“Take me out , Thai Lit: บทวิเคราะห์การเลือกคู่ครองของหญิงไทยในอดีตผ่านวรรณคดีศึกษา”


ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และเพจ Vespada Academy ขอนำเสนอผลงานเรื่อง “Take me out , Thai Lit: บทวิเคราะห์การเลือกคู่ครองของหญิงไทยในอดีตผ่านวรรณคดีศึกษา” โดย ปาณิศา จงธรรมวัฒน์ , ณัฐชา เกิดพงษ์ และปลายชล ณ สงขลา นิสิตภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานจากรายวิชา “วรรณคดีนิทาน” ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2563 ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติมาเป็นอาจารย์พิเศษ

ผลงานชิ้นนี้นำเสนอประเด็นเรื่องการเลือกคู่ครองในวรรณคดีนิทานหลายเรื่อง ตั้งแต่พุทธประวัติ สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน มัทนะพาธา ฯลฯ จนถึงเรื่องเล่าในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยร้อยเรียงให้เห็นเส้นทางของพล็อต “การเลือกคู่ครอง” จากที่เป็นอนุภาคหนึ่งของวรรณคดีมาสู่การขยายพื้นที่เป็นปรากฏการณ์ในชีวิตจริง 



ขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ที่กรุณาให้ข้อวิจารณ์ผลงานเรื่อง “Take me out Thai Lit: บทวิเคราะห์การเลือกคู่ครองของหญิงไทยในอดีตผ่านวรรณคดีศึกษา” ไว้ดังนี้



……….ผลงานนี้ให้ความรู้ และความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการหาคู่ ซึ่งสะท้อนผ่านความบันเทิงต่างยุคต่างสมัยได้เป็นอย่างดี ผู้จัดทำค้นคว้าข้อมูลได้อย่างครอบคลุมและกว้างขวาง ทั้งวรรณคดีโบราณ วรรณคดีท้องถิ่นตลอดจนรายการโทรทัศน์ร่วมสมัย โดยพยายามวิเคราะห์เชื่อมโยงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงคตินิยมดังกล่าว ที่สำคัญคือการวิเคราะห์ร่วมไปกับแนวคิดเรื่องสิทธิของเพศหญิงและชาย โดยเฉพาะในวรรณคดีทำให้เห็นได้อย่างน่าสนใจว่า แม้ว่าอนุภาคการเลือกคู่ของตัวละครหญิงจะสะท้อนถึงสิทธิของผู้หญิง แต่สิทธินั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้แต่เพียงลำพัง หากไม่ได้รับการรับรองด้วยอำนาจของความเป็นชายอีกต่อหนึ่ง ตรงนี้จึงทำให้เห็น “ภาพลวง” ของสิทธิสตรีในวรรณคดีไทย ซึ่งเคยมีผู้พยายามยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาชื่นชมได้

……….จุดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ การเปิดพื้นที่ให้กับข้อมูลทางความบันเทิงร่วมสมัย โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงและเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของอนุภาคการเลือกคู่ที่สะท้อนให้เห็นคตินิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป จากผู้หญิงที่มีสิทธิแต่ไม่อิสระ สู่ผู้หญิงที่อิสระเหนือเนื้อตัว ร่างกาย และอารมณ์นึกคิดของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสังคมสมัยใหม่

……….อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์และสังเคราะห์ ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ไม่ได้เชื่อมโยงบริบทโดยการระบุยุคสมัยที่เด่นชัด กล่าวถึงพีเรียดเวลาแค่เพียง “อดีต” กับ “ปัจจุบัน” ซึ่งลดทอนพลวัตของความเปลี่ยนแปลงลงไปเหลือแค่ “มีสิทธิแต่ไม่อิสระ” (โบราณ) กับ “มีสิทธิ์ และอิสระ” (ปัจจุบัน) เท่านั้น หากการสังเคราะห์เชื่อมโยงบริบทสังคมด้วยพีเรียดเวลาที่เด่นชัด แล้วไล่เรียงมาอย่างชัดเจน จะทำให้งานชิ้นนี้ไม่เพียงมีคุณค่าในทางวรรณคดีศึกษาเท่านั้น แต่มีความหมายในทางประวัติศาสตร์ความคิดของสังคมอีกด้วย” 

รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง —



หมายเหตุ: ผลงานนี้มีข้อผิด 3 แห่ง คือ

  1. หน้า 4  “ภายหลังจากที่ทรงมีพระชนมายุ 16 ปี” ที่ถูกต้องคือ “ภายหลังจากที่มีพระชนมายุ 16 ปี” ตามหลักการใช้ราชาศัพท์ คำกริยา “มี”/“เป็น”+นามราชาศัพท์ ไม่ต้องใช้ “ทรง”
  2. ชื่อท้าวสามล ที่ถูกต้องคือ “ท้าวสามนต์”  สามนต์ แปลว่ารอบๆ ใกล้ เคียง ชิด, ท้าวสามนต์มีความหมายว่าพระราชาแห่งแคว้นที่ใกล้เคียง, เจ้าประเทศราช.
  3. คำอธิบาย สฺวยมฺวร  นิสิตอธิบาย ว่า “วร” แปลว่า เจ้าบ่าว ที่ถูกต้องคือ “วร” แปลว่า การเลือก  “สฺยวมฺ” แปลว่า ด้วยตนเอง คำนี้จึงแปลว่า “การเลือกด้วยตนเอง” ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ที่กรุณาแก้ไขให้มา ณ ที่นี้



ภาควิชาภาษาไทยขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา ที่ให้ความกรุณาแก่ภาควิชาภาษาไทยและการเรียนรู้ของนิสิต รวมทั้งขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาอ่านและให้ข้อวิจารณ์อันเป็นประโยชน์สืบไป


Facebook
Twitter