บทวิจารณ์เรื่อง “โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : เมื่อการฆาตกรรมถูกทำให้ “ชอบธรรม” เพื่อสร้างอำนาจให้แก่สตรีเพศ” โดย พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์

“ เราเป็นคนที่ชื่นชอบการเขียนแต่ไม่กล้าเผยแพร่งานตัวเองออกไป เพราะคิดว่าเขียนได้ไม่ดีพอ การได้ฝึกเขียนบ่อยๆ ในชั้นเรียนวิชาโทภาษาไทย ช่วยให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นและช่วยให้เรามีพัฒนาการทางการเขียนมากขึ้นด้วย การประกวดในเวทีดวงใจวิจารณ์ถือว่าเป็นก้าวแรกของการเขียน ได้ออกจาก Comfort zone และทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองว่า เราก็สามารถสร้างผลงานที่ดีได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลแต่ก็คุ้มค่าที่ได้ลองทำ และจะพัฒนางานเขียนของตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”  

พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์  อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสเปน (วิชาโทภาษาไทย)
ผู้เขียนบทวิจารณ์เรื่อง  โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : 
เมื่อการฆาตกรรมถูกทำให้ “ชอบธรรม” เพื่อสร้างอำนาจให้แก่สตรีเพศ
ซึ่งผ่านการคัดเลือกรอบแรกในโครงการ “ดวงใจวิจารณ์” ปี 2564 

ขอบคุณรูปภาพ

โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก :
เมื่อการฆาตกรรมถูกทำให้ “ชอบธรรม” เพื่อสร้างอำนาจให้แก่สตรีเพศ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ ดวงใจวิจารณ์

พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์ 
อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสเปน 
(วิชาโทภาษาไทย)

ในโลกปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวงการโดยเฉพาะวงการวรรณกรรม เรื่องราวของผู้หญิงได้รับการนำเสนอหลากหลายรูปแบบในงานวรรณกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมต่างประเทศหรือวรรณกรรมไทย ส่วนมาก เนื้อหาในวรรณกรรมเหล่านี้จะพูดถึงการที่ผู้หญิงถูกกดทับจากอำนาจชายเป็นใหญ่และการทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่าผู้หญิงก็สามารถทำอะไรได้เหมือนผู้ชายและการลบภาพจำเดิม ๆ ที่มีต่อผู้หญิงที่ว่าผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่อ่อนแอ  ดิฉันในฐานะนักอ่านได้อ่านวรรณกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงมามาก และเรื่องล่าสุดที่ได้อ่านก็คือเรื่อง โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก  ( To Love, With Death ) โดย เจน จิ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกผู้ชายที่เธอรักกดขี่ และในท้ายที่สุดพวกเธอก็ลุกขึ้นมาต่อสู้และไม่ยอมจำนนต่ออำนาจผู้ชาย พวกเธอทั้งหมดเลือกที่จะ ‘แก้แค้น’  และวิธีการแก้แค้นของพวกเธอก็คือ “การฆาตกรรม”  ดิฉันมองว่าการแก้แค้นแบบนี้เป็นการแก้แค้นที่ไม่แยบคายนัก นวนิยายเล่มนี้ดูเหมือนจะเป็นเพื่อผู้หญิง แต่เมื่อลองพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า มีประเด็นที่น่าขบคิดต่อหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนผู้หญิง และประเด็นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งจะได้ขยายความต่อไป

ปริศนาข้อที่ 1 “โครงกระดูกและร้านหนังสือ” สื่อถึงอะไร? 

โครงกระดูกที่อยู่ในท่านั่งในร้านหนังสือ สถานที่ที่เป็น “จุดศูนย์รวม” ของเรื่องสั้นแต่ละตอน สื่อถึงอะไร และทำไมจึงต้องเป็นโครงกระดูก? ดิฉันตั้งคำถามนี้ไว้ในใจและยังหาคำตอบไม่ได้ เมื่อได้อ่านบทวิจารณ์เรื่อง โครงกระดูกแม่มด ของ สฤตวงศ์ ฟูใจ  ดิฉันจึงได้ขบคิด และขีดเขียนสิ่งที่คิดจนเกิดเป็น “บทสนทนาสืบเนื่อง” จากการอ่านซึ่งดิฉันพยายามถักทอขึ้นหลังการอ่านบทวิจารณ์เรื่องดังกล่าว

ในบทวิจารณ์ข้างต้น  สฤตวงศ์ได้ให้คำจำกัดความของโครงกระดูกว่าเป็น “โลกแห่งความตาย” เพราะตัวเจ้าของร้านหนังสือบอกลําเภาว่า “ตอนนี้ไม่มีใครอ่านหนังสือแล้วนอกจากโครงกระดูก” ( หน้า 6) สฤตวงศ์อธิบายว่า โครงกระดูกเป็นตัวแทนแห่งความตายและความเสื่อมถอย เพราะในปัจจุบันคนไม่ค่อยอ่านหนังสือกันแล้ว หนังสือจึงเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความตายด้วยกันกับโครงกระดูก 

หากมองในมุมมองนี้ จะเป็นการลดทอนคุณค่าของหนังสือลงไป สําหรับดิฉัน โครงกระดูกไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสื่อมถอยและความตาย ดิฉันมองว่า โครงกระดูกที่ดูไร้ชีวิตจิตใจนี้คือ “คนทั่วไป” คนปกติในสังคมที่เมื่อมีความเจริญและเทคโนโลยีเกิดขึ้นมา โลกก็เริ่มพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ  ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทต่อการดําเนินชีวิตของมนุษย์ คนเริ่มกลายเป็นเหมือนโครงกระดูกที่ไร้จิตวิญญาณมากขึ้น ถ้ามองว่าโครงกระดูกคือคนคนหนึ่งที่คงแก่เรียนมากๆ สนใจแต่การอ่านหนังสือก็ย่อมได้ โครงกระดูกนี้จึงเหมือนเป็นตัวแทนของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งที่ยังรักการอ่านอยู่ การที่นําเอาโครงกระดูกมาเป็นตัวแทนของความตายและความเสื่อมถอยอาจจะฟังดูใจร้ายไปสักหน่อย ส่วนร้านหนังสือก็เป็นสัญลักษณ์ของ “การปลดแอก” จากชีวิตแบบเดิม เพราะเมื่อพวกเธอก้าวขาเข้าไปในร้านหนังสือแห่งนี้…พวกเธอได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง 

ปริศนาข้อที่ 2 วรรณกรรมเชื่อมโยงกับการฆาตกรรมจริงหรือไม่? 

โครงกระดูกแม่มดฯ ประกอบด้วยเรื่องสั้นของผู้หญิงหลายคน ที่สุดท้ายแล้ว พวกเธอก็ได้วิธีการแก้แค้นมากจากร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มด ตัวละครผู้หญิงล้วนเป็นลูกค้าของร้านหนังสือร้านนี้ พวกเธอได้รับหนังสือไปคนละเล่ม สุดท้าย สามีของพวกเธอทุกคนก็ตายไปด้วยสาเหตุบางประการ การตายของสามีเกิดจากการเลียนแบบวิธีการฆ่าจากหนังสือที่พวกเธอได้รับ เช่นกรณีของหญิงสาวที่ชื่อ ฟาง ที่สามีเธอเป็นอัมพาตและเธอตัดสินใจไม่รักษาเขาต่อ  สําเภา ที่ฆ่าสามีของเธอพร้อมกับให้สุนัขรุมกัดกินจนไม่เหลือซาก ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะเมื่อพิจารณาดี จะพบว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุฆาตกรรมไม่ได้มาจากหนังสือแต่เป็นความรุนแรงที่สามีทำต่อลูก อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าแรงจูงใจในการฆาตกรรมไม่ได้มาจากหนังสือก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว ในเมื่อตัวละครหญิงอย่างลำเภาเป็นผู้หญิงที่ต้องทนต่อการทารุณกรรมของสามีเธอมาตลอด เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับผู้ชายอย่างไร จริงอยู่ที่สัญชาตญาณความเป็นแม่ย่อมพร้อมที่จะปกป้องลูกและทําทุกอย่างได้เพื่อลูก แต่ลําพังแล้วถ้าเธอไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ฟังคําแนะนําจากเจ้าของร้านหนังสือ เธอก็คงไม่เลือกวิธีอําพรางการฆาตกรรมเช่นนั้นได้ ดิฉันจึงมองว่า วรรณกรรมที่เธอได้อ่านเป็น “อีกหนึ่งองค์ประกอบ” ที่ทําให้เธอเลือกการกระทําเช่นนั้น 

ปริศนาข้อที่ 3 การฆาตกรรมเป็นการแก้แค้นที่ถูกต้องจริงหรือ? 

ดูเหมือนว่าการฆาตกรรมในเรื่องนี้จะถูกทำให้เป็นความชอบธรรมไปโดยปริยาย ตัวละครหญิงในเรื่องไม่มีใครต้องได้รับโทษตามกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ความชอบธรรมนี้ มันถูกต้องแล้วหรือ? ดิฉันมองว่าไม่ว่าใครกระทําการฆาตกรรมผู้อื่น  คนผู้นั้นก็จะต้องถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะอ้างเหตุผลใดๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมใดให้กับตัวเองก็ตาม แต่มันก็ดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะคนที่ก่อการฆาตกรรมไม่สมควรได้รับการละเว้นโทษ  การแก้ปัญหาของตัวละครผู้หญิงในเรื่องเป็นจุดสิ้นสุดของอํานาจเพศชายที่กดทับเพศหญิงอยู่จริงหรือไม่  การล้างแค้นคนที่กระทําไม่ดีต่อเรา ไม่จําเป็นต้องจบด้วยการฆาตกรรมเสมอไป การทําให้ตัวละครชายตายไปจากเรื่องอาจทําให้คนบางคนรู้สึกสะใจที่พวกเขามีจุดจบเช่นนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ความสะใจนั้นก็อาจเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่วครู่เท่านั้น การตายไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะตัวก่อปัญหาตายไปแล้ว เขาไม่ได้รับรู้ถึงผลที่ตามมาแต่อย่างใด การทําให้อํานาจเพศชายในโลกวรรณกรรมเลือนหายไปมีอีกหลายวิธี เช่น ตัวผู้หญิงทุกคนอาจจะฟ้องหย่ากับสามี หรือเลิกกับผู้ชายที่ทำร้ายเธอโดยใช้กฎหมายเข้าช่วย และหลังจากหย่า พวกเธอก็สามารถทําให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นได้ ให้ผู้ชายเหล่านั้นได้เห็นว่า เธอสามารถไปได้ดี มีอนาคตที่สดใสได้ โดยไม่ต้องง้อผู้ชายพวกนั้นเลย หากเรื่องราวในหนังสือเป็นเช่นนี้ จะเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวละครผู้หญิงเหล่านี้มากกว่าเดิมหรือไม่? 

ปริศนาข้อที่ 4  นวนิยายเรื่องนี้ส่งเสริมคุณค่าของเพศหญิงจริงหรือ? 

อาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้กําลังพยายามทำให้อํานาจของเพศชายเลือนหายไป ในทางกลับกัน เป็นไปได้หรือไม่ ที่กลไกในนวนิยายเรื่องนี้ อาจจะกําลังสร้างความรู้สึกเกลียดชังเพศหญิงให้เพิ่มขึ้น และสถาปนาอำนาจให้เพศชาย เพราะการแก้แค้นโดยการฆ่าของพวกเธอ 

น่าสนใจว่า นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เน้นถ่ายทอดเนื้อหาที่สร้างให้สตรีเพศรักตัวเองมากขึ้น สุดท้าย  หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้ให้พื้นที่เพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้หญิงทุกคนหลังการแก้แค้นสามีของพวกเธอ  ผลที่ตามมาเป็นเช่นไร พวกเธอใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร  เมื่อเรื่องราวจบลงที่การแก้แค้น ก็ส่งผลให้ดูเหมือนว่าคุณค่าของผู้หญิงจะถูกลดทอนลงไปด้วย  

หากมองในมุมบทบาทของนวนิยายที่มีต่อผู้อ่าน น่าสนใจว่า หากผู้หญิงที่มีปมชีวิตใกล้เคียงกับตัวละครหญิงในเรื่องได้อ่านนวนิยายเล่มนี้ พวกเธอจะได้แรงบันดาลใจในการแก้แค้นจากการอ่าน เช่นเดียวกับที่ตัวละครในเนื้อเรื่องได้รับจากหนังสือ และอ้างความถูกต้องชอบธรรมในการฆ่านั้นหรือไม่ จินตนาการในเชิงสมมุตินี้อาจทำให้เรามองเห็นอานุภาพของตัวบทที่กระทำต่อผู้หญิงอย่างโหดร้ายด้วยก็เป็นได้

           น่าสนใจว่า ในเรื่องยังคงเรียกขานผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเธอเอง ด้วยการตีตราจากสังคมว่าเป็น “แม่มด”   หากมองเรื่องพื้นที่สำหรับผู้หญิง ก็น่าคิดว่า ทําไมเรื่องราวในตัวบทไม่มองว่าเธอก็เป็นเหมือนผู้ชายหรือเพศอื่นๆ ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคม เรียกร้องสิทธิ์ให้ตัวเอง และเธอสมควรถูกเรียกด้วยคําที่ดีกว่านี้ 

           โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก ( To Love, With Death )  ถือเป็นนวนิยายที่มีธีมเรื่องน่าสนใจและมีการเรียงร้อยวรรณกรรมเข้ากับเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวได้ดี แต่ดิฉันในฐานะผู้อ่านและผู้วิจารณ์อาจจะมีความคิดและข้อขัดแย้งหลายประการต่อนวนิยายเรื่องนี้ดังได้ชวนท่านผู้อ่านสนทนาร่วมไปข้างต้น  ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงและสิทธิสตรีอย่างถูกต้อง  ดิฉันอาจไม่รู้แน่ชัดว่าวิธีที่ถูกต้องคือวิธีใด และคงต้องหาทางหาคําตอบกันต่อไป แต่สิ่งที่ดิฉันมั่นใจนั่นก็คือ การสร้างพื้นที่ให้กับชีวิตและเสรีภาพในการใช้ชีวิตที่ถูกต้องต้องไม่เริ่มต้นที่การฆ่าหรือทำร้ายใครโดยอ้างความชอบธรรม  เพราะเราทุกคนทุกเพศมีสิทธิ์ เสรีภาพ มีความเท่าเทียมกัน และเราจะสามารถหาวิธีที่ “แยบคาย” ในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม.


บรรณานุกรม
เจน จิ. โครงกระดูกแม่มด : สุขฆาตกรรมแห่งความรัก. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2562. สฤตวงศ์ ฟูใจ. (ม.ป.ป.).  โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : เรื่องเล่าและเรื่องราวของอำนาจแห่งสตรีเพศในโลกชาย (ยังคง) เป็นใหญ่. สืบค้นจาก https://www.ดวงใจวิจารณ์.com.

Facebook
Twitter