ประวัติความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกบัญชาการโรงเรียน ข้าราชการพลเรือนฯ (ปัจจุบันอาคารมหาจุฬาลงกรณ์)
เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘ และทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ อีก ๑ ปีต่อมา คือในเดือนตุลาคม
๒๔๖๐ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร
ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัย ในกระทรวงธรรมการพระองค์แรก
ได้ทรงตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขึ้น
ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น
อีกสามคณะได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์
การสอนในระยะแรกของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มุ่งสอนวิชาเตรียมแพทย์เป็นส่วนใหญ่
วิชาที่จัดสอนมี เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา
ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๑
จึงได้เปิดสอนวิชาอักษรศาสตร์ตามหลักสูตรสามปี
ผู้สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม ในสองปีแรกวิชาที่สอนเป็นวิชาอักษรศาสตร์โดยเฉพาะ
มีวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์
ภูมิศาสตร์ ธรรมวิภาค และคณิตศาสตร์ และในภายหลังได้เพิ่มภาษาเยอรมันขึ้นอีกวิชาหนึ่ง
หลังจากนั้นจึงเรียนวิชาครูอีกหนึ่งปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้เปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรสามปี
โดยจัดสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในสองปีแรก และวิชาครูในปีที่
๓ ทำนองเดียวกันกับอักษรศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยมเช่นกัน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกา แยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะต่างหากจากกัน
คณะอักษรศาสตร์แบ่งออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์ และแผนกฝึกหัดครู
คณะวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็นแผนกวิทยาศาสตร์
และแผนกฝึกหัดครู แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง คณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์
ได้กลับยุบรวมกันเป็นคณะเดียวอีก โดยแบ่งงานออกเป็น ๙ แผนกคือ
แผนกสารบรรณและหอสมุดของคณะ แผนกเคมี แผนกฟิสิกส์
แผนกชีววิทยา แผนกคณิตศาสตร์ แผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกภาษาปัจจุบัน
แผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ แผนกฝึกครู
ในด้านการสอนมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอนถึงขั้นปริญญาบัณฑิตเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๗๗ อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๗๘ มีจำนวน ๓๓ คน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เปิดสอนในขั้นปริญญามหาบัณฑิต มีผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตเป็นรุ่นแรกใน
พ.ศ. ๒๔๘๗ จำนวน ๒ คน
ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้มีการแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง
แต่ยังมีคณบดีคนเดียวร่วมกัน การบริหารงานจึงคงรวมกันอยู่
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คณะอักษรศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์
เพื่อเปิดการสอนในขั้นปริญญาครุศาสตรบัณฑิตขึ้น ในขณะนั้น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์มีแผนกวิชาต่าง
ๆ รวม ๔ แผนกวิชาคือ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก
แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
แผนกวิชาครุศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะอักษรศาสตร์ได้แยกการบริหารงานออกเป็นอิสระจากคณะวิทยาศาสตร์ และมีคณบดีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของแต่ละคณะต่างหากจากกัน ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้จัดตั้งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกแผนกวิชาหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๐๐ แผนกวิชาครุศาสตร์ ได้รับการยกฐานะเป็นคณะครุศาสตร์ แยกตัวออกไปจากคณะอักษรศาสตร์ |
|
พ.ศ. ๒๕๐๔ มีการจัดแบ่งแผนกวิชาในคณะอักษรศาสตร์เสียใหม่ ประกอบด้วย
๖ แผนกวิชา คือ แผนกวิชาภาษาไทย แผนกวิชาภาษาตะวันออก แผนกวิชาภาษาอังกฤษ
แผนกวิชาภาษาตะวันตก แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ และได้มีการจัดตั้งแผนกวิชาปรัชญาขึ้นเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๑๔ รวมทั้งมีการจัดตั้งแผนกวิชาศิลปการละครขึ้นใน พ.ศ.
๒๕๑๕ ในปีเดียวกันนี้เองได้มีการแยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์ออกเป็นอีกแผนกหนึ่งต่างหากด้วย
|
ในปัจจุบันคณะอักษรศาสตร์มี ๑๑ ภาควิชา (ปัจจุบันเรียก "ภาควิชา" แทน "แผนกวิชา") ได้แก่ ภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา ภาควิชาศิลปการละคร ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันตก ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ |
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมการประชุมของชุนนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานของที่ประชุม ทรงร่วมอภิปราย “ปัญหาการใช้คำไทย” และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ เข้าร่วมชี้แจงปัญหาการใช้คำไทยด้วย
พระราชวินิจฉัยที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถ ความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยที่ทรงมีต่อการใช้ภาษาไทย
การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้แก่คณะอักษรศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในเมืองไทย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช) และสมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๙
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อครั้งทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๐๑
ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมกับนิสิตขณะเสวยพระสุธารสชา ณ บริเวณสนามหน้าตึกอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ รอง ศยามานนท์ เฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่ในโต๊ะเสวย
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ตึกอักษรศาสตร์ ๔ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๖
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๗ ทรงปลูกต้นเสลาหน้าอาคารบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงบาตรเนื่องในวันเกิดคณะอักษรศาสตร์ ๓ มกราคม เป็นประจำทุกปี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงรดน้ำพระอาจารย์อาวุโสเนื่องในวันสงกรานต์เป็นประจำทุกปี
|