นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมใจปลูกป่าที่ จ.น่าน

โครงการจุฬาฯ สามัคคี ฟื้นฟูระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน จ.น่าน เมื่อวันที่ 26 – 29 กรกฎาคม 2566 ณ พื้นที่สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน
.
การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนที่ จ.น่านในครั้งนี้ เป็นการปลูกป่าโดยใช้ 3 วิธีการคือ
  1. การใช้กล้าไม้ที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซา ซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ โดยราเอคโตไมคอร์ไรซาจะสร้างดอกเห็ด สามารถนำไปบริโภคและเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน
  2. ใช้ไบโอพอลิเมอร์ชีวภาพ (Biopolymer) ช่วยในการอุ้มน้ำ ชะลอการระเหยของน้ำพอลิเมอร์ชีวภาพที่ผสมกับดินที่ใช้ปลูก จะช่วยอุ้มน้ำเพื่อชะลอการไหลและช่วยเก็บรักษาน้ำ แร่ธาตุและสารอาหารไว้ในบริเวณที่มีการปลูกต้นไม้
  3. การปลูกป่าไล่ระดับ และการปลูกป่าแบบมิยาวากิ (Miyawaki Method) ซึ่งคิดค้นโดย Prof.Dr.Akira Miyawaki ทำให้สภาพป่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าการปลูกแบบดั้งเดิม
 
การปลูกต้นไม้ให้อะไรมากกว่าที่คิด เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นไม้ช่วยผลิตออกซิเจน ประโยชน์ของต้นไม้ยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ช่วยดูดซับความร้อนจากบรรยากาศและช่วยให้อุณหภูมิลดลง นอกจากนี้ต้นไม้ยังมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
โครงการปลูกป่าโดยนิสิตจุฬาฯ ณ พื้นที่สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน จุฬาฯ ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ปลูกจิตสำนึกของนิสิตจุฬาฯ ในการบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าในจังหวัดน่านซึ่งประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ป่าน่านอุดมสมบูรณ์และสร้างความยั่งยืนสืบไป