[หลังชั้นหนังสือ] แผ่นดินของเรา : “พื้นที่” ใน “โลกแต่ละใบ” ของ มาลัย ชูพินิจ

แผ่นดินของเรา : “พื้นที่” ใน “โลกแต่ละใบ” ของ มาลัย ชูพินิจ

เรื่องและภาพ: กรองกาญจน์  ไชยชนะ, ธมนวรรณ  กาลานุสนธิ์ และ เพชรอมร  กันหารินทร์

เผยแพร่เนื่องในวาระ 120 ปีชาตกาล “ครูมาลัย ชูพินิจ” พ.ศ. 2569

มาลัย ชูพินิจ คือ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา เขาเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ในนามปากกา “แม่อนงค์” นอกจากนี้ยังมีผลงานนวนิยายและเรื่องสั้นอื่นๆ ที่เขียนขึ้นในนามปากกานี้อีก เช่น รวมเรื่องสั้น ปรากฏจนนิรันดร์, แก้วตาและศึกอนงค์  มาลัย ชูพินิจไม่ได้เขียนงานด้วยนามปากกา “แม่อนงค์” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขายังมีนามปากกาอื่นๆ อีกหลายนามปากกา เช่น “เรียมเอง” ซึ่งใช้งานประเภทนวนิยายและเรื่องสั้น เช่น ทุ่งมหาราช, ชั่วฟ้าดินสลาย และเมืองนิมิตร ส่วนนามปากกา “น้อย อินทนนท์” เป็นนามปากกาที่ใช้เขียนในงานนวนิยายประเภทผจญภัย เช่น ล่องไพร นายฉันทนา มีงานสำคัญคือ บันทึกจอมพล อีกนามปากกาหนึ่งคือ “ม.ชูพินิจ” ใช้เขียนเรื่องปัญหาชีวิต เช่น ค่าของคน  และยังมีอีกหลายนามปากกาที่ไม่ได้ยกมากล่าวถึง เขาไม่เพียงสร้างสรรค์งานประเภทบันเทิงคดีเท่านั้น จากตัวอย่างงานเขียนและประวัติชีวิตที่จะกล่าวถึงต่อไป จะเห็นได้ว่ามาลัย ชูพินิจ เป็นผู้มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานเขียนหลายต่อหลายประเภท ตั้งแต่นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ตลอดจนงานเขียนในฐานะนักหนังสือพิมพ์ด้วย

มาลัย ชูพินิจ เกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร บิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ หลังจากมารดาของเขาเสียชีวิต เมื่อเขาอายุได้ 10 ปีเศษ บิดาก็แต่งงานใหม่ เขามีพี่น้องต่างมารดา 4 คน หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม มาลัย ชูพินิจตั้งใจจะศึกษาต่อด้านการป่าไม้หรือกสิกรรม หากแต่เมื่อตลาดไม้ซบเซาลง ขาดทุนย่อยยับ จึงต้องหันมารับราชการครูเมื่อปี พ.ศ. 2467 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ครูมาลัยต้องประสบกับความผิดหวังในความรัก เมื่อหญิงสาวสูงศักดิ์ที่เขารัก แต่งงานกับคนอื่นไปเสียก่อน  หลังจากรับราชการครูได้เพียง 2 ปี จึงลาออกแล้วหันมาประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์แทน เขาเริ่มต้นอาชีพนักหนังสือพิมพ์ด้วยตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยใต้ที่จังหวัดสงขลา 1 ปีให้หลังก็กลับกรุงเทพมหานคร และเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ การทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ แสดงให้เห็นว่า มาลัย ชูพินิจ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่บุกเบิกอาชีพนักเขียนขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่ยุติการทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษแล้ว เขารวมกลุ่มกับคณะนักประพันธ์ผู้ทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษก่อตั้งหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับหนังสือพิมพ์ที่สำคัญคือ ประชาชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองฉบับแรกของไทย แต่เขาก็ลาออกจากงานหนังสือพิมพ์อีกครั้งในพ.ศ. 2480 แล้วไปทำไร่ถั่วเหลืองที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ แต่ก็ประสบความล้มเหลว จึงกลับมาทำงานหนังสือพิมพ์อีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ทั้งปัญหาสุขภาพและภัยสงคราม ก็ทำให้มาลัยต้องลาออกจากงานหนังสือพิมพ์อีกครั้ง  ในช่วงนี้เองที่มาลัย ชูพินิจได้เริ่มเขียน แผ่นดินของเรา ในขณะเดียวกับที่เขาต้องลงใต้เพื่อทำสวนมะพร้าวที่พนังตัก เพื่อย้ายที่อยู่หนีภัยสงคราม

เรื่องราวในนวนิยาย แผ่นดินของเรา แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้โลกในนวนิยายเรื่องนี้จะเป็นโลกในบันเทิงคดีที่ผู้เขียนสรรค์สร้างขึ้น แต่ก็ซ้อนทับกับโลกแห่งความเป็นจริงของผู้เขียนอยู่หลายส่วน ดังที่ ขนิษฐา ณ บางช้าง ลูกสาวของมาลัย ชูพินิจ เขียนบอกเล่าไว้ในคำนำ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 โดยสำนักพิมพ์กระท่อม ป.ล. ดังนี้  “แผ่นดินของเรา เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่พ่อรักมาก เพราะฉากสำคัญหลายฉากเป็นเรื่องจริงในชีวิตของพ่อ” และแม้ว่าจะอ่านโดยตัดโลกแห่งความจริงของผู้เขียนออกไปจากนวนิยายเรื่องนี้แล้ว แผ่นดินของเรา ก็ยังชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงโลกความจริงและโลกในฝันของผู้คนในสังคม ดังที่จะได้นำเสนอต่อไปด้วย

“ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู แต่มิได้หล่นลงสู่พื้นดินเสียทีเดียว”

นักอ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับวรรคทองที่ยกมาข้างต้น ประโยคนี้คือประโยคเปิดของนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา ผลงานชิ้นเอกจากปลายปากกาของ “แม่อนงค์” หรือ มาลัย ชูพินิจ นักเขียนชั้นครูท่านหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย

แผ่นดินของเรา คือนวนิยายอมตะที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน ตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษนับจากการพิมพ์ครั้งแรก นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวที และบทเพลงลูกกรุง “จันทน์กะพ้อร่วง”  จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แผ่นดินของเรา คือนวนิยายเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในสายธารวรรณกรรมไทย

มาลัย ชูพินิจได้เริ่มเขียน แผ่นดินของเรา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2486 และเขียนเสร็จในวันและเดือนเดียวกันในปี พ.ศ. 2493 รวมระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งผู้เขียนเองยอมรับว่าเป็นเวลาไม่น้อย กว่าที่นวนิยายขนาดประมาณ 400-500 หน้าเล่มนี้จะสำเร็จ โดยผู้เขียนต้องเผชิญกับภัยสงคราม การปฏิรูปภาษาไทย และปัญหาสุขภาพ แต่ครูมาลัยก็เขียนไว้ด้วยว่า ระยะเวลากว่า 8 ปีนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้  แผ่นดินของเรา ดำเนินเรื่องและจบเหมือนกับฉบับที่เราได้อ่านกัน

แผ่นดินของเรา คือนวนิยายที่ว่าด้วยเรื่องของโศกนาฏกรรมอันมีที่มาจากความรักต้องห้ามของภัคคินี บุตรสาวคนเล็กของบ้านจิระเวสน์กับนเรนทร์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้เป็นคู่หมั้นของพี่สาวต่างมารดาของเธอ นวนิยายเรื่องนี้มีฉากหลังเป็นประเทศไทยยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดำเนินไปด้วยตัวละครหลักคือสมาชิก “บ้านจิระเวสน์” อันประกอบไปด้วยพระวรนารถฯ เพทาย อัจฉรา สายสวรรค์ และภัคคินี  ธำรง ผู้ถือศักดิ์เป็นเพื่อนต่างวัยของพระวรนารถฯ และสามีของภัคคินี และอีกตัวละครหนึ่งคือ นเรนทร์ นักเรียนไทยที่เพิ่งกลับจากฝรั่งเศสพ่วงด้วยตำแหน่งคู่หมั้นของอัจฉรา หลักใหญ่ใจความของ แผ่นดินของเรา ตามเนื้อเรื่องก็หนีไม่พ้นเรื่องรักใคร่ของชายหนุ่มหญิงสาวที่เป็นรักต้องห้าม พลิกผัน ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างทาง คนที่ทำผิดต้องประสบเคราะห์กรรมและจบลงด้วยความเศร้าโศกของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามเมื่อลองขยับมาอ่าน แผ่นดินของเรา จากจุดอื่น ก็จะพบว่า แผ่นดินของเรา นั้นนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็น “โลกหลายใบ” ไม่ว่าจะเป็นโลกที่มาลัย ชูพินิจอาศัยอยู่ในขณะที่เขาเขียนนวนิยายเรื่องนี้  โลกความฝันของตัวละคร และโลกความจริงที่ทุกตัวละครต้องเผชิญ

ในอัลบั้มภาพนี้ เราจะพาทุกท่านไปชม “โลกแต่ละใบ” ที่เราได้กล่าวถึง และแสดงให้ท่านเห็นถึงโลกเหล่านั้น รวมถึงการทับซ้อนกันของแต่ละโลกผ่านคำพูดจากตัวละครในเรื่องที่ตราตรึงใจ

เมื่อแยกชื่อของบ้านหลังนี้ออกเป็น 2 คำ เราจะได้คำว่า “จิระ” และคำว่า “เวสน์”  “จิระ” มีความหมายว่ายั่งยืน ส่วน “เวสน์” นั้นมีความหมายว่าที่อยู่อาศัย บ้านหลังนี้เป็นบ้านของตระกูลจีระศักดิ์ ในทำนองเดียวกับชื่อบ้าน “จีระศักดิ์” ก็มีความหมายว่าอำนาจที่ยืนยาว อย่างไรก็ตามในตอนจบของ แผ่นดินของเรา นั้น ทั้งบ้านจิระเวสน์และตระกูลจีระศักดิ์ มีสภาพแตกต่างไปจากตอนต้นเรื่องอย่างสิ้นเชิง ไม่จีรังเลยสักนิด ตัวบ้านผ่านมือเจ้าของหลายต่อหลายมือ จนถูกนำมาเลหลังในที่สุด ส่วนสมาชิกในบ้านแทบทั้งหมดก็ล้มหายตายจากอย่างน่าอนาถใจ เหลือไว้แต่สายสวรรค์ ลูกคนกลางที่ดูจะมีบทบาทน้อยที่สุด แต่เธอก็ไม่ได้อยู่ในบ้านจิระเวสน์อีกต่อไป

ในโลกอุดมคติ บ้านจิระเวสน์ก็เหมือนสถานที่ที่ฟูมฟักสมาชิกครอบครัวจีระศักดิ์ให้เป็นคนจิระเวสน์ เป็นสถานที่พักฟื้นของธำรง และเป็นสถานที่ที่ทำให้ใครหลายคนสบายใจ ทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่สุดสำหรับตระกูลจีระศักดิ์ตั้งแต่ต้นตระกูลลงมาถึงลูกหลานด้วย

แต่ในโลกตามจริงที่ตัวละครอยู่นั้น บ้านจิระเวสน์ ก็เป็นเหมือนความสบายใจที่แต่ละคนไม่กล้าก้าวออกมา จนเมื่อมีใครสักคนที่กล้าก้าวออกมา เมื่อภัคคินีกล้าหนีไปกับนเรนทร์ซึ่งเป็นคู่หมั้นของอัจฉรา ทุกคนที่ยังอยู่ในบ้านก็เสียศูนย์ ยอมรับความจริงไม่ได้ จากบ้านที่ดูดี ก็กลายเป็นเป้าของนินทาสโมสร และสุดท้ายก็จบด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปทีละน้อย

จะเห็นได้ว่าบ้านจิระเวสน์นั้นมีความคล้ายคลึงกับกรอบเกณฑ์ทางสังคม ทั้งด้านการเป็นที่เกิดของพิธีการต่างๆ เช่น พิธีการแต่งงาน ที่กรอบเกณฑ์ทางสังคมกำหนดว่าต้องเป็นไปอย่างไร บ่าวสาวต้องมีลักษณะอย่างไรบ้างจึงจะเหมาะสมกัน บ้านจิระเวสน์เป็นที่ที่สมาชิกครอบครัวจีระศักดิ์ทำทุกสิ่ง ทั้งการปรึกษาหารือเรื่องที่ว่าลูกสาวของบ้านเหมาะสมกับผู้ใด และเป็นสถานที่จัดพิธีแต่งงาน  กล่าวได้ว่า บ้านจิระเวสน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ทั้งสมาชิกในสังคมและสมาชิกในบ้าน และสิ่งที่ทำให้บ้านจิระเวสน์คล้ายกับกรอบเกณฑ์ทางสังคมอย่างที่สุด ก็คือการที่บ้านจิระเวสน์เป็นของตกทอดมาจากบรรพบุรุษ คนในบ้านก็ทำใจอย่างยากลำบากเมื่อจะต้องละทิ้งบ้านไป อย่างไรก็ดี เมื่อมีคนในบ้านทำผิดหรือละเมิดกรอบเกณฑ์บางประการ บ้านและคนในบ้านก็พังทลายลงได้อย่างง่ายดาย จุดนี้เองที่จะพาเราไปยังโลกอีกใบหนึ่งที่เราอาจเห็นเงาสะท้อนของมันจากบ้านจิระเวสน์ได้

โลกใบนั้นก็คือโลกแห่งความเป็นจริง ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ที่มาลัย ชูพินิจ ผู้เขียนได้ประสบมากับตัว เมื่อสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดของชาติตะวันตกแพร่เข้ามาในประเทศไทย ก็เป็นไปได้ว่าคนไทยในตอนนั้น หรือแม้แต่ตัวมาลัย ชูพินิจเอง จะเกิดความรู้สึกสูญเสียบางอย่าง หรืออาจจะตั้งรับการเปลี่ยนแปลงและผลของมันไม่ทัน

ท้ายที่สุดแล้ว หากสมาชิกในบ้านตั้งรับการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว ยึดมั่นอย่างที่ต้นตระกูลทำต่อๆ กันมา “บ้าน” หลังนั้นก็จะค่อยๆ ผุพังไป เหมือนเช่นบ้านจิระเวสน์ในเรื่อง แผ่นดินของเรา

ในขณะที่จิระเวสน์เป็นสถานที่ที่เลี้ยงดูฟูมฟัก พยาบาลรักษา เหล่าตัวละครใน แผ่นดินของเรา “ทุ่งวัวแล่น” อันเป็นที่ตั้งของสวนมะพร้าวของธำรง กลับเป็นที่ตายของ 2 ตัวละครสำคัญอย่างภัคคินีและอัจฉรา ถึงอย่างนั้น ในสวนมะพร้าวอันห่างไกลแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดความรักอันเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดถึง 2 ครั้ง และยังเป็นที่ที่ธำรงเรียกได้ว่าเป็น “แผ่นดินของเขา” ด้วย

ในโลกแห่งความฝันของภัคคินี ทุ่งวัวแล่นคือที่ที่เธอตกหลุมรักผู้ช่วยชีวิตของเธอถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเธอตกหลุมรักธำรงที่ช่วยให้เธอรอดจากหมูป่า และครั้งที่ 2 เธอตกหลุมรักนเรนทร์ผู้ช่วยให้เธอรอดจากพิษงู สำหรับภัคคินีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความฝันของเธอที่ทุ่งวัวแล่นเป็นความรักที่เธอต้องแอบเก็บซ่อนไว้

ในโลกแห่งความฝันของธำรง สวนมะพร้าวที่ทุ่งวัวแล่น พนังตัก คือที่หลบภัย ทั้งจากความผิดหวังจากความรักต่างชนชั้น จากนินทาสโมสรในพระนคร จากภัคคินียามที่เธอหนีไปกับชู้รัก ฝันของธำรงไกลไปถึงการสร้างครอบครัวขึ้นอีกครั้ง สร้างอาณาจักรสวนมะพร้าว ตลอดจนถึงการชิงตำแหน่งเจ้าตลาดมะพร้าว ในท้ายที่สุดเขาขยายอาณาเขตสวนมะพร้าวออกไปกว้างไกล และยังมีความหวังในการชิงตลาดมะพร้าว แม้จะไม่สามารถเป็นอันดับ 1 ในระดับโลกได้

ในโลกแห่งความจริงสำหรับตัวละครในเรื่องนั้น ทุ่งวัวแล่นคือสถานที่ที่ทำให้ภัคคินีตกอยู่ในอันตราย เริ่มต้นความสัมพันธ์ที่จะนำเธอไปสู่ตอนจบแบบโศกนาฏกรรม คือที่ตายของเธอ

สำหรับธำรงแล้ว ทุ่งวัวแล่นเป็นสถานที่ที่เขาสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ทั้งกับการขยายพื้นที่ออกไป การล่าสัตว์ป่า ตลอดจนถึงการปฏิบัติต่อคนที่เขาเรียกว่า “ชนพื้นเมือง”

เมื่อลองมองมาถึงผู้เขียนคือมาลัย ชูพินิจและโลกที่เขาอาศัยอยู่ในขณะและก่อนที่เขาจะมาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าหลายส่วนในชีวิตของเขามีความคล้ายคลึงกับนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา มาลัย ชูพินิจเริ่มต้นอาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่ภาคใต้ และในช่วงที่เขาเริ่มเขียน แผ่นดินของเรา ก็เป็นช่วงเดียวกับที่เขาทำสวนมะพร้าวอยู่ที่พนังตัก อีกทั้งเมื่อดูจากงานเขียนที่มีชื่อเสียงอีกงานหนึ่งของเขาอย่าง ล่องไพร ก็จะเห็นความคล้ายคลึงด้านบุคลิกของเขากับธำรงขึ้นมาอีก 1 อย่าง ในด้านของการเป็นพรานป่าล่าสัตว์

และเมื่อมองไปถึงระดับประเทศแล้ว เราก็อาจจะเห็นได้ว่า โลกความจริงของประเทศไทย ณ ตอนนั้น ไทยต้องการเป็นเจ้าตลาด หวังจะเป็นผู้ควบคุมอย่างที่ธำรงต้องการจะขยายกิจการของเขาออกไป แต่ในอีกทางหนึ่ง คนที่ร่ำรวย หรือมาจากพระนคร เช่นเดียวกับธำรงก็กำลังเข้าไปพื้นที่ต่างๆ และทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็น “แผ่นดินของเขา” และคนที่อยู่มาก่อนก็กลายเป็นชนพื้นเมืองที่เสียพื้นที่ให้แก่ผู้มาใหม่

“ปากน้ำโพ” คืออีกหนึ่งฉากหลังสำคัญใน แผ่นดินของเรา เพราะเป็นที่ที่นเรนทร์และภัคคินี หวังใจว่าจะเป็นโลกใหม่สำหรับพวกเขา โลกที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ โลกที่จะเอื้อให้พวกเขามีความสุข โลกที่เป็นของพวกเขาเท่านั้น แผ่นดินของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง จะเห็นได้ว่าโลกแห่งความเป็นจริง โหดร้ายกับภัคคินีและนเรนทร์มากกว่าที่พวกเขาคิดไว้ ปากน้ำไม่ได้อุดมสมบูรณ์ตลอดปี เหมือนกับความรักของนเรนทร์ที่แปรเปลี่ยน และเมื่อทั้งคู่ประสบกับเหตุร้ายที่ไม่คาดคิดอย่างอัคคีภัยและโรคร้าย ชีวิตของฝั่งหนึ่งก็พลิกจากนักเรียนนอกอนาคตไกล ไปเป็นเสมียนติดเหล้าที่ป่วยหนักปางตาย ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็ชีวิตตกต่ำจนต้องยอมทำทุกอย่างแม้แต่ขายเรือนร่างของตัวเอง

ในประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปากน้ำโพนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของไทย เห็นได้จากทั้งใน แผ่นดินของเรา เอง ที่มีการบรรยายถึงบรรยากาศการค้าอันคึกคัก ยามน้ำหลาก ปากน้ำโพเป็นความหวังใหม่ของประเทศไทย เหมือนกับที่เป็นความหวังของภัคคินีและนเรนทร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปากน้ำโพก็มีช่วงที่น้ำแห้งลง ซึ่งอาจเทียบได้กับความหวังของคนร่วมยุคสมัยที่เหือดแห้งไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

นอกจากนั้น จากประวัติชีวิตมาลัย ชูพินิจ จะเห็นได้ว่าเขาเคยหวังจะประกอบอาชีพค้าไม้ เหมือนกับพ่อค้าที่ล่องเรือมายังปากน้ำโพ แต่ก็ต้องเลิกล้มไป ปากน้ำโพใน แผ่นดินของเรา จึงอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความหวังและความฝันของผู้เขียนด้วย

ในประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปากน้ำโพนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของไทย เห็นได้จากทั้งใน แผ่นดินของเรา เอง ที่มีการบรรยายถึงบรรยากาศการค้าอันคึกคัก ยามน้ำหลาก ปากน้ำโพเป็นความหวังใหม่ของประเทศไทย เหมือนกับที่เป็นความหวังของภัคคินีและนเรนทร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปากน้ำโพก็มีช่วงที่น้ำแห้งลง ซึ่งอาจเทียบได้กับความหวังของคนร่วมยุคสมัยที่เหือดแห้งไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

นอกจากนั้น จากประวัติชีวิตมาลัย ชูพินิจ จะเห็นได้ว่าเขาเคยหวังจะประกอบอาชีพค้าไม้ เหมือนกับพ่อค้าที่ล่องเรือมายังปากน้ำโพ แต่ก็ต้องเลิกล้มไป ปากน้ำโพใน แผ่นดินของเรา จึงอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความหวังและความฝันของผู้เขียนด้วย

“ไม่มีอะไรจะคงที่ ไม่มีอะไรจะจีรัง กาลเวลาเปลี่ยนไป ชีวิตเปลี่ยนไป … แต่ต่อหน้าภาวะที่ผันแปรไปเหล่านั้น ความรักจะยังครองโลก และความปรารถนาจะยังครองใจต่อไป”

ประโยคจากภาคสุดท้ายในนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา นี้ แสดงให้เห็นถึงสภาวะความเปลี่ยนแปลงของตัวละครและสังคมในเรื่องไปตามกาลเวลา ความเปลี่ยนแปลงนี้มีที่มาจากความรัก ความปรารถนาซึ่งนำมาสู่ความวุ่นวายและความเศร้าโศกในที่สุด

ผู้คนและสังคมสยามประเทศในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ประสบความวุ่นวายไม่ต่างไปจากสังคมในนวนิยายเรื่องนี้ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้เอง ทัศนคติแบบจารีตกับมโนทัศน์แบบตะวันตกปะทะต่อรองกัน ดังที่ปรากฏภาพสะท้อนผ่านมุมมองของตัวละครต่างๆ ในเรื่องที่มีต่อความรัก ภัคคินีและนเรนทร์เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในความรักแบบอิสรเสรีถึงขั้นละทิ้งครอบครัวและสังคมรอบข้างได้ แต่ความรักของทั้งคู่ส่งผลให้ทุกฝ่ายเดือดร้อน ไม่เว้นแม้แต่ตัวของภัคคินีและนเรนทร์เอง จนในท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็ต้องกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง และรับผลแห่งการกระทำของตนส่วนธำรงและอัจฉราเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในความรักแบบจารีตไทย กล่าวคือ คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของตนตลอดจนผลกระทบของการกระทำต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อบทบาทหน้าที่ในฐานะคู่ชีวิตของธำรงต่อภัคคินี และในฐานะคู่หมั้นของอัจฉราต่อนเรนทร์สิ้นสุดลง ชีวิตของทั้งคู่ก็เสียศูนย์ไป ไม่อาจคืนสู่สภาพก่อนเกิดเรื่องทั้งหมดได้

สุดท้ายแล้ว ความรักในแบบของตัวละคร สุดา นักเรียนนอกผู้ที่สามารถเลือกรับทัศนะสมัยใหม่มาปรับใช้กับสังคมจารีตได้อย่างพอเหมาะพอดี และความรักต่อครอบครัวอย่างบริสุทธิ์ของตัวละคร สายสวรรค์ ก็อาจเป็นวิถีที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในพื้นที่และห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยมวลอากาศของชุดคุณค่าเก่าและใหม่ที่ปะทะสังสรรค์และต่อรองกันอยู่

การอ่านนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา โดยใช้มุมมองเชิง “พื้นที่” นี้ ไม่เพียงทำให้เราได้เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ในนวนิยายเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้ลองหันกลับมามอง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งเป็นโลกที่เราได้อาศัยและเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งที่เป็นโลกความฝันและโลกความเป็นจริงด้วย


รายการบรรณานุกรม

ณัชรดา  สมสิทธิ์. (2564). ภาวะสมัยใหม่ในวรรณกรรมของมาลัย ชูพินิจ (วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต). สงขลา. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

มาลัย  ชูพินิจ. (2562). แผ่นดินของเรา. นนทบุรี. Meb (mobile e-books).

สุธีรา  สุขนิยม. (2532). มาลัย ชูพินิจ และผลงานประพันธ์เชิงสร้างสรรค์ (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต).
กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อ้างอิงรูปภาพ คลิกที่นี่

**เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น**

เรื่องและภาพ: กรองกาญจน์  ไชยชนะ, ธมนวรรณ  กาลานุสนธิ์ และ เพชรอมร  กันหารินทร์
บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป

ขอขอบคุณ “โครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ” สำนักบริหารวิชาการ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่สนับสนุนการดำเนินงานเผยแพร่คอนเทนต์เรื่องนี้

Facebook
Twitter