Skip to content

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในการประชุม TISE 2021 ได้จัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครอบคลุม 14 หัวข้อ โดยจัดในรูปแบบ unconference ซึ่งเป็นการอภิปรายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ โดยวิทยากรในที่นี้จะเป็นผู้จุดประเด็นและเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมการประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น

มนุษยศาสตร์ดิจิทัล: มุมมองด้านการจัดการเรียนการสอน

11 มกราคม 2564 เวลา 11.00 – 12.00 น.

มนุษยศาสตร์ดิจิทัล นับเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านสารสนเทศศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ การเสวนาในหัวข้อนี้จะอภิปรายแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้ ครอบคลุมทั้งในด้านเนื้อหา แนวทางการจัดการเรียนการสอน ผู้สอน รวมไปถึงการจัดการหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของโรงเรียนทางด้านสารสนเทศศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอนทางด้านนี้

วิทยากร:
  • รศ. ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • ผศ. ดร. วิระพงศ์ จันทร์สนาม (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
  • ผศ. เมธาวี โหละสุต (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ.อรรถพล ปะมะโข (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ความท้าทายของการผลิตบรรณารักษ์และครูบรรณารักษ์ในยุค 5G

11 มกราคม 2564 เวลา 11.00 – 12.00 น.

บรรณารักษ์และครูบรรณารักษ์นับเป็นวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมและเป็นวิชาชีพที่เป็นฐานรากของสารสนเทศศาสตร์ อย่างไรก็ตามมีการการตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มของนักศึกษาที่สนใจจะประกอบอาชีพนี้รวมไปถึงความต้องการของตลาดนี้กำลังลดลง ในขณะเดียวกันความต้องการของตลาดงานที่มีพลวัตสูงและเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่เข้มงวด นับเป็นความท้าทายของการผลิตทรัพยากรบุคคลในวิชาชีพนี้ที่โรงเรียนทางด้านสารสนเทศศาสตร์กำลังเผชิญอยู่

วิทยากร:
  • อ. ดร. ศิริกาญจน์ โพธิ์เขียว (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ)
  • ผศ. ดร. บรรพต พิจิตรกำเนิด (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต)
  • ผศ. ดร. เยาวลักษณ์ สุวรรณแข (มหาวิทยาลัยทักษิณ)
  • ผศ. ดร. สุทธินันท์ ชื่นชม (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)
  • คุณสมปอง มิสสิดะ (มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. ดร. โชคธำรงค์ จงจอหอ (มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร)

ตามทันเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนสารสนเทศศาสตร์

11 มกราคม 2564 เวลา 13.00 – 14.00 น.

สารสนเทศศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมาก กอปรกับเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ การเสวนาในหัวข้อนี้จะครอบคลุมประเด็นทางเทคโนโลยีที่จำเป็นหรือสำคัญที่ควรบรรจุในหลักสูตรทางด้านสารสนเทศศาสตร์ เทคนิคการจัดการเรียนการสอนเทคโนโลยีในหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ ความท้าทายของการเรียนการสอนเทคโนโลยีในกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ตลอดจนความท้าทายและกลยุทธ์ของผู้สอนในการตามทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. ชัยวัฒน์ นันทศรี (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
  • ผศ. ดร. รุ่งทิพย์ เจริญศักดิ์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
  • ดร. สุพร พงษ์นุ่มกุล (NECTEC)
ผู้ดำเนินรายการ:

ผศ. ดร. ทิพยา จินตโกวิท (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เส้นทางอาชีพสำหรับบัณฑิตสาขาสารสนเทศศาสตร์: การค้นหาที่ไม่สิ้นสุด

11 มกราคม 2564 เวลา 13.00 – 14.00 น.

การเสวนาเรื่องความท้าทายในยุคปัจจุบัน เมื่อสถาบันการศึกษาด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศึกษาต้องกำหนดและระบุอาชีพของบัณฑิตเพื่อใช้ในการออกแบบหลักสูตร  ร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะมุมมองเกี่ยวกับอาชีพและตลาดงานของบัณฑิตในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศึกษาในยุคดิจิทัล และคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางอาชีพสำหรับบัณฑิตสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ในอนาคต

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. ศิวนาถ นันทพิชัย (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
  • อ. ดร. นิศาชล จำนงศรี (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)
  • อ. วลัยลักษณ์ อมรสิริพงศ์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. จารุณี การี (มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา)

ฝึกงานและสหกิจศึกษาในโลก Disruption

11 มกราคม 2564 เวลา 14.00 – 15.00 น.

ตลาดงานในปัจจุบันต้องการบัณฑิตที่มีความพร้อมทั้งหลักทฤษฎีและทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากสังคมห้องเรียนสู่สังคมแห่งการทำงาน สถาบันการศึกษา ในฐานะผู้ผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ คงประสบความท้าทายแตกต่างกันไป  การเสวนาเรื่องนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาผ่านการฝึกงานและสหกิจศึกษา และการแสวงหาความร่วมมือกับสถานประกอบการและแหล่งสารสนเทศต่าง ๆ  โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาวิชาชีพและบุคลากรในสายบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. จุฑาทิพย์ จันทร์ลุน (มหาวิทยาลัยศิลปากร)
  • อ. ดร. วิภากร วัฒนสินธุ์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
  • อ. ดร. วรรษพร อารยะพันธ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. ดร. วชิราภรณ์ คลังธนบูรณ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

จะโตเดี่ยวหรือเกี่ยวก้อย: จุดยืนความร่วมมือกับต่างประเทศของโรงเรียนสารสนเทศ

11 มกราคม 2564 เวลา 14.00 – 15.00 น.

การแลกเปลี่ยน แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในไทยและสถาบันการศึกษาต่างประเทศในสาขาวิชาด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์  ครอบคลุมถึงการวางกลยุทธ์ รูปแบบ การสร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันอย่างยั่งยืนในระดับสากล รวมทั้งแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในการดำเนินกิจกรรมด้านความร่วมมือ

วิทยากร:
  • รศ. ดร. ภีมศักดิ์ เอ้งฉ้วน (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
  • รศ. ดร. น้ำทิพย์ วิภาวิน (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)
  • ผศ. ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • ผศ. ดร. กันยารัตน์ เควียเซ่น (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. ปภัสรา อาษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

กลยุทธ์และความท้าทายในการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี

11 มกราคม 2564 เวลา 15.00 – 17.00 น.

การเสวนาเรื่องความท้าทายของสถาบันการศึกษาในการแข่งขันภายใต้สภาวะที่จำนวนนิสิตและนักศึกษาลดลงอย่างรวดเร็ว  นำไปสู่การปรับปรุงและออกแบบหลักการ กฎเกณฑ์ และรูปแบบการรับสมัครนิสิต นักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศึกษา เช่น การรับสมัครผ่านระบบ TCAS การยื่น Portfolio  การกำหนด Quota  หรือการรับสมัครผ่านระบบ Admission  รวมทั้งร่วมอภิปรายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการรับสมัครนิสิต นักศึกษาในหลักสูตร

วิทยากร:
  • รศ. ดร. ภาวิณี (สินธุโคตร) แสนชนม์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)
  • ผศ. ฐะปะนีย์ เทพญา (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
  • อ. ดร. วรรษพร อารยะพันธ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
  • อ. ดร. ธนิศา สุขขารมณ์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎ์ธานี)
  • อ. ดร. วิภากร วัฒนสินธุ์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. อนุรักษ์ อยู่วัง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ตัวตนของการจัดการเอกสาร จดหมายเหตุ และสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมในโลกสารสนเทศศาสตร์

11 มกราคม 2564 เวลา 15.00 – 17.00 น.

การอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องการจัดการเอกสาร  การจัดการจดหมายเหตุ  และการจัดการสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม โดยครอบคลุมถึงประเด็นการจัดการเอกสารในฐานะที่เป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์และการยกระดับงานสารบรรณให้เป็น RMP ของหน่วยงาน  รูปแบบการจัดการสอนด้าน Knowledge Organization สำหรับจดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมโดยยึดโยงกับจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Taxonomy) เน้นด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เป็นหลักให้สอดคล้องกับหลักการ AUN-QA  แนวคิดในการสร้างหลักสูตรวิชาชีพ (professional program) ที่สามารถสร้าง “นักจัดการแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม” ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองรับผิดชอบ  ที่และทางของการจัดการเอกสาร จดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกวัฒนธรรมในหลักสูตรระดับปริญญาสารสนเทศศาสตร์:ประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  และบทบาทและศักยภาพของชุมชนในการจัดการเอกสารสำคัญทางวัฒนธรรม:กรณีศึกษาคัมภีร์ใบลานล้านนา

วิทยากร:
  • รศ. ดร. วิศปัตย์ ชัยช่วย (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
  • ผศ. ดร. ศรีหทัย เวลล์ส (มหาวิทยาลัยบูรพา)
  • อ. ดร. วราภรณ์ พูลสถิติวัฒน์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร)
  • อ. ดร. จิรบดี เตชะเสน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  • อ. ดร. ปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
  • อ. ดร. พรอนันต์ เอี่ยมขจรชัย (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)
ผู้ดำเนินรายการ:
  • อ. ดร. นยา สุจฉายา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • อ. ดร. พิมพ์พจน์ สีลาเขต (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

วารสารทางสารสนเทศศาสตร์ของไทย: จะรอดหรือจะร่วง

12 มกราคม 2564 เวลา 10.00 – 11.00 น.

วารสารทางสารสนเทศศาสตร์นับเป็นทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับสาขาวิชาเนื่องจากมีบทบาทในการเป็นทั้งแหล่งที่ใช้เพื่อการค้นคว้าหาความรู้ และแหล่งที่ใช้เพื่อการเผยแพร่ผลการค้นคว้าวิจัย และผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ในสาขาวิชา  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre – TCI) เพื่อพิจารณารายการวารสารที่จะให้อยู่ในฐานข้อมูล TCI ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงวิชาการของไทย  ผู้ผลิตและเผยแพร่วารสารทางสารสนเทศศาสตร์ในประเทศไทยจึงย่อมมีการดำเนินงานเพื่อให้วารสารของตนเป็นไปตามเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพวารสาร และเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าว   มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัญหาของการจัดการวารสารทางสารสนเทศศาสตร์ของไทย และการคงระดับคุณภาพของวารสาร  รวมถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพวารสารเพื่อตอบคำถามว่า วารสารทางสารสนเทศศาสตร์ของไทย จะรอดหรือจะร่วง

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. กันยารัตน์ เควียเซ่น (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
  • ผศ. ดร. ดุษฎี สีวังคำ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
  • อ. ดร. มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ (มหาวิทยาลัยรังสิต)
  • คุณสุพิน อุดมผล ( มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ผู้ดำเนินรายการ:

ผศ. ดร. อรนุช เศวตรัตนเสถียร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เปิดประสบการณ์การสอนการรู้สารสนเทศ

12 มกราคม 2564 เวลา 10.00 – 11.00 น.

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่าน องค์ความรู้ วิธีการ และเทคนิคในการสอนการรู้สารสนเทศที่เคยนำมาใช้กับผู้เรียนในรุ่นหนึ่งจึงมิอาจนำมาใช้กับผู้เรียนรุ่นต่อๆ ไปได้ทั้งหมด ผู้รับผิดชอบในการสอนการรู้สารสนเทศจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิมและ/หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาเยาวชนไทยสู่การเป็นพลเมืองโลกในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การสอนการรู้สารสนเทศที่สอดแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย การแบ่งปันประสบการณ์การสอนการรู้สนเทศจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้กลุ่มผู้สอนที่มาจากหลากหลายสถาบันได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเรื่องราวของความสำเร็จและบทเรียนสอนใจที่นำไปสู่การปรับปรุงการสอนให้ดียิ่งขึ้น

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. นราธิป ปิติธนบดี (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา)
  • อ. ดร. วราพรรณ อภิศุภะโชค (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
  • คุณธนะพันธุ์ การคนซื่อ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ผู้ดำเนินรายการ:

ผศ. ไปรมา เฮียงราช (มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม)

ก้าวสู่โลก Content Curation: คนที่ต้องการ งานที่ว่าปัง

12 มกราคม 2564 เวลา 11.00 – 12.00 น.

ผู้คนในสังคมได้พูดถึงและเห็นความสำคัญของทักษะการสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใหม่ (Content curation) จึงเกิดข้อสงสัยว่าทักษะนี้จำเป็นหรือไม่สำหรับบัณฑิตใหม่ สาขาสารสนเทศศาสตร์จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะนี้แก่บัณฑิตได้อย่างไร คุณลักษณะสำคัญของบัณฑิตที่พร้อมทำงานในด้านการสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใหม่นี้คืออะไรบ้าง รวมถึงหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และองค์ความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยที่หล่อหลอมและควรถ่ายทอดให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานในด้านนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร ร่วมกันหาคำตอบกันได้

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. ภูริพันธ์ รุจิขจร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร (มิวเซียมสยาม)
  • คุณพิชชา ศิลปะสุวรรณ (Culture Flipper)
ผู้ดำเนินรายการ:

ผศ. สุรชาติ พุทธิมา (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)

นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนในสาขาสารสนเทศศาสตร์

12 มกราคม 2564 เวลา 11.00 – 12.00 น.

สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ เป็นสาขาที่มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสหสาขาวิชาการ โดยบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสารสนเทศศาสตร์ จึงมีความสำคัญ และจะช่วยให้การเรียนการสอนในสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์นั้นเกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสร้างทักษะที่สำคัญต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับงานสารสนเทศ ดังนั้น การเสวนานี้จะช่วยให้ผู้สอนในสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ มีความรู้และความเข้าใจถึงแนวคิด รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการ เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนทั้งรายบุคคลและแบบมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. ศศิพิมล ประพินพงศกร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
  • อ. ฐิติ คำหอมกุล (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
  • อ. กชพรรณ นุ่นสังข์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)
  • ผศ. ดร. ศิวนาถ นันทพิชัย (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
  • ผศ. ภณิดา แก้วกูร (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. ดร. สรคม ดิสสะมาน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ประกันคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร: ส่งเสริมหรือขัดขวาง

12 มกราคม 2564 เวลา 13.00 – 14.00 น.

การเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทยเรื่องการประกันคุณภาพและการขอรับรองมาตรฐานหลักสูตรด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์  โดยมีกรณีศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจาก CILIP (Chartered Institute of Library and Information Professionals) ของสหราชอาณาจักร  มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ iSchools Inc.  และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  วิทยากรจากสถาบันชั้นนำเหล่านี้จะมาร่วมอภิปราย แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการในการประกันคุณภาพและการขอรับรองหลักสูตร  แนวทางในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการจัดการประกันคุณภาพ  และปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานไทยและต่างประเทศ

วิทยากร:
  • ศ. ดร. กุลธิดา ท้วมสุข (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
  • รศ. ดร. สมพร พุทธาพิทักษ์ผล (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)
  • ผศ. ดร. สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ.วรนุช ศรีพลัง (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี)

อาจารย์กับการ Re-skill: ไม่ปรับ ไม่รอด?

12 มกราคม 2564 เวลา 13.00 – 14.00 น.

การจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาบรรณารักษ์และสารสนเทศศาสตร์ถือเป็นสาขาหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงการดำรงบทบาทและความสำคัญในยุคดิจิทัล ประกอบกับในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้ผู้สอนในสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วนทั้งการพัฒนาความรู้และทักษะที่มีอยู่เดิม และการเพิ่มเติมความรู้และทักษะใหม่ การเสวนาหัวข้อนี้จะชวนทุกท่านมาร่วมทำความเข้าใจบริบทและความจำเป็นในการปรับตัวของผู้สอน ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคการปรับตัว และการรับมือกับปัญหาและความท้าทายในการปรับตัวของผู้สอนในสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

วิทยากร:
  • ผศ. ดร. ชมนาด บุญอารีย์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
  • ผศ. วาทินี นิลงาม (มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม)
  • อ. ดร. ทัศวรรณ ธิมาคำ (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)
ผู้ดำเนินรายการ:

อ. ดร. เสาวภา หลิมวิจิตร (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)