อักษรศาสตร์เรียนอะไร
ระดับปริญญาตรี

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า อักษรศาสตร์ เรียนภาษา ความจริงแล้ว รายวิชาประมาณ 2 ใน 5 ของรายวิชาที่นิสิตอักษรศาสตร์ต้องเรียนในคณะนั้น เป็นวิชาพื้นฐานอักษรศาสตร์ที่สอนให้บัณฑิตมีความรู้รอบในด้าน มนุษยศาสตร์ เช่น รู้รอบด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา เป็นต้น รายวิชาอักษรศาสตร์ที่เหลือประมาณ 3 ใน 5 ส่วนนั้น นิสิตสามารถเลือกรายวิชาอักษรศาสตร์เป็นวิชาเอกหรือวิชาโทได้ ซึ่งอาจเป็นรายวิชาด้านภาษา หรือรายวิชาเนื้อหาก็ได้
- รายวิชาภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาเลียน ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส ภาษารัสเซีย ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาบาลีสันสกฤต ภาษามาเลย์
- รายวิชาเนื้อหา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สารนิเทศศึกษา ศิลปการละคร วรรณคดีเปรียบเทียบ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา
สำหรับรายวิชาภาษานั้น มีหลายด้านด้วยกัน คือ ด้านทฤษฎี ด้านวรรณคดี และด้านวัฒนธรรม ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อักษรศาสตร์ จึงมิได้เรียนแต่ "ภาษา" เพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความเป็น "มนุษยศาสตร์ " ด้วย
สำหรับรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้น เป็นรายวิชาที่ทำให้บัณฑิตจุฬาไม่ว่าจะสังกัดคณะใด มีความรู้รอบในทุกศาสตร์ คือ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ และ สหศาสตร์
นอกจากนี้ นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาใดๆก็ได้ที่เปิดสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิชาเลือกเสรีได้
ข้อมูลจากประสบการณ์จริงของนิสิตอักษรศาสตร์


ระดับบัณฑิตศึกษา
สำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษา นิสิตสามารถเลือกเรียนสาขาวิชาในด้านมนุษยศาสตร์ในเชิงลึก
ตามความสนใจ ซึ่งมีทั้งสาขาวิชาภาษาและสาขาวิชาเนื้อหาให้เลือกเรียน
ได้แก่
- สาขาวิชาภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส/ภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาบาลีและสันสกฤต ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น การแปลและการล่าม
- สาขาวิชาเนื้อหา ศิลปการละคร ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ปรัชญา ภาษาศาสตร์
วรรณคดีเปรียบเทียบ พุทธศาสน์ศึกษา
|