ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทยมีองค์ประกอบหลัก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ภาพนามธรรมของศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) อักษรย่อภาษาอังกฤษ LOT และอักษรย่อภาษาไทย ภอท.
ศิลาโรเซตตา จารขึ้นโดยใช้อักขระสามชนิด คือใช้อักขระไฮโรกลิฟิก (Hieroglyphic) และอักขระดิมอติก (Demotic) เพื่อจารภาษาอียิปต์ และใช้อักขระกรีกเพื่อจารภาษากรีก เมื่อมีการค้นพบศิลาโรเซตตานั้น ยังไม่มีผู้ใดอ่านอักขระไฮโรกลิฟิกได้ แต่เพราะการจารเนื้อความเดียวกันในสองภาษาด้วยอักขระสามชนิดจึงทำให้สามารถถอดรหัสอักขระไฮโรกลิฟิกได้
การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกในต่างประเทศมักมีโจทย์ปัญหาประเภทศิลาโรเซตตามาให้ผู้เข้าแข่งขันแก้อยู่เสมอ โจทย์ปัญหาประเภทศิลาโรเซตตาคือโจทย์ปัญหาสองภาษา ภาษาหนึ่งเป็นภาษา (หรือระบบสัญลักษณ์ที่คล้ายภาษา) ที่ผู้แก้โจทย์ไม่ทราบ และอีกภาษาหนึ่งคือภาษาแม่ของผู้แก้โจทย์ (“Solverese”) โจทย์ประเภทนี้อาจให้ผู้แก้โจทย์แปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง หรือแก้โจทย์อื่นๆ เกี่ยวกับภาษาที่ผู้แก้โจทย์ไม่ทราบ
ในส่วนของตัวย่อภาษาอังกฤษของการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย แม้ว่าชื่อการแข่งขันภาษาอังกฤษจะเป็น Thailand Linguistics Olympiad แต่การย่อชื่อการแข่งขันภาษาอังกฤษ ย่อด้วย LOT เพื่อสื่อถึงการลำดับคำตามภาษาไทย สังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ที่วาง L O และ T อยู่ในตำแหน่งเดียวกับ ภ อ และ ท ตามลำดับ
นอกจากนี้ที่ตัวอักษรย่อภาษาไทย ภอท. ยังมีสัญลักษณ์ที่เป็นเส้นโค้งและเส้นตรงกำกับ สัญลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนภาพอวัยวะที่ใช้ในการผลิตเสียงเชิงสัทศาสตร์ของแต่ละอักษร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบสัญลักษณ์แทนเสียงที่เรียกว่า วจนะที่มองเห็น (visible speech) สัญลักษณ์ทั้งสามที่กำกับอักษรย่อภาษาไทย ภอท. แสดงอวัยวะที่ใช้ในการผลิตเสียงที่แตกต่างกันคือ <ภ> /pʰ/ ริมฝีปาก <อ> /ʔ/ เส้นเสียง และ <ท> /tʰ/ ปลายลิ้นที่ไปแตะปุ่มเหงือก ตามลำดับ