


ไทพวน (Tai-Phuan)
ชื่อชนชาติ: ไทพวน (Tai Phuan)
ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง: ไทพวน, คนพวน
ชื่อที่คนอื่นใช้เรียก: ลาวพวน, ลาวกะเลอ, ไทกะเลอ
แหล่งที่อยู่อาศัย: เมืองคุน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว
แหล่งเก็บข้อมูล:
เครื่องแต่งกาย: ผู้ชายจะสวมเสื้อแขนสั้นผ่าอกและใช้สายมัดหรือสายผูก ทำจากแถบผ้าเย็บเป็นเส้น เย็บติดตรงสาบเสื้อทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ 4-5 คู่ เวลาสวมใส่ก็จะผูกสาย 2 สายเข้าด้วยกัน มีการพัฒนามาใช้กระดุมแทนสายมัดเสื้อเรียกว่า “เสื้อกุยเฮง” เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเสื้อกุยเฮงของประเทศจีน กางเกงเป็นกางเกงหม้อห้อมขาก๊วยหรืชาวไทพวนเรียกว่า “ซ่งกี” ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวเพื่อกันหลุดและเพื่อประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ใช้โพกหัวเวลาอยู่กลางแดดหรือเช็ดหน้าเวลาเหงื่อออก ในอดีตผ้าหม้อห้อมเป็นเสื้อที่นำมาใช้เฉพาะกิจเท่านั้น ซึ่งเหมาะนำมาใช้เป็นเสื้อชาวนา แต่ในปัจจุบันเสื้อผ้าหม้อห้อมได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่สวยงาม แปลกใหม่ หลากหลาย และมีความทันสมัย สามารถเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่น ชุดทำงาน ชุดนักเรียน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หลายชนิด ผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อห้อมจึงกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในชุมชน
ผู้หญิงจะใส่ซิ่นแหล้ เสื้อหม้อห้อมแขนยาว สวมสไบสีขาว โดยซิ่นแหล้สามารถบ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ได้ คือ ผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีสามีออกบ้านออกเรือนไปแล้วนั้น จะใส่ซิ่นแหล้ที่มีแถบแดงบริเวณผ้าซิ่น 1 แถบ และเอวอีก 1 แถบ หรือในภาษาไทพวนจะเรียกผ้าซิ่นแบบนี้ว่า “ซิ่นแหล้ 2 คิ้ว” สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน หรือยังไม่มีสามีจะใส่ซิ่นแหล้ที่มีแถบแดงเฉพาะบริเวณชายผ้าซิ่น 1 แถบเท่านั้น ซึ่งชาวไทพวนจะเรียกว่า “ซิ่นแหล้ 1 คิ้ว” ผู้หญิงไทพวนมักจะใส่ซิ่นแหล้ เสื้อหม้อห้อมแขนยาวในงานทุก ๆ เทศกาล ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแต่ง งานศพหรืองานอื่น ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร นอกจากซิ่นแหล้ที่ได้กล่าวถึงในขั้นต้นแล้วยังมีผ้าซิ่นประเภทอื่น ๆ อีกเช่น ซิ่นตาตอบ ซิ่นซิว ซิ่นตาหมู่ ซิ่นตามะนาว เป็นต้น
ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020