ลักษณะวรรณกรรมภาคเหนือ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ลักษณะวรรณกรรมภาคเหนือ วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ (2509)

วรรณกรรมท้องถิ่นมีคุณค่า ความงาม และความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละถิ่นอย่างลึกซึ้ง

วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ (2509) เป็นงานวิจัยบุกเบิกในการรวบรวมและศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือซึ่งต้องใช้ความอุตสาหะมาก เพราะในเวลานั้น สมุดข่อยหรือใบลานวรรณกรรมภาคเหนือซึ่งจารด้วยอักษรพื้นเมืองเก็บรักษาอย่างกระจัดกระจายอยู่ตามวัด ยังไม่มีการรวบรวม ปริวรรต จัดพิมพ์อย่างเป็นระบบ

งานวิจัยนี้ได้พยายามรวบรวมวรรณกรรมที่เกิดภายหลังการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 8 ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2020 รัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทำให้เห็นความสำคัญของพุทธศาสนาที่มีต่อการสร้างวรรณกรรมภาคเหนืออย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังได้ศึกษาผลงานของกวีสำคัญ อาทิ พญาโลมะวิสัย พญาพรหมโวหาร เจ้าสุริยะวงศ์ ฯลฯ ประกอบด้วยงานหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมนิราศ วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมคำสอน และค่าวซอธรรม

คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของวิทยานิพนธ์นี้คือการศึกษาวิเคราะห์ลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณกรรมภาคเหนือ ได้แก่ ค่าว กาพย์ ซอ โคลง และร่าย โดยได้เปรียบเทียบคำประพันธ์บางชนิดกับของภาคกลาง รวมทั้งยังเปรียบเทียบภาษาและวรรณกรรมภาคเหนือกับภาคกลางด้วย ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมไทยสองท้องถิ่นได้ชัดเจนขึ้น

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่

Facebook
Twitter