มนุษยศาสตร์ดิจิทัล ก้าวย่างต่อไปของมนุษยศาสตร์

นักมนุษยศาสตร์จำนวนไม่น้อยทำงานในสายนี้ด้วยความหลงใหลในลักษณะเฉพาะของมนุษยศาสตร์ที่ให้คุณค่ากับความหลากหลายและการตีความของแต่ละคน  เป็นงานเชิงคุณภาพที่อาศัยความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจงานแต่ละชิ้น และการสร้างความเข้าใจมากขึ้นจากการถกเถียงจากมุมมองต่าง ๆ  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเสน่ห์ของการทำงานด้านมนุษยศาสตร์  ในขณะที่งานด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัลมีภาพของงานเชิงปริมาณ  อาศัยการประมวลผลข้อมูลโดยรวม  ใช้วิธีการคำนวณแบบวิทยาศาสตร์  จึงดูเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือไม่ก็เป็นเพียงงานชายขอบที่ไม่ใช่แก่นของงานมนุษยศาสตร์จริง ๆ  

แต่หากเมื่อพิจารณาว่า  จุดมุ่งหมายของมนุษยศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรม วรรณกรรม บทละคร ความคิดความเชื่อต่างๆ ต่างก็เพื่อให้เราเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ มากขึ้น  การศึกษาทางมนุษยศาสตร์ดิจิทัล  แม้จะไม่ใช่การวิเคราะห์งานแต่ละชิ้นแบบละเอียด  แต่วิธีการศึกษาแบบใหม่ที่ใช้นั้นเป็นผลพวงจากพัฒนาของศาสตร์อื่น ๆ ในปัจจุบัน  ที่ทำให้เห็นประโยชน์มากมายจากการศึกษาจากข้อมูลมหึมา (big data) ทำให้เห็นข้อมูลรอบด้านและครอบคลุมภาพรวมมากขึ้น  มีการใช้เครื่องมือช่วยแสดงภาพความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนให้เห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้น (visualization)  มีเครื่องมือช่วยในการคัดกรองและจัดระบบข้อมูลส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญและสัมพันธ์กัน (data mining)  ทำให้เห็นความสัมพันธ์ข้อมูลที่ไม่เคยเห็นหรือสนใจมาก่อน   ความก้าวหน้าของศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ทุกวงการทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์   จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปิดกั้นหรือมองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมหรือนอกขอบเขตของมนุษยศาสตร์   อย่างไรก็ดี  บางคนก็อาจมองว่าถึงกระนั้น  งานมนุษยศาสตร์ดิจิทัลก็ไม่ใช่งานที่เป็นแก่นแท้ของมนุษยศาสตร์   ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงมนุษย์ดิจิทัลใคณะอักษรศาสตร์ก็ได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือ 

ในเมื่อแก่นของมนุษยศาสตร์ยังเป็นเรื่องการตีความหลากหลาย การใช้ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์  ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ที่ผ่านมาก็ได้สอนและปลูกฝังความคิดนี้มาตลอด  และก็ทำได้ดีอย่างมาก  เห็นได้จากตัวอย่างนิสิตเก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานจำนวนมาก  จึงไม่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนอะไรที่จะต้องรับเรื่องใหม่ ๆ อย่างมนุษยศาสตร์ดิจิทัลเหล่านี้เข้ามา   คณะอักษรศาสตร์ยังคงสามารถสอนโดยยึดหลักการและวิธีการเดิมได้ไม่ใช่หรือ  

จริงอยู่ที่ว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่ผ่านมาได้บ่งบอกถึงความสำเร็จของคณะที่ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปจำนวนมาก  แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จท่ามกลางบริบทสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว     ธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วนต่างก็ตื่นตัวและปรับตัวให้พร้อมรับเทคโนโลยีเปลี่ยนวิถี (disruptive technology) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว  ที่ส่งผลให้บริษัทหรือหน่วยงานทั้งหลายที่แม้เคยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งแต่หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีปฎิบัติองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงก็จะล่มสลายจากไปดังตัวอย่างของบริษัท Kodak  บริษัท Nokia  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กระทบทุกวงการในภาพกว้าง   หากในสิบปีข้างหน้าการแปลภาษาโดยอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้   ความจำเป็นของบัณฑิตที่รู้ภาษาต่างประเทศก็อาจลดความสำคัญลง  เราจึงปฏิเสธได้ยากว่าโลกในศตวรรษที่ 21 นี้  คณะอักษรศาสตร์ก็จำเป็นต้องปรับตัว  เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่เหมาะสมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกข้างหน้าได้  และมนุษยศาสตร์ดิจิทัลจะมีความสำคัญยิ่งในอนาคต


© 2017  Faculty of Arts, Chulalongkorn University. All rights reserved.