Center of Excellence in Southeast Asian Linguistics
News

การบรรยายและเสวนาวิชาการหัวข้อ “ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์กับการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย”

โครงการ “สร้างทรัพยากรดิจิทัลในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยก่อนปัจจุบัน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” หน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดบรรยายและเสวนาวิชาการหัวข้อ “ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์กับการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย” เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระหว่างเวลา 9.00 – 12.00 น. ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยพระสังฆราชปาเลอกัวในช่วงรัชกาลที่ 3 และตีพิมพ์ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 และเพื่อแนะนำให้ผู้สนใจได้รู้จักฐานข้อมูล สัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้นักวิชาการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลในพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท ได้ง่ายขึ้น

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายในหัวข้อ “ภาษาไทยในหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส” โดยอาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้จัดการหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งแนะนำให้ผู้ฟังได้รู้จักเอกสารชั้นต้นตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีการจดบันทึกภาษาไทย และยังได้บอกเล่าเรื่องราวการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยของคณะมิชชันนารีที่เข้ามาในอดีตอีกด้วย

ต่อมารองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บรรยายวิชาการในหัวข้อ “ทำความเข้าใจภาษาไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์” โดยได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาและเนื้อหาของพจนานุกรม สัพะพะจะนะพาสาไท จากนั้นจึงสาธิตว่าฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ช่วยให้เห็นความแตกต่างของภาษาไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์กับสมัยปัจจุบันในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเสียงสระสั้นยาว การแปรของรูปเขียน เป็นต้น ได้อย่างไร

ช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการใช้ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์ในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย” โดยมี ดร.จิณวัฒน์ แก่นเมือง ผู้ประสานงานโครงการฯ อภิปรายถึงแนวทางในการใช้ฐานข้อมูลเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำ อาจารย์โปรดปราณ อรัญญิก จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนของคำแปลภาษาละตินเมื่อเทียบกับภาษาอื่น ๆ ในพจนานุกรม และ ดร.พีระ พนารัตน์ จาก Centre for the Study of Manuscript Cultures แห่ง University of Hamburg อภิปรายประเด็นการศึกษาต้นฉบับตัวเขียนและการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาวรรณคดีไทย

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/D8gBZGbzBVQ

ฐานข้อมูลสัพะพะจะนะพาสาไทออนไลน์จะเปิดให้ใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ที่ https://www.arts.chula.ac.th/chulaseal/resources/

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างทรัพยากรดิจิทัลในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยก่อนปัจจุบัน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครืออมรินทร์


Related posts

Male Femininity, Citizenship, and Pride: Dr. Pavadee’s talk on LGBTQIA+ Activism in Bangkok

Arunodaya Quadrilingual Dictionary of Khasi, Hindi, English, and Thai Officially Launched

Atit Woo

Official launch of the Chulalongkorn Linguistics Fieldwork Archive

Atit Woo

Upcoming Talk: Endangered Tibeto-Burman languages of Thailand

Atit Woo