รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564 เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ “

รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ. 2564

ผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาโท สาขามนุษยศาสตร์

ชื่อวิทยานิพนธ์                       ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ
ผู้วิจัย                                       นายนครินทร์ สำเภาพล
                                                อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย  (สายภาษา)
อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก            รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ภักดีผาสุข

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม (full text) ที่นี่
อ่านบทความวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ที่นี่




ผลงานวิจัยโดยสรุป

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับภาพตัวแทนของบุคคลพ้นโทษ ด้วยแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตามแนวภาษาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลวาทกรรมที่มีเนื้อหาสนับสนุนบุคคลพ้นโทษจากสื่อที่เผยแพร่สู่สาธารณชน ทั้งสื่อมวลชนและสื่อของภาครัฐ  ผลการวิเคราะห์พบว่าวาทกรรมชุดดังกล่าวใช้กลวิธีทางภาษาต่าง ๆ ที่สื่อให้เห็นภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษ 2 ด้านหลัก 

ด้านแรกคือภาพตัวแทนด้านบวกซึ่งเป็นเสมือนเครื่องสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้กลายเป็น “คนดี” ที่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ ได้แก่ การเป็นคนดีและไม่ได้กระทำผิดโดยสันดาน เป็นผู้ผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างดี เป็นผู้ที่กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแล้ว และบางส่วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ด้านต่อมาคือภาพตัวแทนด้านลบที่สื่อให้เห็นความเป็น “คนเดิม” ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง จนเป็นตัวขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มนี้คืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น ได้แก่ การเป็นผู้มีประวัติการกระทำความผิดติดตัว เป็นคนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ และเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวและมักสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม  นอกจากนี้ยังพบภาพตัวแทนที่มีหลายแง่มุมรวมอยู่ด้วย คือ บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สังคมไม่ยอมรับและประสบปัญหาการดำเนินชีวิต ในกระบวนการผลิตวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ อาจมีปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างภาพตัวแทนต่าง ๆ ทั้งงานราชทัณฑ์ไทย นโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” ปัญหาในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังและวาทกรรมข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการเรือนจำ ข้อจำกัดในด้านการประกอบอาชีพ อคติเดิมในสังคม วาทกรรมอื่นที่แข่งขันกับวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรม และแนวคิดเรื่องความเมตตากรุณา 

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารกับคนในสังคมเพื่อมุ่ง “คืนคนดีสู่สังคม” ไม่ได้ปรากฏเพียงภาพตัวแทนที่สนับสนุนบุคคลพ้นโทษเท่านั้น แต่ยังพบรูปภาษาหลายลักษณะที่แฝงภาพ “คนเดิม” ไปพร้อมกันด้วย โดยที่ผู้ผลิตวาทกรรมอาจจะไม่รู้เท่าทัน ทำให้สังคมเกิดความหวาดหวั่น วิตกกังวล ตอกย้ำอคติเดิม ท้ายที่สุดคือไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และทำให้บุคคลพ้นโทษไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้เฉกเช่นคนทั่วไป




ความน่าสนใจของงานวิจัย

บุคคลพ้นโทษเป็นกลุ่มคนที่มีไม่น้อยในสังคม หากพวกเขาได้รับโอกาส ก็อาจกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ แต่ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้กลับถูก “ตีตรา” ถูกปิดกั้นโอกาสและไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร จนส่งผลให้พวกเขาถูกผลักเข้าสู่วังวนของการทำผิดซ้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในสังคมยังมีข้อกังวลและอคติ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะไม่มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลพ้นโทษโดยตรง หากแต่น่าจะมีความรับรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ผ่านการนำเสนอภาพตัวแทนที่ปรากฏในวาทกรรมต่าง ๆ เช่น ข่าวหรือบทความเกี่ยวกับบุคคลพ้นโทษ ภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษที่นำเสนอในวาทกรรมจึงมีบทบาทสำคัญต่อความรับรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่คนในสังคมส่วนใหญ่จะมีต่อบุคคลพ้นโทษ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เล็งเห็นประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดอคติต่อบุคคลพ้นโทษ กล่าวคือแม้ในการนำเสนอข่าวเชิงสนับสนุนบุคคลพ้นโทษไม่ว่าจะเป็นโดยสื่อมวลชนหรือสื่อภาครัฐก็ยังปรากฏการนำเสนอภาพตัวแทนที่แฝงความหวาดกลัว ความน่าวิตกกังวล อันนำไปสู่การสร้างความรู้สึกเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลพ้นโทษโดยที่ผู้นำเสนอข่าวอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ไม่ทันสังเกตเห็น และไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษจึงช่วยสร้าง
องค์ความรู้สำคัญที่ทำให้ผู้รับสารได้ “รู้เท่าทัน” การแฝงอคติบางประการเกี่ยวกับบุคคลพ้นโทษในข่าวและบทความเหล่านั้น และน่าจะช่วยทำให้ผู้ผลิตวาทกรรมหลักในสังคมเกิดความตระหนักรู้และเพิ่มความรอบคอบระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเพื่อลดทอนการเกิดอคติดังกล่าว

วิทยานิพนธ์นี้เลือกใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ซึ่งเหมาะสมกับประเด็นการวิจัย มีการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในตัวบทวาทกรรมอย่างละเอียด ผลการศึกษาช่วยแสดงให้เห็นการประกอบสร้างภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษผ่านกลวิธีทางภาษาในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถส่งผลต่อความรับรู้และทัศนคติของผู้รับสารที่มีต่อบุคคลพ้นโทษ  นอกจากนี้ ผลการวิจัยที่ได้น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความระมัดระวังในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในวาทกรรมสาธารณะ อีกทั้งช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของการรับสารอย่างมีวิจารณญาณ

Facebook
Twitter