คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ (TNC) คือข้อมูลภาษาไทยมาตรฐานจำนวนมากที่ถูกเก็บรวบรวมลงในคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถใช้เป็นตัวแทนของการใช้ภาษาไทยปัจจุบันในลักษณะต่างๆ และมีการกำกับข้อมูล (markup) ในลักษณะต่างๆตามมาตรฐานสากลเพื่อให้สามารถสืบค้นทางคอมพิวเตอร์ได้โดยสะดวก คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาตินี้ เมื่อใช้ร่วมกับโปรแกรมสืบค้นข้อมูลภาษาไทยที่จะจัดทำขึ้นจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการศึกษาภาษาไทยทำให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาภาษาไทยสามารถเข้าถึงและศึกษาภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทย เพราะทำให้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิยามคำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาได้โดยง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับนักเรียนและอาจารย์ผู้สอนภาษาไทย ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างประโยชน์ของคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ เช่น
1. ช่วยให้จัดทำพจนานุกรมภาษาไทยได้ง่ายและทันการเปลี่ยนแปลงของภาษา ทำให้ผู้จัดทำพจนานุกรมสามารถเขียนนิยาม ความหมายต่างๆของคำได้ชัดเจนขึ้น และมีตัวอย่างการใช้จริงในรูปแบบต่างๆ ที่พบพจนานุกรมไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ยังขาดรายละเอียดในเรื่องนี้ เนื่องจากกำหนดนิยามโดยใช้ความรู้ที่มีเฉพาะตน จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเข้าใจภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งปราชญ์ทางภาษาไทยเหล่านี้ก็มักจะมีภาระหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆที่มีความสำคัญด้วย ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการประชุมจัดทำพจนานุกรมให้ละเอียดสมบูรณ์ หากมีการจัดทำคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติขึ้น นักภาษาศาสตร์ทั่วไปก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดให้พจนานุกรมไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามความหมายของคำว่า “หวุดหวิด” ว่า “เฉียด จวนเจียน เกือบ” และให้ความหมายของ “จวนเจียน” ว่า “หวุดหวิด เฉียด” หากเมื่อได้ตรวจสอบจากข้อมูลจริงก็จะได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “หวุดหวิด” และ “จวนเจียน” นั้นไม่สามารถใช้แทนกันได้เสมอ “จวนเจียน” เป็นคำวิเศษณ์ที่มักใช้หน้าคำกริยาเพื่อแสดงถึงการกระทำที่ยังไม่จบสิ้น หรือยังไม่เกิดขึ้น เช่น “จวนเจียนจะสิ้นเดือนแล้ว” ส่วนคำว่า “หวุดหวิด” มักใช้เป็นคำวิเศษณ์หลังคำกริยาเพื่อแสดงว่าเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเพิ่งผ่านพ้นไป เช่น “ชนะอย่างหวุดหวิด” เป็นต้น ตัวอย่างการใช้จริงที่พบจากคลังข้อมูลภาษาไทยนี้จะทำให้ผู้จัดทำพจนานุกรมสามารถศึกษารายละเอียดความหมายต่างๆของคำ โดยเฉพาะส่วนที่เหมือนหรือต่างของคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถเขียนนิยามความหมายของคำได้ละเอียดและครบถ้วนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่พจนานุกรมภาษาอังกฤษแทบทุกเล่มในปัจจุบันจะอาศัยคลังข้อมูลภาษาอังกฤษขนาดใหญ่เป็นพื้นฐานในการนิยามความหมายต่างๆ ของคำ
2. เป็นแหล่งอ้างอิงในการเรียนการสอนภาษาไทย เมื่อมีคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติจัดเก็บในคอมพิวเตอร์ ทั้งอาจารย์และนักเรียนที่สนใจภาษาไทยจะมีทรัพยากรที่สามารถตอบข้อสงสัยในเรื่องการใช้ภาษาไทยได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อมีข้อสงสัยว่าคำหรือวลีที่สงสัยสามารถใช้ได้หรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบจากคลังข้อมูลภาษานี้ได้โดยตรง หากมีการใช้จริงก็จะเห็นด้วยว่ามีการใช้เป็นจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด บริบทการใช้ควรเป็นเช่นใด หรืออาจมีข้อสงสัยว่าคำว่า “เล็ก” ใช้แตกต่างจากคำว่า “น้อย” อย่างไร และใช้แตกต่างจากคำประสม “เล็กน้อย” หรือไม่ การมีคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาตินี้จึงช่วยให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีลักษณะที่เป็นภววิสัยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงการอาศัยคำตอบจากตำราหรือผู้รู้ทางภาษาไทยเพียงทางเดียว แต่ผู้เรียนจะมีบทบาทในเชิงรุกที่เป็นผู้ค้นคว้าหาคำตอบต่างๆด้วยตนเองด้วย สอดคล้องกับการเรียนการสอนที่ต้องการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
3. ทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและสนใจภาษาไทยมากขึ้น อันจะส่งผลต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมภาษาไทยให้งอกงาม การจัดทำและเผยแพร่คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาตินี้จะทำให้เกิดความตื่นตัวและ สนใจในภาษาไทยมากขึ้นเพราะคลังข้อมูลนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลมาตรฐานสำหรับนัก ภาษาศาสตร์และนักภาษาไทยได้ศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยได้ง่ายมากขึ้น และจะช่วยให้มีการจัดทำทรัพยากรภาษาไทยในลักษณะอื่นๆ นอกเหนือจากพจนานุกรมตามมา เช่น จัดทำอรรถาภิธานภาษาไทย (Thai thesaurus) จัดทำเครือข่ายมโนทัศน์ศัพท์ภาษาไทย (Thai WordNet) การจัดทำศัพท์เฉพาะทางต่างๆ การสร้างคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ จึงเป็นการทำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์ของการศึกษาวิจัยภาษาไทยทำให้คนทั่วไปมีความรู้เข้าใจและสนใจการใช้ภาษาไทยมากขึ้น
4. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของภาษาไทยและประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติทั้งใน แง่ของการให้ความสำคัญกับภาษาประจำชาติและการพัฒนาวิชาการ เนื่องจากการศึกษาภาษาต่างๆ ในปัจจุบันนั้น นักวิชาการนานาชาติต่างก็ยอมรับและเห็นถึงความจำเป็นของคลังข้อมูลภาษาในการศึกษาวิจัยทางภาษาศาสตร์ การจัดสร้างและเผยแพร่คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติจึงเป็นการแสดงออกว่าคนในประเทศได้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทยและได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยภาษาไทยด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากล