ในส่วนที่เห็นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ สำหรับความเข้าใจ
และเข้าถึงแก่นพระธรรมคำทรงสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนและสังคมส่วนรวม
อีกทั้งเพื่อเป็นการ สืบทอดพระไตรปิฎกและวิธีการศึกษาพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน |
|
นโม ไตรสรณคมน์ มีลักษณะเด่นเฉพาะที่เป็นการแปลและศึกษาพระไตรปิฎก
ตามวิธีพระไตรปิฎกศึกษาในระบบพระพุทธศาสนาเถรวาท
หนังสือ นโม ไตรสรณคมน์ นี้
ผู้แปลและเรียบเรียงทำการค้นคว้าจากคัมภีร์ที่เป็นภาษาบาฬี
๑๒ คัมภีร์ ซึ่งหลายคัมภีร์ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย
อนึ่ง การแปลข้อความพระไตรปิฎก และ อรรถกถา ฏีกา
ในหนังสือนี้ เป็นการแปลใหม่ทั้งหมด |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
จักกวาฬทีปนี : ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า |
เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๕
สกว.ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๔ และวางจำหน่ายที่ สกว. ผู้ที่ต้องการซื้อหนังสือนี้ ติดต่อที่หอพระไตรปิฎกนานาชาติ โทร. ๐๒ - ๒๑๘ - ๔๙๑๖ |
|
|
มหาปัฏฐาน ฉบับเพื่อการสวด
จัดพิมพ์เป็นพุทธบูชา พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี
แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
วิสาขบูชา ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๕
ปัจจัย ๒๔: อุปมาและการศึกษาปฏิบัติ
จัดพิมพ์ในโอกาสการมอบประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต รุ่นที่ ๔๙/๒๕๕๕ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย เนื่องในพิธีประสาทปริญญา ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
|
|
|
ผู้ที่ต้องการหนังสือ "มหาปัฏฐานฯ"
ติดต่อที่หอพระไตรปิฎกนานาชาติ โทร. ๐๒ - ๒๑๘ - ๔๙๑๖ |
ผู้ที่ต้องการซื้อหนังสือ "ปัจจัย ๒๔ฯ" ซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
|