รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564 เรื่อง “สำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สัมพันธ์กับสำนวนภาษาในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต”

รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564

ผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก สาขามนุษยศาสตร์

ชื่อวิทยานิพนธ์                       สำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สัมพันธ์กับสำนวนภาษาในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต
ผู้วิจัย                                       อาจารย์ ดร.อัสนี พูลรักษ์  
                                                อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย  (สายวรรณคดี)
อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก            อาจารย์ ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ 
อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม             รองศาสตราจารย์ ดร. มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

แหล่งทุนที่ได้รับ  
1) โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย สำนักบริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) The Khyentse Foundation

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม (full text) ที่นี่ 
อ่านบทความวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ที่นี่




ผลงานวิจัยโดยสรุป

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาวิเคราะห์สำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สันนิษฐานว่ามีที่มาจากสำนวนภาษาในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต โดยใช้ข้อมูลวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ 4 ประเด็น ดังนี้

1. ในวรรณคดีไทยมีสำนวนภาษาที่มาจากวรรณคดีบาลีเป็นจำนวนมาก และมีสำนวนที่มาจากวรรณคดีสันสกฤตอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งที่เป็นสำนวนไวยากรณ์ เช่น “เป็นต้น” “จำเดิมแต่” “กับด้วย” และสำนวนเนื้อหา เช่น สำนวนชมความงามของตัวละคร สำนวนยอพระเกียรติ อันแสดงให้เห็นว่า วรรณคดีบาลีและสันสกฤตมิได้มีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยในระดับเค้าโครงเรื่องหรือแนวคิดเท่านั้น หากแต่ยังส่งอิทธิพลลึกไปถึงระดับของการใช้คำที่ทำหน้าที่ทางไวยากรณ์ และส่งอิทธิพลมาเป็นเวลาช้านาน

2.สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทยอาจจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ 
(1) สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นสำนวนแปล 
(2) สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นสำนวนดัดแปลง

3.สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทยคลี่คลายไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ  ได้แก่  
(1) ขนบวรรณคดีและความคิดสร้างสรรค์ของกวีไทย 
(2) ปริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย 
(3) สากลลักษณ์ของการรับอิทธิพลภาษาต่างประเทศและการแปล

4.สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตมีความสำคัญทั้งต่อขนบการแต่งวรรณคดีไทยและวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทย กล่าวคือ วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยในแง่หนึ่งเป็นวัฒนธรรมของการแปล ดัดแปลง สืบทอด และสร้างสรรค์ภาษาและวรรณคดีไทยจากแหล่งสำคัญ คือวรรณคดีบาลีและสันสกฤต ด้วยเหตุดังกล่าว จึงอาจเรียกกระบวนการนี้ว่า “ภารตานุวาท” ซึ่งมีความหมายตามรูปศัพท์คือ ‘การกล่าวซ้ำ’ หรือ ‘กล่าวตาม’ สำนวนภาษาในวรรณคดีอินเดียโบราณ คือ บาลีและสันสกฤต




ความน่าสนใจของงานวิจัย

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ตั้งประเด็นการวิจัยที่ “แปลกใหม่” และ “ท้าทาย” กล่าวคือ ในอดีต งานวิจัยด้านอิทธิพลภาษาบาลีและสันสกฤตในภาษาไทยมักเป็นการศึกษาอิทธิพลในด้านคำยืมเป็นหลัก ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาอิทธิพลด้านสำนวนภาษาหรือคำและสำนวนยืมแปลจากภาษาบาลีและสันสกฤตอย่างเป็นระบบมาก่อน ส่วนงานวิจัยวรรณคดีไทยในมิติที่สัมพันธ์กับวรรณคดีบาลีและสันสกฤตนั้นก็มักเป็นการวิเคราะห์อิทธิพลที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด เช่น เนื้อเรื่อง ตัวละคร ฉันทลักษณ์ แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่วิเคราะห์อิทธิพลของวรรณคดีบาลีและสันสกฤตในเชิงสำนวนภาษาซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบสำคัญของขนบการประพันธ์วรรณคดีไทย ผลการศึกษาในวิทยานิพนธ์นี้จึงนับว่ามีคุณูปการทั้งต่อการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย

ในด้านการศึกษาภาษาไทย วิทยานิพนธ์นี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศที่สัมผัสกับภาษาไทยมาเป็นเวลาช้านาน ได้ส่งอิทธิพลต่อภาษาไทยไม่เฉพาะแต่ในด้านคำยืมที่เป็นคำเนื้อหาเท่านั้น หากแต่ยังส่งอิทธิพลในระดับลึกถึงขั้นคำและกลุ่มคำไวยากรณ์ที่มิได้มีองค์ประกอบเป็นคำยืมภาษาบาลีหรือสันสกฤต และคำเหล่านี้บางคำได้กลายมาใช้ในภาษาในชีวิตประจำวันจนดูประหนึ่งว่าเป็นคำไทยแท้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า วิทยานิพนธ์เล่มนี้ช่วยขยายมุมมองและความเข้าใจเรื่องการสัมผัสภาษาบาลีและสันสกฤตในภาษาไทยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นส่วนในด้านการศึกษาวรรณคดีไทย วิทยานิพนธ์นี้ช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานของนักวิชาการวรรณคดีไทยที่ว่า กวีไทยได้เรียนรู้หลักอลังการผ่านวรรณคดีบาลี วรรณคดีบาลีจึงมีฐานะเป็นตำราประพันธศาสตร์ของกวีไทย ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีไทยกับวรรณคดีบาลีและสันสกฤต กล่าวคือ วิทยานิพนธ์นี้ทำให้เห็นว่า สำนวนภาษาหลายสำนวนในวรรณคดีไทยเกิดจากอัจฉริยภาพของกวีไทยที่เลือกสรร ดัดแปลง และสร้างสรรค์สำนวนภาษาเหล่านั้นจากวรรณคดีบาลีและสันสกฤต วรรณคดีไทยจึงเป็นศิลปะทางภาษาอันซับซ้อนที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน

Facebook
Twitter