ปกิณกะความรู้ภาษาไทย โดย รศ. ดร.นววรรณ พันธุเมธา เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2565

บทความเรื่อง  “พินิจภาษา: คะ-ค่ะ”
รองศาสตราจารย์ ดร.นววรรณ พันธุเมธา
พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ พินิจภาษา เล่ม 3 เมื่อพ.ศ. 2539


เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผู้เขียนฟังรายงานวิทยุรายการหนึ่ง ตอนแรก ฟังผ่าน ๆ ไม่ได้สนใจมากนัก แต่ฟังได้สักพักหนึ่งก็เริ่มตั้งใจฟังและในที่สุดถึงกับหยิบปากกามาจดข้อความ ได้ข้อความมาดังนี้

สตรีที่ตั้งครรภ์จะเหนื่อยง่ายนะคะ เหนื่อยง่ายกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ ควรพักผ่อนให้เต็มที่นะคะ ควรดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอนจะทำให้หลับสบาย การเดินทางไกลอาจทำให้เกิดแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้นะคะ การรักษาความสะอาดนะคะ ต้องหมั่นอาบน้ำรักษาร่างกายให้สะอาดนะคะ เชื้อโรคจะได้ไม่เข้ามาในร่างกายนะคะ เชื้อโรคจะกระจายเข้าไปในกระแสโลหิตได้นะคะ การขับถ่ายจะมีปัญหาสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์มากนะคะ เพราะจะต้องคอยหาห้องน้ำอยู่เรื่อยนะคะ การแต่งกายควรแต่งกายให้เหมาะสมนะคะ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไปนะคะ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงนะคะ…

ผู้พูดผู้นี้ลงท้ายประโยคว่า นะคะ เกือบทุกประโยค ทำให้ฟังซ้ำซาก น่าเบื่อ อันที่จริงเธอใช้ นะคะ ลงท้ายประโยคเพียงบางประโยคก็น่าจะพอ หรือถ้าเกรงว่าการพูดลอย ๆ ไม่มีคำลงท้ายจะฟังห้วนเกินไป อาจจะใช้คำว่า ค่ะ แทนบ้างก็ได้ เช่น

“ควรพักผ่อนให้เต็มที่นะคะ”
แก้เป็น “ควรพักผ่อนให้เต็มที่ค่ะ”

ต้องหมั่นอาบน้ำรักษาร่างกายให้สะอาดนะคะ”
แก้เป็น “ต้องหมั่นอาบน้ำรักษาร่างกายให้สะอาดค่ะ”

การที่เราใช้คำว่า ค่ะ มาแทน นะคะ ได้ ทำให้พูดเหมือนว่า ค่ะ กับ คะ ใช้แทนกันได้ แต่โดยทั่วไปเราก็รู้อยู่ว่า คำ 2 คำนี้มีที่ใช้ไม่เหมือนกัน ประโยคอย่างเช่น “อาจารย์ค่ะ หนูมาหาอาจารย์ไม่พบ พรุ่งนี้หนูจะมาใหม่นะค่ะ” เป็นประโยคที่ฟังแปลก และประโยคอย่างเช่น “อาจารย์คะ หนูหยิบรายงานคืนไปแล้วคะ” ก็เป็นประโยคที่ฟังแปลกอีกเหมือนกัน

คะ กับ ค่ะ นั้น ต่างกันที่ คะ มักปรากฏหลังคำที่ใช้เรียก เช่น คุณแม่คะ อาจารย์คะ คุณน้อยคะ คุณพี่คะ ท่านคะ และใช้ในประโยคคำถาม เช่น เบื่อไหมคะ ง่วงหรือยังคะ คุณหายไปไหนมาทั้งคืนคะ คุณไม่รักฉันแล้วหรือคะ

ส่วน ค่ะ ใช้ในประโยคบอกเล่า เช่น ฉันรู้แล้วละค่ะ ฉันเชื่อใจเขาค่ะ เขาเป็นคนดีมากค่ะ  ใคร ๆ ก็ชอบเขาค่ะ และใช้ในประโยคคำสั่ง ประโยคอนุญาต ประโยคชักชวน เช่น เราต้องพูดกันให้เด็ดขาดค่ะ คุณอยากอยู่คนเดียวก็ได้ค่ะ เราไปหาทนายกันดีกว่าค่ะ

น่าสังเกตว่า คำที่ผู้หญิงใช้ขานรับนั้น โดยปรกติมักเป็นคำว่า ขา เช่น วินัยเรียกสุดาว่า สุดาจ๋า สุดาก็ขานว่า ขา แต่ในบางกรณีสุดาอาจไม่ขานว่า ขา แต่ขานว่า คะ หรือ ค่ะ (หรืออื่น ๆ ซึ่งไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้ เช่นอุทานว่า เอ๊ะ ฮึ หรือถามว่า อะไรอีกล่ะ เรียกทำไม ฯลฯ) การขานว่า คะ หรือ ค่ะ จะมีความหมายต่างกัน ถ้าขานว่า คะ แสดงว่าผู้พูดสงสัย ไม่เข้าใจว่าเรียกเพราะเหตุใด แต่ถ้าขานว่า ค่ะ ก็แสดงว่า ผู้พูดทราบอยู่แล้วว่าผู้เรียกต้องการให้ตนทำอะไร จึงรีบรับปากว่าจะทำ

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ คำว่า ค่ะ จะไม่ปรากฎหลังคำว่า ซิ หรือ นะ เป็นอันขาด ประโยคว่า “เห็นใจฉันบ้างซิค่ะ เรื่องนี้ฉันเสียเปรียบนะค่ะ” เป็นประโยคที่ฟังแปลก เมื่อใดที่มีคำว่า ซิ หรือ นะ จะต้องต่อท้ายด้วยคำว่า คะ ไม่ใช่ ค่ะ แม้ในประโยคบอกเล่า ประโยคคำสั่ง ประโยคอนุญาตหรือชักชวน ซึ่งโดยปรกติจะลงท้ายด้วยคำว่าค่ะ ถ้าประโยคนั้นมีคำว่า ซิ หรือ นะ อยู่ด้วยกันก็ต้องใช้คำว่า คะ เสมอ เช่น เชิญซิคะ ตามใจคุณซิคะ พรุ่งนี้เราไปพัทยากันนะคะ ประโยคข้างต้นจะเปลี่ยนคำว่า คะ เป็น ค่ะ ได้ต่อเมื่อตัดคำ ซิ หรือ นะ ออกไป ซึ่งอาจทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็น นะคะ เป็น ค่ะ ประโยคว่า พรุ่งนี้เราไปพัทยากันค่ะ เป็นประโยคบอกเล่า ไม่ใช่ประโยคชักชวน.

ที่มา: นววรรณ พันธุเมธา. พินิจภาษา เล่ม 3. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2539.

Facebook
Twitter