“ งานชิ้นนี้เป็นผลผลิตจากการเรียนรายวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ เพราะสนใจประเด็นในหนังสือที่มีความสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน แม้ว่าระหว่างการกลั่นกรองความคิดและถ่ายทอดออกมาจะเผชิญกับความกดดันบ้าง แต่ก็สนุกไปกับการแสดงความคิดและชี้ประเด็นให้ผู้อ่านสามารถถกเถียงกันได้ เมื่อผลงานได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะก็เหมือนทำให้เราได้มีโอกาสชวนคนอื่นๆ มาสนทนาในประเด็นที่เราอยากจะสื่อสารเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ ”
— ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ นิสิตปริญญาตรีภาควิชาภาษาไทย — ผู้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง อนุสาวรีย์ : หลักฐานการระลึกถึงตัวตนที่ไร้ตัวตน และสังคมที่ปราศจากเสรีภาพ ซึ่งผ่านการคัดเลือกรอบแรกในโครงการ “ดวงใจวิจารณ์” ปี 2564
อนุสาวรีย์ : หลักฐานการระลึกถึงตัวตนที่ไร้ตัวตน และสังคมที่ปราศจากเสรีภาพ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ ดวงใจวิจารณ์
ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ
นิสิตปริญญาตรีภาควิชาภาษาไทย
(วิชาโทภาษาเกาหลี)
“เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในอาคารทึมเทาไร้การตกแต่ง” คือนิยามจำกัดความบนปกหนังสือเรื่อง อนุสาวรีย์ วรรณกรรมไทยจากนักเขียนซีไรต์อย่าง วิภาส ศรีทอง แม้เรื่องนี้จะแนะนำตัวด้วยการเป็นเรื่องเล่าในอาคารที่ไร้การตกแต่งแลดูน่าเบื่อ แต่ก็เป็นหนึ่งในรายชื่อ Long List รางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ปี 2561จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหนังสือเล่มนี้ของ วิภาส ศรีทอง ก็น่าสนใจไม่แพ้หนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ และจุดประสงค์แรงกล้าที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่อง
ปกติเราจะเข้าใจคำว่า อนุสาวรีย์ ที่หมายถึงสิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึง แต่ในเรื่องอนุสาวรีย์นี้จะเป็นอนุสาวรีย์ในฐานะที่เป็นหมุดหมายของชาวคอมมูน การก่อสร้างอนุสาวรีย์เกิดขึ้นจริง ๆ ในขณะที่เรื่องกำลังดำเนินอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่คลุมเครือเสียจนไม่กล้ายืนยันว่าอะไรเป็นเหตุให้พวกเขาตัดสินใจสร้างมันขึ้นมา
อนุสาวรีย์ เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคอมมูนในสถาบันแห่งหนึ่ง (ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าคือที่ไหน) โดยมีวรพล หนึ่งในสมาชิกเก่าแก่ของคอมมูนเล่าเรื่อง วรพลเป็นตัวละครที่เรียบเรื่อยไร้สีสันพอๆ กับสถานที่ที่อยู่ สังคมถูกจัดระเบียบไปทุกมิติ ควบคุมดูแลถึงชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัว แต่ละคนมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่มีสิทธิ์เลือก ไม่มีสิทธิ์ในตัวเองไปจนถึงเสื้อผ้าที่ใส่ จนกระทั่งตัวแปรสำคัญอย่างกมล หรือนายโย่งเข้ามาสู่คอมมูนนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญให้เรื่องนี้ดูมีอะไรให้คนอ่านได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของเรื่องที่ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ
จากมุมมองของฉันในฐานะคนอ่านอนุสาวรีย์ จากเรื่องเล่าเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวละครคิด ทำ หรือพูดล้วนประกอบให้เกิดภาพอนุสาวรีย์ที่สร้างมาจากตัวตนและสังคม ทั้งนี้ การก่อสร้างที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปสัมพันธ์กับสิ่งที่ฉันได้จากการอ่าน ดังนั้นบทวิจารณ์ชิ้นนี้จะเป็นอนุสาวรีย์ที่ฉันมองเห็น และจะก่อสร้างไปตามลำดับอย่างที่ชาวคอมมูนสร้างอนุสาวรีย์ของตัวเอง
ฐานของภาพอนุสาวรีย์ที่ได้จากการอ่าน สร้างจากการที่ฉันสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นพอ ๆ กับที่คนในคอมมูนสงสัยในตัวของกมล การเข้ามาของเพื่อนร่วมห้องคนใหม่ก็ทำให้เราได้สังเกตเห็นสิ่งที่ผิดปกติ และตั้งคำถามกับคำพูดของเขาที่โพล่งถามวรพลว่า “มาอยู่ที่แบบนี้ได้อย่างไร ? ใครพามา? เกิดอะไรขึ้นเล่า? เรามาอยู่กับคนที่ตายไปแล้วหรือ?” (หน้า 18) ราวกับกมลกำลังจะบอกคนอ่านว่าการมาอยู่ที่นี่ของเขามีใครเป็นเหตุและมีสาเหตุที่ทำให้ต้องมาอยู่ที่นี่ กมลมองว่า วรพล (และอาจจะรวมถึงคนอื่น ๆ ในคอมมูน) คือคนที่ตายไปแล้ว ทำให้นึกไปถึงคำว่า อาคารทึมเทาไร้การตกแต่ง ซึ่งอาจหมายถึงร่างกายเปลือยเปล่าไร้สีสันและจิตวิญญาณที่จะสามารถบ่งบอกถึงตัวตนอย่างนั้นหรือ? คำอธิบายอาคารอาจหมายถึงคนที่อยู่ในคอมมูนซึ่งสูญสิ้นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ทำให้มีชีวิตชีวาอย่าง ความสงสัย ความต้องการ และความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เองกมลจึงมองว่าคนในคอมมูนนี้ไม่ต่างจากคนตาย
ส่วนกมลผู้เคยเปี่ยมไปด้วยองค์ประกอบที่คนในคอมมูนขาดหายไป เมื่ออยู่ในคอมมูนไปซักพักก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากย่อหน้าหนึ่ง ความว่า “…เขารู้สึกราวกับถูกรีดให้กลวงแห้ง ปวดแปลบในอก ที่น่ากลัวคือทุกอย่างที่เห็นดูเรียบง่ายเป็นธรรมชาติเหลือเกิน ใบหน้าของชายที่อยู่ตรงหน้าเขาก็แสนธรรมดา ดูซื่ออย่างเจืออัธยาศัยด้วยซ้ำ การที่ไม่มีอะไรลี้ลับเหมือนจะยิ่งยืนยันตัวมันเองหนักแน่นขึ้นทุกที กมลสูดลมหายใจลึก ขืนตัวเอง เขารู้ว่า ทางรอดของสภาพสิ้นหวังนี้ต้องค้นหาจากภายในตัวเขาเอง เขาต้องขืนต้าน ต้องไม่คล้อยตามการบงการของมัน” (หน้า 18-19) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่จะกลืนเอาความเป็นตัวตนก็คือสังคมคอมมูนที่จำกัดเสรีภาพของสมาชิก แม้กระทั่งการรับรู้วันเวลา พวกเขารับรู้ได้แค่ว่าถึงเวลากินก็ต้องกิน เวลาทำงานก็ต้องทำ ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ในคอมมูนไม่นึกสงสัย และยอมจำนนต่อสิ่งที่กดทับนี้ แต่กมลพยายามตะโกนถามเวลากับที่นี่ เขาใช้การตะโกนถามเวลาเพื่อย้ำกับตัวเอง เพื่อเตือนสติตัวเองว่าเขายังสามารถต่อต้านการบงการของฝ่ายปกครองได้ กมลคิดว่า “มันช่วยดึงตัวเขาออกจากสภาพปัจจุบัน เป็นการกระทำที่สร้างอารมณ์ชำระล้าง เขาคิดว่าตนลั่นร้องถามเวลาด้วยความสุจริตใจเป็นที่สุดแล้ว เขาเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ และพยายามยึดเหนี่ยวมันไว้เพื่อปกป้องสำนึกดังกล่าวของตน มันยับยั้งไม่ให้จิตใจดิ่งลงสู่ความสิ้นหวัง” (หน้า 39)
ถัดจากฐาน อนุสาวรีย์ก็ประกอบร่างด้วยตัวตนจนสามารถตั้งขึ้นได้แต่ตัวตนเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะกลวงเปล่าสำหรับคนที่อยู่ในคอมมูนมาเป็นเวลาหนึ่ง พวกเขาแทบจะไม่ทราบถึงความต้องการ หรือความรู้สึกของตัวเอง ชีวิตหมุนผ่านไปวันต่อวันเหมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรเด่นออกจากกิจวัตรประจำวัน ไม่คิดหรือสงสัยเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาหรือชีวิตข้างนอก ไม่ร้องขออนาคตที่ตนต้องการ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวตนของทุกคนในคอมมูน องค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้รู้สึกถึงมีชีวิตและตัวตนถูกกลืนหายไปด้วยสภาพสังคมที่อยู่ทุกๆ วัน การมีตัวตนในแง่ของจิตวิญญาณจึงเบาบางเสียจนแทบจะเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งคอมมูน
สิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ภายในสถาบันก็เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อ สภาพความเป็นอยู่ ลักษณะสังคมที่ดูเป็นปกติ ล้วนถูกทำให้เชื่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ผู้คนในคอมมูนอาจลืมไปเสียแล้วว่ามันเริ่มต้นได้อย่างไร อย่างความตอนหนึ่งที่รองหัวหน้าตึกเปรียบเปรยถึงโลกในตู้ปลาขึ้นมาว่า “ปลาพวกนี้มันอยู่มานาน โดยคิดว่ามันมีอิสระเต็มที่และเห็นอะไรทุกอย่าง ทั้งที่ต้นไม้ สาหร่ายในตู้ ทำจากพลาสติก ปะการังก็เทียม ไม่มีอะไรจริงเลยสักกระเบียด มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหล่ะที่เป็นของจริง” (หน้า 45) สมาชิกในคอมมูนเปรียบเสมือนปลาในตู้ที่หลงคิดว่าสิ่งที่ตนได้รับนั้นเป็นของจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ตัวเลือกที่ได้รับก็มาจากการที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เราได้เลือกทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้เพื่อให้พวกเราเชื่อในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการให้เชื่อว่านี่คือชีวิตที่เป็นไปอย่างปกติทั้งที่ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนไหว ไม่มีสิ่งใดมีชีวิตจริง ๆ “ทั้งหมดนี้คือความนิ่งงันที่สร้างภาพลวงตาของการเคลื่อนไหว” (หน้า 32)
นอกจากนี้ การถูกโอบล้อมด้วยสังคมแวดล้อมไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้พวกเขาเชื่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขามองเห็นตัวตนของตัวเองในแบบที่ผู้ปกครองต้องการให้เชื่อแบบนั้น เช่นวรพลเห็นแค่ว่าความสุขสูงสุดในแต่ละวันของตนอยู่ที่การได้กินถั่วแดงต้มเป็นของหวานซึ่งลักษณะพฤติกรรมนี้อาจอธิบายได้ว่าเกิดจากการคล้อยตามกระบวนการในสังคม และความอ่อนแอของตัวตน ทำให้เมื่อมีอุดมการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ก็จะเป็นอุดมการณ์ที่เปราะบางและเลื่อนลอย ถึงแม้จะถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายร่วมกันของคนจำนวนมากก็ตาม เพราะอุดมการณ์ที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น เริ่มจากการฟังต่อ ๆ กันมา แล้วกระจายเป็นวงกว้างโดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับสารที่ได้รับมาเลย เมื่อเป้าหมายสำเร็จก็ว่างเปล่า เตรียมหาที่ยึดเกาะใหม่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะต่างจากอุดมการณ์เดิมหรือไม่ก็ตาม เพียงแค่ให้ได้รับความรู้สึกเป็นอิสระต่อการควบคุมของผู้ปกครอง
สุดท้ายอนุสาวรีย์ก็สร้างมาจนถึงส่วนยอด อนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างด้วยความเชื่อของทุกคนในคอมมูนการตัดสินใจสร้างอนุสาวรีย์นี้อาจเป็นความปราถนาอันมีผลจากเจตจำนงเสรี[1] (Free will) ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของสมาชิก นั่นเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในคอมมูนตัดสินใจร่วมกันเองว่าจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แม้จะเป็นการสร้างอย่างไร้สาเหตุและจุดประสงค์ที่ชัดเจนก็ตามสมาชิกในคอมมูน “ต่างถูกดึงเข้าไปในห้วงภวังค์ที่ไม่มีใครอยากถอนตัวออกมา พวกเขารู้สึกมึนเมาและวิงเวียนในอิสระเสรี ใจเต้นรัวด้วยความปรีดาปราบปลื้ม ต่างถูกปลุกเร้าจนลืมตัวเอง ฉับพลันฝูงชนโถมตัวไปข้างหนแล้วแผดตะโกนอย่างยืนกราน พอพวกเขาส่งเสียงพร้อมเพรียงกึกก้อง มันก็มีชีวิตจิตใจ มีลมหายใจ และทุกคนต้องฟัง” (หน้า 74) นั่นคือความเชื่อต่ออนุสาวรีย์ของพวกเขาแม้จะเริ่มจากการที่แต่ละคนมีความรู้สึกที่แปลกไปจากเดิม เหนือไปจากการควบคุม และยากต่อการหาคำตอบ แต่การตัดสินใจสร้างก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการสะกิดสิ่งที่มีอยู่ในตัวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น
การก่อสร้างอนุสาวรีย์จากความไม่มีอะไรเป็นภาพสะท้อนจากการที่สมาชิกคอมมูนถูกจำกัดการรับรู้ให้ไม่เห็นอะไรไกลเกินกว่ากำแพง หรือนอกเขตสถาบัน พวกเขาขาดจุดเปรียบเทียบ ทำให้มองเห็นว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างจากความไม่มีอะไรนี้ว่าสำคัญที่สุด และเปี่ยมไปด้วยความหมายที่พวกเขาไม่เข้าใจ แต่พวกเขายินดีร่วมลงแรงลงใจไปกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์ จนสามารถละเลยและยอมรับการกระทำที่แปลกไปของผู้ปกครอง ดังความตอนหนึ่งว่า “การอนุมัติโครงการสร้างอนุสาวรีย์ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการประนีประนอมผ่อนปรนของทางสถาบันพิเศษ หากในความเป็นจริง ฝ่ายบริหารกลับถือโอกาสนี้เพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบในจุดอื่น กระชับอำนาจอย่างเงียบเชียบและเด็ดขาด ปรับเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ยกเลิกกิจกรรมที่ช่วยพวกเขาผ่อนคลาย … ขณะที่มีสมาชิกถูกส่งตัวไปยังหอบำบัดมากขึ้นอย่างผิดสังเกต แต่เพราะความสนใจของทุกคนเบี่ยงเบนไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงถูกมองข้ามและแทบไม่มีใครพูดถึง” (หน้า 77) หรือสุดท้ายแล้วการปล่อยให้สมาชิกคอมมูนสร้างอนุสาวรีย์นั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นโครงการพิเศษโครงการใหม่ที่เคยเป็นที่สนใจของคนในคอมมูน เพียงแค่แจกจ่ายงานในวิธีที่แตกต่างออกไป พอให้สมาชิกได้รู้สึกว่าเป็นนี่คือสิ่งที่ตนเองเลือกที่จะทำด้วยตัวเอง ทั้งที่หากผู้ปกครองไม่ยอมให้การก่อสร้างนี้เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถมีอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมาได้เลย
ผู้ปกครองเพียงแค่หยิบยื่นเศษเสี้ยวเสรีภาพอันน้อยนิดให้กับผู้ที่ไม่เคยได้รับมัน สร้างความรู้สึกได้รับการยอมรับ เหลียวแลและเมตตาในใจของผู้รับ ทำให้ชิ้นส่วนเล็กน้อยชิ้นนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมและปกครองได้อย่างสมบูรณ์ โดยอาศัย Soft Power[2] อย่างโอวาท เพลง และสุนทรพจน์เข้ามาชักจูง ให้คนภายใต้ปกครองซึมซับและคล้อยตามในที่สุด และยิ่งให้ความสำคัญว่า ผู้ถูกปกครองเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้ถูกปกครองไม่รู้สึกว่าตนกำลังถูกควบคุม เพียงแต่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายนำเสนอ จึงเต็มใจจำนนต่อความต้องการของผู้ปกครองในที่สุด เหมือนกับที่ยอดของอนุสาวรีย์ที่ชาวคอมมูนไม่มีสิทธิ์ได้เห็น หรือมีส่วนร่วมอีกต่อไป เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้รู้ “ชาวคอมมูนซึ่งถูกกันไม่ให้มีส่วนร่วมถอยกลับสู่ค่ำคืนของการคิดคำนึงมองไปยังทิศที่ตั้งของลานด้านอเนกประสงค์ด้วยความแคลงใจเริ่มตระหนักถึงความว่างเปล่าอันหนักอึ้งของอนาคต” (หน้า 130) อนาคตที่เกิดหลังจากการก่อสร้างสิ้นสุดและ ‘ดุษณีภาพ’ ที่ผู้อำนวยการมอบให้แพร่กระจายไปทั่วบริเวณคอมมูนทำให้พวกเขากลับมายังจุดเดิมที่ใต้การปกครองอย่างไม่ทันตั้งตัว
สุดท้ายสิ่งที่อนุสาวรีย์พยายามบอกกับคนอ่านอาจไม่ใช่จุดประสงค์การสร้าง แต่คือการที่อุดมการณ์อันกลวงเปล่านั้นพร้อมจะพังทลายเสมอ อุดมการณ์ที่ขาดความหนักแน่นและไร้แก่นสารคืออนุสาวรีย์ของชาวคอมมูน อนุสาวรีย์ที่รากฐานเต็มไปด้วยความสงสัยที่ถูกกดทับ แกนกลางสร้างจากตัวตนที่คลุมเครือของสมาชิก ฉาบรอบด้วยสังคมที่เป็นอยู่ สิ่งประกอบสร้างโงนเงนนี้ช่างไม่แข็งแรง แม้ว่าจะเป็นสายลมที่พัดมาก็อาจสามารถเปลี่ยนรูปร่างของยอดอนุสาวรีย์ได้ พวกเขาต่างสร้างอนุสาวรีย์ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ทั้งทางความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง และในทางความเป็นจริงที่ถูกฉกฉวยเอาอนุสาวรีย์ไป ก่อนที่จะได้รู้ว่าสุดท้ายอนุสาวรีย์ของพวกเขามีหน้าตาแบบไหน.
เชิงอรรถ
[1]คือ เจตจำนงที่ไม่ถูกกำหนดด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่เลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
[2]แนวคิดที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์ Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือการใช้จุดเด่นนั้นชักจูงและดึงดูดความสนใจให้ผู้คนคล้อยตาม ปราศจากการบังคับข่มขู่ว่าต้องชอบหรือต้องทำตาม จนสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้คนได้
บรรณานุกรม
วิภาส ศรีทอง. อนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สมมติ, 2561.