บทวิจารณ์เรื่อง “อนุสาวรีย์แห่งเจตจำนน” โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล

เมื่อเริ่มต้นเขียนงานชิ้นใด ๆ ก็ตาม ข้าพเจ้ามักจะเกิดปรากฏการณ์ข้อมูลพันกันเป็นปมเสมอ ทั้งยังความพยายามที่จะทำให้ถ้อยคำสละสลวย ทำให้การเริ่มต้นยากขึ้นไปอีก งานชิ้นนี้ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่า กุญแจหลักของการเขียน คือ การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจสูงสุด โดยเรียงลำดับหัวข้อเหมือนพาผู้อ่านชมสถานที่ท่องเที่ยว จากผิวไปจนถึงแก่น ความสละสลวยของถ้อยคำมักเกิดขึ้นอย่างพลิ้วไหวในระหว่างทาง ข้าพเจ้าไม่ใช่นักประสบความสำเร็จ การที่งานชิ้นนี้ได้ผ่านเข้ารอบ จึงทำให้ข้าพเจ้าดีใจที่คนจะได้เห็นและอ่านมันมากขึ้นเท่านั้น

กัลยรัตน์ ธันยดุล อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย

ผู้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง  อนุสาวรีย์แห่งเจตจำนน ซึ่งผ่านการคัดเลือกรอบแรกในโครงการ “ดวงใจวิจารณ์” ปี 2564

ขอบคุณที่มารูปภาพ

อนุสาวรีย์ แห่งเจตจำนนเผยแพร่ครั้งแรกที่ ดวงใจวิจารณ์

กัลยรัตน์ ธันยดุล   
อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย 
(วิชาโทภาษาอังกฤษ)

ตลอดช่วงชีวิตของคนเราคงมีหนังสืออย่างน้อยสักเล่มหนึ่งที่เมื่ออ่านจบแล้ว กลับทิ้งคำถามไว้ในหัวของผู้อ่านมากมายไม่รู้จบ และหากว่านั่นจะถือเป็นชนิดของหนังสือได้ อนุสาวรีย์ โดย วิภาส ศรีทอง ก็คงจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะแม้จะเป็นหนังสือที่เมื่ออ่านดูแล้วเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากคำถามว่า “ทำไม”นั่นเองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะเราไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้จากบริบทที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ จึงไม่ผิดและเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งที่ผู้อ่านจะทำการตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถตอบคำถามได้ตามแต่มุมมองของแต่ละคน

            ก่อนที่บทความนี้จะแจกแจงคำถามที่ว่า “ทำไม” ที่ได้เกริ่นไปแล้ว และตอบคำถามเหล่านั้นด้วยการตีความตามอัธยาศัย เป็นการสมควรที่เราจะรู้เรื่องย่อพอสังเขปของหนังสือเล่มนี้เสียก่อน 

อนุสาวรีย์ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวโดยบุคคลที่สามผ่านมุมมองของ “วรพล” เป็นหลัก ผ่าน “กมล” และบุคคลอื่น ๆ บ้างตามแต่สถานการณ์จำเป็น  วรพล เป็นบุคลากรคนหนึ่งที่อาศัยอยู่สถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า “คอมมูน”  คอมมูนแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารนอนสำหรับบุคลากรกว่าหลายร้อยคน บุคลากรเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในคอมมูนตามสัญญาณที่ดังบอก ตื่นนอน ทำภารกิจส่วนตัว รับประทานอาหารเช้า แยกย้ายกันไปทำงานตามแผนก พักรับประทานอาหารเที่ยง และแยกย้ายกันพักผ่อนในห้องอันปราศจากบานประตูของตนเอง บุคลากรทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดเหมือน ๆ กัน รับประทานอาหารที่ตนไม่ได้เลือก และจะกระทำได้เฉพาะสิ่งที่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเท่านั้น โดยปกติพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหนทั้งสิ้น ส่วนกมลเป็นผู้เข้ามาใหม่ในคอมมูนแห่งนี้ และได้อยู่ห้องเดียวกับวรพล ชายผู้นี้ประสบอุปสรรคในการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ในช่วงแรก ๆ และค่อย ๆ กลมกลืนไปกับสภาพความเป็นอยู่อย่างเช่นคนอื่น ๆ 

            เมื่อเวลาผ่านไป ความอัดอั้นตันใจที่มี ทำให้ทุกคนมายืนอยู่รวมกัน ณ ลานอเนกประสงค์ ผู้เขียนบรรยายอยู่หลายหน้าทีเดียว (หน้า 66-74) ว่าการค่อย ๆ รวมตัวกันที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายพิเศษ “คนที่อยู่มานานจนเฒ่าชรากว่าใครจากแต่ละตึกแต่ละบล็อกที่เป็นเสมือนผู้ใหญ่น่านับถือ การที่คนเหล่านี้เดินท่อม ๆ เข้ามาที่ลานใหญ่ ตอกย้ำถึงความหมายพิเศษของบรรยากาศ ต่างเห็นถึงความสำคัญของมันซึ่งทำให้พวกเขาต้องเข้ามาร่วมกันเป็นประจักษ์พยาน” (หน้า 71) ปัญหาก็คือ ดูเหมือนว่าไม่มีผู้ใดรู้ถึงสาเหตุ หรือบางทีพวกเขาอาจไม่กล้าที่จะพูดออกมา จะเห็นได้จากย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกันที่กล่าวว่า “ทว่าสถานการณ์หาได้รุดหน้าไปจากเดิมแต่อย่างไรไม่ ในชั่วโมงอันเสมือนชี้ชะตาพวกเขา หลายคนเริ่มตั้งคำถามขึ้นในใจ ว่าทั้งหมดนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ?” หากในเวลาต่อมา ท่ามกลางความสับสน มึนงง และขลาดกลัวของผู้ชุมนุม เมื่อใครสักคนที่เรียกตัวเองว่า “นายผี” เอ่ยคำว่าอนุสาวรีย์ ที่มีชื่อว่า ‘ดุษณีภาพ’ ขึ้นมา พวกเขาจึงกอดเอาไว้และกระจายความคิดนั้น ราวกับกอดขอนไม้ใหญ่กลางมหาสมุทรเพื่อไม่ให้ตนเองจมลงไปและส่งต่อไปให้ผู้ร่วมชะตากรรมคนอื่น ๆ จากนั้น อนุสาวรีย์ก็ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยจากแรงงานของบุคลากรในคอมมูนเอง ปราศจากซึ่งเหตุผลอื่นใด นอกเสียจากว่ามันเป็นเหมือนความหวังหนึ่งเดียวที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจอันหลงทางของสมาชิกคอมมูนเอาไว้ได้ แม้จะเพียงชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม      

            อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะเห็นคำถามที่ซ่อนอยู่ในเรื่องย่อเหล่านั้นบ้างแล้ว หากยังไม่เห็น ข้าพเจ้าก็จะได้อภิปรายต่อไปดังนี้ คำถามข้อแรก คือ ทำไมบุคลากรเหล่านี้จึงยอมมาอยู่ร่วมกันในสถานที่และสถานการณ์ที่ถูกจำกัดอิสรภาพของตน ทั้ง ๆ ที่สิ่งตอบแทนทั้งหมดที่ได้รับ คือที่ซุกหัวนอนซอมซ่อและข้าวปลาอาหารให้พอดำรงชีวิตไปได้  คำถามข้อที่สอง คือ ขณะที่มารวมตัวกัน เหตุใดพวกเขาจึงปราศจากซึ่งเจตจำนงอันมนุษย์พึงมีในการที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  และข้อที่สาม คือ ทำไมต้องอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์คือสิ่งใดสำหรับพวกเขา ในเมื่อคำถามหลัก ๆ สามข้อนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้จากตัวบทในหนังสือ  บทความนี้จึงทำหน้าที่ในการพยายามตีความสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับบทความอื่น  ต่างก็เพียงแต่มุมมองการตีความเท่านั้น

            หากจะบอกว่านัยยะของหนังสือเล่มนี้สื่อถึงเรื่องการเมืองการปกครองอันประชาชนทั้งหลายถูกกดขี่โดยชนชั้นผู้ปกครองก็คงจะไม่ผิด ข้าพเจ้าเพียงแต่เกรงว่าจะเป็นการซ้ำกับบทความอื่น ๆ ที่จะขยายความในทางนั้น เพราะความชัดเจนที่ปรากฏ และเนื่องจากว่า บุคลากรในคอมมูนทุกคน รวมไปถึงชนชั้นผู้ปกครองล้วนเป็นผู้ชาย ข้าพเจ้าอาจจะเขียนถึงประเด็นปิตาธิปไตยได้ หากคงจะไม่สมบูรณ์ เพราะหนังสือปราศจากผู้ที่ถูกกดขี่โดยตรง อย่างเพศหญิง เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ข้าพเจ้าได้มาถึงข้อสรุปที่จะตอบคำถามที่ข้าพเจ้ามีจากหนังสือเล่มนี้บนประเด็นปัญหาที่กำลังกระทบสังคมไทยและมีแต่ทีท่าที่จะกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ ระบบทุนนิยม 

            ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งที่ทำงานตามกลไกตลาด ซึ่ง คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยาและอื่น ๆ ชาวเยอรมันที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้แบ่งชนชั้นในระบบทุนนิยมออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ นายทุน หรือเจ้าของทุนที่เป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ และผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่เกิดขึ้น กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มลูกจ้างและพนักงาน ได้รับค่าจ้างและเงินสวัสดิการต่าง ๆ เป็นการตอบแทน หากอ้างอิงความหมายของระบบทุนนิยมตามแนวคิดนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงการแบ่งแยกชนชั้นออกเป็นสองชนชั้นที่ปรากฏในตัวบท กล่าวคือ ผู้ปกครอง เป็นชนชั้นแรก คือ ชนชั้นนายทุน หรือเจ้าของทรัพยากรการผลิต ส่วนสมาชิกคอมมูน คือ ชนชั้นถัดมาหรือกลุ่มลูกจ้างหรือแรงงาน นอกจากนี้ คาร์ล มาร์กซ์ ยังได้กล่าวไว้ว่า ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด นายทุนเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องจักร ในขณะที่ลูกจ้างทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและได้ค่าจ้างเป็นการตอบแทนจากนายทุน

            สิ่งที่ยึดโยงคอมมูนนี้ในฐานะสังคมแบบทุนนิยมเอาไว้ด้วยกัน จึงไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกัน (Consensus) มาตั้งแต่ตอน แต่เป็นการบีบบังคับ (Constraint) จากระบบโครงสร้างนี้ เราจึงจะตอบคำถาม “ทำไม” ข้อที่หนึ่งได้ทันทีว่า แรงงานหรือลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรมากมาย ล้วนต้องอยู่ในสภาวะจำยอมต่อสภาพลูกจ้างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดในชีวิต จะเห็นได้ว่าสมาชิกคอมมูนต้องทำงานตามแผนกที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นแผนกพลาสติก แผนกขัดเงาโลหะ แผนกการเกษตร และอื่น ๆ (ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตที่จะเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป) เพื่อแลกกับอาหารและที่อยู่อาศัยซึ่งก็คือค่าจ้างเพื่อที่จะดำรงอยู่ ไม่ต่างกับลูกจ้างแรงงานในชีวิตจริงที่ต้องทำงานหนักแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการเดียวกัน

            ในขณะที่ชนชั้นผู้ปกครองในตัวบทหรือนายทุนมีสิทธิ์ในการออกกฎต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง ชนชั้นผู้ออกกฎจึงถูกมองในแง่ของคนที่เผยแพร่ค่านิยม ความเชื่อ และจัดระเบียบทางสังคมที่จะสนับสนุนความมั่งคั่งของพวกตน เราจะเห็นได้จากในตัวบท ที่ชาวคอมมูนต้องร้องเพลงที่ผู้ปกครองแต่งขึ้น เป็นการปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อผ่านเนื้อเพลงที่จะทำให้ผู้ขับร้องมีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร ในส่วนของระเบียบทางสังคม ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก จากการกำหนดเวลาต่าง ๆ ในชีวิตของสมาชิกตั้งแต่เวลาตื่น เวลาทำงาน ไปจนถึงเวลาเข้านอน

            สภาวะจำยอมที่เกิดขึ้นต่อสมาชิกคอมมูนจึงทำให้เกิดคนอยู่สามประเภทใหญ่ ๆ ดังที่ปรากฏในตัวบท ประเภทแรก คือ คนแบบวรพลที่อยู่ในคอมมูนมานาน ทำให้เกิดความเคยชินและพอใจที่จะอยู่ในสภาวะจำยอมมากกว่าการลุกขึ้นต่อสู้ ประเภทที่สอง คือ คนแบบกมล เนื่องจากเพิ่งเข้ามาใหม่ในคอมมูนแห่งนี้ ความไม่เคยชินทำให้เขารู้สึกต่อต้านและแสดงออกในทิศทางที่สวนทางกับความต้องการของผู้ปกครอง จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นการตะโกนถามเวลาที่ต่อให้ถามไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของเขาได้ ก็ทำให้เขารู้สึกมีพลังมากกว่าการปล่อยเลยตามเลย และประเภทที่สาม คือ คนอย่างนายผี แทนที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เขาเลือกที่จะหาทางออกโดยการต่อสู้กับตนเอง ด้วยหลักคิดต่าง ๆ ที่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาสร้างขึ้นและนำมาแบ่งปันกับวรพลเพื่อให้เขารู้สึกดีกับตัวเองอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หลักคิดที่ว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่จริง และถ้าหากว่านั่นไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักคิด หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในตัวบท คำถามก็จะมีอยู่ว่า หากปราศจากผู้ส่งสาร สารของเขาจะถูกส่งไปถึงตัววรพลได้อย่างไร? ทั้งนี้ สูตรทางคณิตศาสตร์ของเขายังสามารถวิวัฒนาการได้เมื่อเวลาผ่านไป นั่นแปลว่าเขาคือผู้พัฒนาที่ยังอยู่ในโลกใบนี้ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าผู้ซึ่งไม่เข้าใจในสูตรเหล่านั้น จึงเลือกที่จะวิเคราะห์สาเหตุที่เขาต้องสร้างสูตรเหล่านั้นขึ้นมาอย่างที่กำลังทำอยู่นี้เอง

            อย่างไรก็ดี ในการที่จะตอบคำภาม “ทำไม” ข้อที่สองได้นั้น เราจะอาศัยทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ที่กล่าวว่า เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของสังคมได้จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือบุคคลต่าง ๆ ในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด นอกจากนี้ Lewis A. Croser นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน – อเมริกันกล่าวไว้ว่า ความขัดแย้งเป็นกระบวนการหนึ่งทางสังคม ดังนั้นจึงไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสามัคคีกันโดยสมบูรณ์ เพราะความขัดแย้งเป็นสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ที่คิดเห็นตรงกัน และเกิดความสามัคคีกันในกลุ่มเพื่อต่อต้านศัตรูคนเดียวกัน เราจึงจะตอบคำถามข้อที่สองได้ว่า ความอัดอั้นแบบเดียวกันของสมาชิกในคอมมูนต่อกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันนั่นเองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่ม และมารวมตัวกันกลางลานอเนกประสงค์โดยไม่ได้นัดหมาย ด้วยเจตจำนงที่จะเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผู้ปกครอง

            ทั้งนี้ การกระทำดังที่ได้กล่าวไปยังสัมพันธ์กับแนวคิดของมาร์กซ์ว่าด้วย การต่อต้านสภาวะเดิมของสังคม (Antithesis) ซึ่งสามารถนำไปสู่สภาวะใหม่ (Synthesis) ของสังคมได้ หากเมื่อเวลาผ่านไป สภาวะใหม่นั้นก็อาจกลับมาเป็น สภาวะเดิมของสังคม (Thesis) อีกครั้งหนึ่ง นำมาซึ่งการต่อต้านสภาวะเดิมและวนไปเช่นนี้ไม่รู้จบ จากแนวคิดนี้ เราจึงจะตอบคำถามข้อที่สามได้ในทันทีว่า อนุสาวรีย์เปรียบเสมือนสภาวะใหม่ของสังคมที่สมาชิกในคอมมูนรวมกลุ่มกันเรียกร้องได้สำเร็จ ตลอดระยะเวลาที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นการค่อย ๆ หลุดจากสภาวะเดิม แม้จะไม่รู้ว่าสภาวะใหม่นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังที่ปรารถนาหรือไม่ แต่ ณ ขณะนั้นมีความหวังใหม่ดำเนินอยู่ อนุสาวรีย์จึงถือเป็นที่พึ่งชั่วคราวของสมาชิกคอมมูน

            ทางด้านผู้ปกครองที่ถือไพ่เหนือกว่ามาตลอด การประนีประนอมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับความขัดแย้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มแรงงานที่มีมากกว่าลุกฮือและต่อต้านตนไปมากกว่าเดิม การปล่อยให้อนุสาวรีย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วปราศจากการเจรจาอื่นใดจนข้าพเจ้าเรียกได้ว่า‘ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย’นั้น จึงสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที เพราะเราจะเห็นว่าช่วงเวลาที่ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นและจบลงนั้นช่างสั้นเหลือเกิน นั่นเป็นผลมาจากการประนีประนอมแม้เพียงเล็กน้อยอย่างการให้สร้างอนุสาวรีย์ ความขัดแย้งก็เบาลงและกลับไปสู่สภาวะเดิม แม้แต่การก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่พวกเขาต้องลงมือลงแรงเองยังเป็นไปด้วยความเต็มใจและฮึกเหิม เมื่อมาถึงตรงนี้ ความย้อนแย้งจึงเกิดขึ้น เพราะถ้าเปรียบแรงเป็นทุนเดียวที่พวกเขามีอยู่ สมาชิกคอมมูนก็กำลังวนกลับไปสู่สภาวะการถูกกดขี่โดยการใช้แรงงานให้สร้างสัญลักษณ์ที่เอื้อประโยชน์แก่อำนาจของของระบบทุนนิยมให้ฝังลึกอย่างแนบเนียนผ่านรูปแบบของการประนีประนอม

            ท่านอ่านไม่ผิดและข้าพเจ้าไม่ได้พิมพ์ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด ‘อนุสาวรีย์แห่งสังคมทุนนิยม’ คือ สิ่งที่สมาชิกชาวคอมมูนได้ร่วมมือกันสร้างจนเสร็จ คงจะเป็นการไม่ครบสมบูรณ์ หากข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ของ ‘อนุสาวรีย์’ ที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ ฐานห้าเหลี่ยม มีเสาสูงขึ้นไปและมีบางอย่างปรากฏอยู่บนยอดซึ่งถูกปิดบังจากสายตาของสมาชิกคอมมูนโดยผู้ปกครอง ข้าพเจ้าไม่เห็นความจำเป็นประการใดที่ชนชั้นผู้ปกครองจะต้องปิดบัง เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาเกรงว่าชนชั้นแรงงานจะรู้ความจริงว่าสิ่งที่สร้างมาตลอดคือสัญลักษณ์แห่งการยอมจำนนต่ออำนาจเงิน ตามชื่ออนุสาวรีย์ ‘ดุษณีภาพ’ ซึ่งหมายถึง การนิ่งเฉยอย่างยอมรับ ส่วนสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังผ้าใบบนยอดอนุสาวรีย์นั้น คือสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมหรือเงินตรานั่นเอง ซึ่งข้าพเจ้าได้อ้างอิงจากภาพการ์ตูนล้อเลียนที่เผยแพร่ใน Cleveland โดย The International publishing Co. ปี 1911 ภาพนั้นมีชื่อว่า Pyramid of Capitalism System โดย Nadeljkovich Brashick และ Kuharich ที่พวกท่านจะได้เห็นในหน้าสุดท้ายของบทความนี้จากภาพจะเห็นได้ว่า พีรามิดนี้นำเสนอรูปแบบการปกครองภายใต้ระบบทุนนิยม คือมีรูปถุงเงินอยู่เหนือสุด  แต่ละชนชั้นจะถูกปกครองโดยชนชั้นที่อยู่เหนือชนชั้นของตนเองอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับในตัวบท เราจะเห็นว่าสมาชิกคอมมูน ถูกปกครองโดยรองผู้บังคับบัญชา และรองผู้บังคับบัญชาก็ถูกปกครองโดยผู้บริหารอีกทีตามลำดับขั้น ซึ่งผู้บริหารก็อาจถูกประเมินอีกทีจากองค์กรที่ใหญ่กว่าด้วย นี่คือความชัดเจนที่ปรากฏในอนุสาวรีย์ที่อยู่ต่อหน้าสมาชิกคอมมูนทั้งหลาย  

            อนุสาวรีย์โดยทั่วไปมักถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์สำหรับระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งมักจะเป็นบุคคลที่ได้ปฏิบัติคุณประโยชน์แก่สังคมหรือเหตุการณ์ที่ประชาชนหรือประเทศชาติได้รับชัยชนะ แต่อนุสาวรีย์ดุษณีภาพ เป็นสัญลักษณ์แห่งการพ่ายแพ้และยอมจำนนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากย่อหน้าสุดท้ายในหนังสือตอนที่ทุกคนกำลังขับร้องเพลงชื่อเดียวกับอนุสาวรีย์ที่ว่า “วรพลรีรอจะร้องตาม เขามองใบหน้าและรูปร่างของผู้คนและลองส่งเสียงร้องเพี้ยนผิดทำนองนำไปล่วงหน้า แม้จะเห็นความไม่เป็นธรรมชาติในอารมณ์ตน แต่เสียงที่เปล่งก็หลอมรวมไปกับพวกเขา มันเกาะเกี่ยวทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้นขึ้นทุกที เขาสะท้านไปกับความเดียวดายอย่างลึกซึ้งของการยอมจำนน ดื่มด่ำกับข้อเท็จจริงอันแสนธรรมดานี้…” และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคู่ต่อสู้ของพวกเรา คือ ระบบที่ถืออำนาจเงินเป็นสำคัญดำรงอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ทั้งปวง

Pyramid of Capitalism System

ขอบคุณแหล่งที่มา


บรรณานุกรม
วิภาส ศรีทอง. อนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2561.

Facebook
Twitter