Center of Excellence in Southeast Asian Linguistics
News

การบรรยายและเสวนาวิชาการหัวข้อ “ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์กับการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย”

โครงการ “สร้างทรัพยากรดิจิทัลในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยก่อนปัจจุบัน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” หน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดบรรยายและเสวนาวิชาการหัวข้อ “ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์กับการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย” เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างเวลา 9.00 – 12.00 น. ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยพระสังฆราชปาเลอกัวในช่วงรัชกาลที่ 3 และตีพิมพ์ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 และเพื่อแนะนำให้ผู้สนใจได้รู้จักฐานข้อมูล สัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้นักวิชาการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลในพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท ได้ง่ายขึ้น

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายในหัวข้อ “ภาษาไทยในหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส” โดยอาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้จัดการหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งแนะนำให้ผู้ฟังได้รู้จักเอกสารชั้นต้นตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีการจดบันทึกภาษาไทย และยังได้บอกเล่าเรื่องราวการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยของคณะมิชชันนารีที่เข้ามาในอดีตอีกด้วย

ต่อมารองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บรรยายวิชาการในหัวข้อ “ทำความเข้าใจภาษาไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์” โดยได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาและเนื้อหาของพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท จากนั้นจึงสาธิตว่าฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ช่วยให้เห็นความแตกต่างของภาษาไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์กับสมัยปัจจุบันในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเสียงสระสั้นยาว การแปรของรูปเขียน เป็นต้น ได้อย่างไร

ช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการใช้ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย” โดยมี ดร.จิณวัฒน์ แก่นเมือง ผู้ประสานงานโครงการฯ อภิปรายถึงแนวทางในการใช้ฐานข้อมูลเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำ อาจารย์โปรดปราณ อรัญญิก จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนของคำแปลภาษาละตินเมื่อเทียบกับภาษาอื่น ๆ ในพจนานุกรม และ ดร.พีระ พนารัตน์ จาก Centre for the Study of Manuscript Cultures แห่ง University of Hamburg อภิปรายประเด็นการศึกษาต้นฉบับตัวเขียนและการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาวรรณคดีไทย

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/D8gBZGbzBVQ

ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์จะเปิดให้ใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ที่ https://www.arts.chula.ac.th/chulaseal/resources/

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างทรัพยากรดิจิทัลในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยก่อนปัจจุบัน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครืออมรินทร์


Related posts

Arunodaya Quadrilingual Dictionary of Khasi, Hindi, English, and Thai Officially Launched

Atit Woo

Official launch of the Chulalongkorn Linguistics Fieldwork Archive

Atit Woo

Upcoming Talk: Endangered Tibeto-Burman languages of Thailand

Atit Woo

Upcoming Talk: Crosslinguistic Comparatives and Serial Verb Constructions

Atit Woo