ความเป็นมา : Background  
     
            คณะอักษรศาสตร์ได้มีการสอนแปลในระดับปริญญาบัณฑิตมาโดยตลอด ต่อมาก็ได้ เริ่มมีการสอนแปลไทยและอังกฤษในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง และเพื่อให้คณาจารย์และนิสิตได้มีสนามในการฝึกฝนสร้างทักษะและประสบการณ์การแปล คณะอักษรศาสตร์จึงได้จัดตั้งศูนย์การแปลคณะอักษรศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เพื่อให้บริการวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

          ต่อมาได้เริ่มมีความต้องการผู้ทำหน้าที่ล่ามในการเจรจาและการประชุมระหว่างชาติ จึงได้มีการร้องขอมายังคณะอักษรศาสตร์ให้จัดหาผู้ทำหน้าที่ล่ามให้แก่หน่วยงานต่างๆของ รัฐและเอกชน มีคณาจารย์และนิสิตของคณะอักษรศาสตร์ได้ไปทำหน้าที่ล่ามตามที่ได้รับคำขอมาตามโอกาสในปี พ.ศ. 2536 ได้มีคำขอจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มายังคณะอักษรศาสตร์ ขอให้ฝึกล่ามสำหรับผู้บริหารประเทศในการเจรจา ระหว่างประเทศและการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ก็ได้ให้ความร่วมมือจัดการอบรมล่ามให้ตามคำขอเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ ยังได้รับคำขอให้ฝึกล่ามในการประชุมระหว่างประเทศ สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2538

         ในปี พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อศูนย์ว่า “ ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ ” เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จัดเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ในคณะอักษรศาสตร์และมีการเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล อังกฤษ-ไทย และภาษาฝรั่งเศส-ไทย เป็นครั้งแรกในภาคปลาย ปีการศึกษา 2542

หน่วยงานหลักของศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติแบ่งได้เป็น 2 หน่วยงานคือ
        1. หน่วยบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล และสาขาวิชาการล่าม
        2. หน่วยบริการงานแปลและงานล่าม

1. หน่วยบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล และสาขาวิชาการล่าม
        คณะอักษรศาสตร์เป็นศูนย์รวมของการสอนภาษาต่างประเทศต่างๆมาเป็นระยะเวลานาน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะเปิดหลักสูตรการแปลและการล่ามในระดับปริญญามหาบัณฑิต เพื่อผลิตนักวิชาการ นักวิจัยด้านการแปลและการล่าม ตลอดจนนักแปลและล่ามที่มีจรรยาบรรณและเชี่ยวชาญทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหา ต่างๆที่เกิดขึ้นในการทำงานแปลและล่ามทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

        เปิดสอน หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล ( Master of Arts Program in Translation) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 จนถึงปัจจุบัน และจะเปิดสอน หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการล่าม ( Master of Arts Program in Interpretation) เป็นครั้งแรกและเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปีการศึกษา 2550

2. หน่วยบริการงานแปลและงานล่าม
        หน่วยบริการงานแปลและงานล่ามได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ให้บริการแก่สังคมที่มีความต้องการด้านงานแปลเอกสารและงานล่าม โดยแปลเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศรวม 13 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาโปรตุเกส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเขมร ภาษามาเลย์ ภาษาพม่า และภาษาเวียดนาม


 
 
 
 
 
 
 
 
     
 
ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน่วยบริการหลักสูตร โทรและแฟกซ์ 0-2218-4634  หน่วยบริการงานแปลและงานล่าม โทร 0-2218-4635  แฟกซ์ 0-2218-4868

Chalermprakiat Center of Translation and Interpretation Tel & Fax : (66-2)218-4634
 Translation & Interpretation Service Unit Tel : (66-2)218-4635 Fax : (66-2)218-4868
 Faculty of Arts , Chulalongkorn University