รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564 เรื่อง “ภาพตัวแทนผู้สูงอายุไทยที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมสื่อสาธารณะ”

รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564

ผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก สาขามนุษยศาสตร์

ชื่อวิทยานิพนธ์             ภาพตัวแทนผู้สูงอายุไทยที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมสื่อสาธารณะ  
ผู้วิจัย                             อาจารย์ ดร.ธีระ บุษบกแก้ว 
                                       อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย  (สายภาษา)
อาจารย์ที่ปรึกษา          รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร พานโพธิ์ทอง 

แหล่งทุนที่ได้รับ  
1) โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย สำนักบริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) ทุนผู้ช่วยวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ไทยวิทรรศน์” เพื่อการศึกษาภาษา วรรณคดี  และคติชนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม (full text) ที่นี่
อ่านบทความวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์  ที่นี่




ผลงานวิจัยโดยสรุป

ประเด็นเรื่องผู้สูงอายุได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลายสาขาเพราะสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภาพตัวแทนของผู้สูงอายุที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมสื่อสาธารณะในสังคมไทย 2 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์ ข้อมูลที่ใช้ศึกษาคือปี พ.ศ. 2559 โดยใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ของแฟร์คลัฟ (Fairclough, 1995)

ผลการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า วาทกรรมหนังสือพิมพ์ขับเน้นภาพตัวแทนผู้สูงอายุด้านลบ กล่าวคือมองผู้สูงอายุในฐานะผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เป็นผู้พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐและสังคม อีกทั้งยังเป็นปัญหาและภาระที่รัฐต้องแก้ไข การเน้นนำเสนอภาพดังกล่าวมากเป็นพิเศษเป็นการมองภาพแบบเหมารวม ภาพดังกล่าวอาจทำให้เกิดเป็น “วาทกรรมแห่งความกลัว” ในสังคมไทย คือทำให้เกิดความกลัวความชรา หรือปฏิเสธความแก่ความชรา ในขณะที่วาทกรรมรายการโทรทัศน์พยายามนำเสนอภาพด้านบวกของผู้สูงอายุขึ้นมาแข่งขันเพื่อปฏิเสธความคิดด้านลบของคนในสังคม กล่าวคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีพลังร่วมสร้างสังคมไทยได้ ภาพดังกล่าวสอดคล้องไปกับทิศทางของหน่วยงานรัฐ คือเน้นให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองและทำประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งนี้จะได้ไม่เป็นภาระของรัฐ ขณะเดียวกันก็นำเสนอภาพผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มที่มีความสามารถช่วยสังคมได้จึงอาจสร้างภาพเหมารวมผู้สูงอายุในบางแง่มุม ภาพตัวแทนเหล่านี้สื่อผ่านกลวิธีทางภาษา 6 กลวิธี ได้แก่ การเลือกใช้คำอ้างถึง การใช้ชนิดกระบวนการ การนิยาม การให้รายละเอียด การแนะความ การใช้สหบท ทั้งนี้ภาพตัวแทนจากสื่อทั้งสองกลุ่มมิได้นำเสนอภาพผู้สูงอายุในฐานะปู่ย่าตายายที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัว อาทิ บทบาทผู้ดูแลบ้านและเลี้ยงดูลูกหลาน บทบาทผู้ให้การพึ่งพา บทบาทผู้แนะนำสั่งสอน

ด้านการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่าวาทกรรมหนังสือพิมพ์และวาทกรรมรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดออกไปสู่สังคมต่างก็มีรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวาทกรรม ดังนั้นภาพตัวแทนผู้สูงอายุที่ถูกผลิตขึ้นจึงสนองไปกับนโยบายของรัฐ ด้านการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมพบว่า ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ สถานการณ์สังคมสูงอายุ นโยบายรัฐและกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ การแพทย์และสาธารณสุข แนวคิดที่มีอยู่ในสังคมวัฒนธรรมไทย แนวคิดเรื่องความกตัญญู ความอาวุโส คุณค่าของผู้สูงอายุ และอิทธิพลจากสหประชาชาติ มีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบท ขณะเดียวกันภาพตัวแทนผู้สูงอายุที่สื่อผ่านตัวบทก็อาจส่งผลต่อความคิดความเชื่อของคนในสังคมด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่าภาพตัวแทนผู้สูงอายุในวาทกรรมสื่อสาธารณะทั้งสองประเภทถูกเลือกสรรเฉพาะบางด้านมานำเสนอให้โดดเด่นตามอุดมการณ์หรือจุดยืนที่ผู้ผลิตวาทกรรมมีอยู่ การตระหนักรู้ภาพตัวแทนผู้สูงอายุที่ถูกนำเสนอในวาทกรรมสื่อสาธารณะนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจประเด็นผู้สูงอายุมากขึ้น




ความน่าสนใจของงานวิจัย

1) ด้านประเด็นวิจัยและข้อมูล งานวิจัยเรื่องนี้เลือกศึกษาประเด็นเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” ซึ่งเรื่องที่สังคมไทยในฐานะสังคมผู้สูงอายุให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมา มีงานวิจัยจากหลายสาขาทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ แต่ยังไม่มีงานที่วิเคราะห์ภาษาไทยเพื่อสะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุในสื่อสาธารณะ การวิเคราะห์ข้อมูลภาษาเป็นหลักฐานรูปธรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าความคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ไหลเวียนอยู่ในวาทกรรมสื่อและมีผลต่อความเข้าใจของคนในสังคมเป็นเช่นไร ข้อมูลที่ศึกษามาจากสื่อหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุซึ่งเป็นวาทกรรมสาธารณะที่แพร่ไปสู่สังคมในวงกว้าง

2) ด้านแนวคิดและการวิเคราะห์ แนวคิดที่นำมาใช้คือ วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ซึ่งมีลักษณะเป็น “สหวิทยาการ” (interdisciplinary) กล่าวคือได้บูรณาการแนวคิดทั้งภาษาศาสตร์และแนวคิดทางสังคมเข้าด้วยกันเพื่อมุ่งหาคำตอบในงานวิจัยนี้ ทั้งนี้ได้ประมวลหลายแนวคิดมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ อาทิ แนวคิดชนิดกระบวนการ แนวคิดผู้แสดงทางสังคม ฯลฯ อีกทั้งยังได้วิเคราะห์ปริบทสังคมวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับตัวบทที่ศึกษา 

3) ด้านประโยชน์ของงานวิจัย ในฐานะงานวิจัยด้านภาษาไทย งานวิจัยเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ภาษาไทยสามารถเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนให้เห็นความคิดของคนในสังคม ในฐานะงานเชิงวิพากษ์ ผลการวิจัยเรื่องนี้แสดงให้เห็นมุมมองของสังคมปัจจุบันที่มีต่อผู้สูงอายุ วยาคติประการที่ควรแก้ไข ผลการศึกษาอาจจะนำไปเป็นแนวทางในการสร้างความเข้าใจ ลด “ความกลัว” การเข้าสู่ภาวะความชราของบุคคลและการเข้าสู่สังคมสูงวัยของสังคมไทยซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

Facebook
Twitter