วิวิธนัย ภาษาไทยวินิจ: นานาทรรศนะว่าด้วยภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔




นับแต่อดีต ปราชญ์ภาษาไทยได้ศึกษาค้นคว้า ตลอดจนแสดงทรรศนะเกี่ยวกับภาษาไทยในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้เป็นจำนวนมาก ทรรศนะเหล่านี้นับว่ามีคุณค่าต่อการศึกษาทำความเข้าใจภาษาไทยในมิติต่าง ๆ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔  
จึงได้คัดสรรทรรศนะเกี่ยวกับภาษาไทยมาแสดงดังต่อไปนี้





การบัญญัติศัพท์กับอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทย


“…การบัญญัติศัพท์เป็นกิจที่ยากลำบากมาก เพราะถึงแม้จะพยายามคิดให้รอบคอบสักเพียงใด และจะปรึกษาหารือกับท่านผู้คงแก่เรียนในวิชาต่าง ๆ สักเพียงใด ก็ยังหลีกเลี่ยงความบกพร่องไม่ได้ ด้วยภาษาแต่ละภาษาย่อมมีอัจฉริยลักษณ์ของตน ทั้งในทางความหมายและทางเสียง ซึ่งศัพท์ที่คิดขึ้นนั้นจะต้องอนุโลมตามอย่างสนิทแนบเนียนจึงจะมีชีวิตถาวรสืบไป”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์



เมื่อเกิดการรับวิทยาการจากตะวันตก ศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศได้เข้ามาสู่ภาษาไทยหลายคำ จึงจำเป็นต้องบัญญัติศัพท์ใช้แทนศัพท์ภาษาต่างประเทศเหล่านี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางหลักเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ และทรงบัญญัติศัพท์ใช้ในภาษาไทยไว้เป็นจำนวนมาก ในหนังสือ บัญญัติศัพท์ ของ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงกล่าวว่า การบัญญัติศัพท์เป็นข้อยาก เพราะจำเป็นต้องคำนึงถึง “อัจฉริยลักษณ์” ทางภาษาด้วย ศัพท์บัญญัตินั้นจึงจะติดอยู่ในภาษา ดังนี้

การบัญญัติศัพท์มีประโยชน์เพียงใด ข้าพเจ้าไม่ต้องกล่าว เพราะนักศึกษาตลอดจนนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ย่อมตระหนักอยู่แล้ว แต่การบัญญัติศัพท์เป็นกิจที่ยากลำบากมาก เพราะถึงแม้จะพยายามคิดให้รอบคอบสักเพียงใด และจะปรึกษาหารือกับท่านผู้คงแก่เรียนในวิชาต่าง ๆ สักเพียงใด ก็ยังหลีกเลี่ยงความบกพร่องไม่ได้ ด้วยภาษาแต่ละภาษาย่อมมีอัจฉริยลักษณ์ของตน ทั้งในทางความหมายและทางเสียง ซึ่งศัพท์ที่คิดขึ้นนั้นจะต้องอนุโลมตามอย่างสนิทแนบเนียนจึงจะมีชีวิตถาวรสืบไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อคิดศัพท์ขึ้นแล้ว จะต้องลองใช้ดู ว่าเป็นศัพท์ที่เหมาะ ไม่เหมาะแค่ไหน และเป็นศัพท์ที่ติด ไม่ติดแค่ไหน การที่จัดพิมพ์ศัพท์เพื่อให้นำออกใช้นี้จึงมีประโยชน์มาก เพราะการใช้เท่านั้นจะเป็นเครื่องตัดสินว่าศัพท์ใดใช้ได้ ศัพท์ใดควรแก้ไข

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์


อ่านวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ:  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ ที่นี่

ขอบคุณที่มารูปภาพ





ภาษาไทยกับวิชานิรุกติศาสตร์


“…วิชานิรุกติศาสตร์ไม่ใช่เรียนภาษาเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ แต่เป็นเรียนให้รู้ลักษณะของภาษาต่าง ๆ ว่ามีกำเนิดและรูปภาษาเป็นมาอย่างไร และหลักที่จะพิจารณามีอย่างไร จึงมีประโยชน์เป็นแนวทางแก่ผู้สนใจเรื่องภาษา สำหรับจะได้ค้นคว้าหาความรู้เรื่องภาษาไทยให้ก้าวหน้าได้ต่อไป”

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน




เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔ พระยาอนุมานราชธนได้รับเชิญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มาสอนวิชานิรุกติศาสตร์แก่นิสิตอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ ๓ และ ๔ ที่เลือกเรียนวิชาภาษาไทย และได้สอนเรื่อยมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี การสอนวิชานิรุกติศาสตร์ของท่านนับว่ามีคุณูปการแก่การศึกษาภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบุกเบิกการศึกษาวิเคราะห์ภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์ และนักวิชาการภาษาไทยหลายท่านได้อาศัยความรู้ที่ท่านสอนไปใช้ศึกษาวิเคราะห์ภาษาไทยสืบต่อมา ท่านกล่าวถึงความสำคัญของวิชาดังกล่าวไว้ในหนังสือ นิรุกติศาสตร์ ว่า

“การศึกษาวิชานิรุกติศาสตร์ของชาวยุโรป ในชั้นแรกมุ่งแต่ศึกษาภาษาในตระกูลอินเดีย-ยุโรป เพราะเป็นภาษาของเขา ต่อมาจึงมีผู้ศึกษาภาษาในตระกูลอื่น ความรู้เรื่องภาษาก็ขยายวงกว้างขวางขึ้น วิชานิรุกติศาสตร์ไม่ใช่เรียนภาษาเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ แต่เป็นเรียนให้รู้ลักษณะของภาษาต่าง ๆ ว่ามีกำเนิดและรูปภาษาเป็นมาอย่างไร และหลักที่จะพิจารณามีอย่างไร จึงมีประโยชน์เป็นแนวทางแก่ผู้สนใจเรื่องภาษา สำหรับจะได้ค้นคว้าหาความรู้เรื่องภาษาไทยให้ก้าวหน้าได้ต่อไป”

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน


อ่านหนังสือ นิรุกติศาสตร์ ของพระยาอนุมานราชธน ได้ ที่นี่

ในเบื้องต้น ภาควิชาภาษาไทยได้ดำเนินการเผยแพร่ประวัติและรวบรวมบรรณานุกรมผลงานของพระยาอนุมานราชธน อ่านได้ ที่นี่

ขอบคุณที่มารูปภาพ





แง่คิดเรื่องวิธีการสอนภาษาไทย


“เท่าที่เคยเห็นมา เมื่อครูจะสอนคำยากในหนังสืออ่าน ครูมักถามเอาความรู้แก่นักเรียนว่าคำนี้แปลว่าอย่างไร เมื่อนักเรียนตอบไม่ได้ ครูก็บอกให้ เช่นนี้ครูไม่ได้สอน การสอนคำยากไม่ควรจะยกเอาเฉพาะคำมาสอน ควรเอามาทั้งประโยค ทั้งความ…” 

พระวรเวทย์พิสิฐ




ครูภาษาไทยนับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดปลูกผังให้เยาวชนไทยรักและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม วิธีการสอนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การสอนภาษาไทยบรรลุวัตถุประสงค์ ในบทความเรื่อง วิธีสอนภาษาไทย พระวรเวทย์พิสิฐ ได้เสนอ “กลเม็ดในการสอน” ไว้หลายวิธี เช่น ในการสอนศัพท์ยาก ท่านเสนอว่าครูควรสอนให้นักเรียนพิจารณาความหมายจากปริบทที่ศัพท์นั้นปรากฏอยู่ ดังนี้

เท่าที่เคยเห็นมา เมื่อครูจะสอนคำยากในหนังสืออ่าน ครูมักถามเอาความรู้แก่นักเรียนว่าคำนี้แปลว่าอย่างไร เมื่อนักเรียนตอบไม่ได้ ครูก็บอกให้ เช่นนี้ครูไม่ได้สอน การสอนคำยากไม่ควรจะยกเอาเฉพาะคำมาสอน ควรเอามาทั้งประโยค ทั้งความดังกล่าวแล้ว

ครูที่ดีจะสอนบทเรียนใด จำเป็นต้องเตรียมเสียก่อน เป็นต้นว่าจะสอนคำยากหรือศัพท์ในหนังสืออ่าน ครูจะต้องอ่านให้เข้าใจตลอดทั้งคำและความ มีคำตรงไหนจะต้องสอน ถ้าเป็นคำยากครูต้องค้นคว้าความหมายของคำเสียก่อน… คำบางคำอยู่ในที่อย่างหนึ่ง หมายความอย่างหนึ่ง และเมื่ออยู่ในที่อีกอย่างหนึ่งก็หมายเป็นอย่างอื่นไป ต้องสอนให้นักเรียนรู้ และจะสอนอย่างไรจึงจะรู้ นี่แหละเกี่ยวกับกลวิธีของครูล่ะ ตัวอย่างครูจะสอนคำยากในหนังสืออ่านเตลงพ่าย ซึ่งเป็นข้อปรารภของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งมีข้อความต่อไปนี้ “คาบนี้ผู้ เผ้าเตลง เกรงพระฤทธิ์รันทด เพื่อเอารสเมื่อมรณ์ คู่ขวากรก่นขาด” คำที่เป็นเป็นตัวหนา คือคำที่จะต้องสอน

๑. เผ้า เด็กรู้อยู่แล้วแปลว่าผม แต่ผมเตลงก็ไม่ได้ความ ครูต้องนำให้รู้ว่าผมเป็นของสูงสุดในกายคน เพราะฉะนั้นผู้สูงสุดของเตลง (มอญ) ก็หมายความถึงพระเจ้าแผ่นดินมอญ

๒. รันทด คำเกรงพระฤทธิ์เด็ก ๆ รู้อยู่แล้ว ครูก็ต้องถามนำต่อไปว่า ตามธรรมดาคนเราเมื่อเกิดความกลัวสิ่งใดขึ้นแล้ว ใจจะเป็นอย่างไร เด็กทุกคนต้องตอบว่า ใจไม่สบาย ใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคำรันทด ก็แปลว่าเป็นทุกข์

๓. เพื่อ คำนี้เคยใช้ในความเช่นว่า เล่นเพื่อสนุก อ่านเพื่อรู้ เป็นต้น แต่ตรงนี้ควรถามย้อนว่า เป็นทุกข์ทำไม เด็กก็จะตอบว่า เพราะพระราชเอารสมรณะ เพราะฉะนั้นคำเพื่อในที่นี้ก็เท่ากับคำ เพราะ

พระวรเวทย์พิสิฐ


ในเบื้องต้น ภาควิชาภาษาไทยได้ดำเนินการเผยแพร่ประวัติและรวบรวมบรรณานุกรมผลงานของพระวรเวทย์พิสิฐ อ่านได้ ที่นี่

ขอบคุณที่มารูปภาพ





แง่คิดเรื่องการสอนวรรณคดีไทย


“…การวิพากษ์วิจารณ์นั้น ผู้เยาว์ย่อมต้องทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่ดังได้กล่าวแล้ว ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความนึกคิดของเขา เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของด้วยคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูเป็นเจ้าของวรรณคดี คนหนุ่มคนสาวควรแต่จะรับฟัง เราอาจให้เขารับฟังเราได้ด้วยวิธีการที่เขาจะคิดว่า ครูกับศิษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างก็เป็นผู้รับมรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษด้วยกัน…”

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ




การสอนวรรณคดีไทยนับเป็นข้อยากอีกประการหนึ่งที่ครูภาษาไทยต้องประสบ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ บูรพาจารย์ด้านวรรณคดีวิจารณ์ของไทยได้แสดงความเห็นเรื่องวิธีการสอนวรรณคดีไทยให้นักเรียนรักวรรณคดีไทยไว้ในบทความชื่อ หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ วรรณไวทยากร ความตอนหนึ่งว่า

…การที่จะให้เกิดน้ำใจรักวรรณคดีนั้น ต้องอาศัยกลวิธีที่แนบเนียน เมื่อใดควรให้อ่านแต่เพียงผิวเผิน เมื่อใดควรล่อให้วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อใดควรชี้แจงว่า สิ่งใดเป็นสิ่งสมมติ ไม่ใช่ให้ทึกทักเอาเป็นความจริง สิ่งใดเป็นสัญญลักขณ์ และเป็นสัญญลักขณ์ของอะไร อย่างไร การให้เข้าใจศัพท์นั้นจำเป็น แต่จะต้องให้เข้าใจด้วยความสบายใจ เพื่อจะได้เข้าถึงลักษณะสำคัญของวรรณคดีให้เร็วที่สุดที่วัยและสมรรถภาพจะพาเข้าถึงได้ วรรณคดีเป็นความสุข ซึ่งหมายความว่าต้องมีเพื่อนร่วมสนุกด้วยกัน น้อยนักที่มนุษย์จะชอบทำสิ่งใดแต่ลำพังโดยไม่ต้องการเพื่อนร่วมทำร่วมสนุก ในวิชาครู การคุยกันเป็นเรื่องเป็นข้อความรู้ในห้องเรียนเรียกว่า การอภิปราย กิจกรรมนี้ควรดำเนินไปเพื่อให้นักเรียนเกิดความรักความภาคภูมิใจในศิลปะของชาติ เพื่อให้เข้าใจเอกลักษณ์ของชาติตน ไม่เป็นความทุกข์ทรมาน การวิพากษ์วิจารณ์นั้น ผู้เยาว์ย่อมต้องทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่ดังได้กล่าวแล้ว ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความนึกคิดของเขา เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของด้วยคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูเป็นเจ้าของวรรณคดี คนหนุ่มคนสาวควรแต่จะรับฟัง เราอาจให้เขารับฟังเราได้ด้วยวิธีการ ที่เขาจะคิดว่า ครูกับศิษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างก็เป็นผู้รับมรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษด้วยกัน

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ


อ่านบทความ หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย ฉบับเต็มได้ ที่นี่

ขอบคุณที่มารูปภาพ





ความสำคัญของการเรียนวิชาภาษาไทยในระดับอุดมศึกษา


“…ภาษานั้นมิใช่เป็นแต่รูปแบบสำหรับแสดงความคิดให้ปรากฏแก่ผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นทราบความคิดของเราเท่านั้น ภาษายังเป็นเครื่องสำหรับคิดด้วย ดังนั้นการรู้ภาษาดีจึงเท่ากับมีความสามารถที่จะคิด และที่จะแสดงความคิดได้ดีและโดยสะดวกด้วย…”

ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์




ไม่ว่าโลกจะพัฒนาก้าวหน้าไปสักเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพนับเป็นทักษะสำคัญในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิต ศาสตราจารย์กิตติคุณ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ อดีตหัวหน้าแผนกวิชาภาษาไทย และคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนภาษาไทยในระดับอุดมศึกษาไว้ว่า

เรื่องการสอนการเรียนภาษาไทยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยไทย บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกไปก็เป็นบัณฑิตไทยจะเป็นผู้นำและตัวอย่าง จึงควรจะมีความรู้และสามารถใช้ภาษาของตนได้อย่างดี

ความสามารถเช่นนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของผู้มีการศึกษาแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการติดต่อไปด้วย เพราะว่าภาษานั้นมิใช่เป็นแต่รูปแบบสำหรับแสดงความคิดให้ปรากฏแก่ผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นทราบความคิดของเราเท่านั้น ภาษายังเป็นเครื่องมือสำหรับคิดด้วย ดังนั้นการรู้ภาษาดีจึงเท่ากับมีความสามารถที่จะคิด และที่จะแสดงความคิดได้ดีและโดยสะดวกด้วย

การเรียนภาษาไทยในชั้นมหาวิทยาลัยจึงน่าที่จะเป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะแก่ผู้มุ่งที่จะเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอกหรือวิชาโทเท่านั้น นิสิตคณะอื่น ๆ ก็น่าจะได้เรียนด้วย การเรียนภาษาและวรรณคดีของตนเองนั้นเป็นการเรียนวัฒนธรรมของชาติตนเองด้วย และคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันหรือรู้สึกว่ามีวัฒนธรรมร่วมกันย่อมจะร่วมสามัคคีเป็นหมู่คณะเดียวกันได้มั่นคงกว่าคนต่างวัฒนธรรมกัน

ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์


ในเบื้องต้น ภาควิชาภาษาไทยได้ดำเนินการเผยแพร่ประวัติและรวบรวมบรรณานุกรมผลงานของศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ อ่านได้ ที่นี่

         ขอบคุณที่มารูปภาพ




Facebook
Twitter