ปกิณกะความรู้ภาษาไทย โดย ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2565


บทความเรื่อง “บทสนทนาภาษาของชาติ”

ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์
พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ยารัก (ภา) ษา เมื่อพ.ศ. 2554


บทสนทนาหน้าโทรทัศน์

…ในพื้นที่ภาคกลาง ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะหยุดมาหลายวัน แต่ก็อาจจะตกต่อไปอีกนาน…

ป้า : “ตกลงมันต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็มันหยุดมาหลายวันแล้ว มันจะต่อเนื่องมาจากวันไหน แล้ววันนี้มันจะตกรึเปล่า ไม่เห็นเข้าใจเลย พูดยังไงกัน”

หลาน : “ป้าละก็ ใคร ๆ เขาก็เข้าใจกันทั้งนั้น เขาไม่คิดมากอย่างป้าหรอก”

ป้า : “เออ น่าจะจริงนะ เอาเป็นว่าฝนมันจะตกเมื่อไรก็ว่าต่อเนื่องได้ทั้งนั้น เพราะมันก็เคยตกมาตั้งล้านปีแล้วนี่”

หลาน : “คนแก่นี่นอกจากคิดมากแล้วยังชอบประชดอีกนะป้านะ”

บทสนทนาทางโทรศัพท์

เสียงจากสาย : “สวัสดีค้า คุณสุวันนาหรือเปล่านะนี่ ใช่คุณสุวันนามั้ย”

สุวันนา : “ใช่ค่ะ ขอโทษ มีธุระอะไรหรือคะ”

เสียงจากสาย : อ้อ สวัสดีค่ะ คุณสุวันนา ว่างซักห้านาทีมั้ยค่ะ มีโปรโมชั่นมาเสนอค่ะ สนใจมั้ยคะ”

สุวันนา : “ก็น่าสนใจรึเปล่าล่ะคะ”

เสียงจากสาย : “คุณสุวันน้า… ตอนนี้เรามีแผนให้เพิ่มวงเงินเยอะเลยจ้า… ใช้บัตรเครดิตอะไรอยู่มั่งล่ะ มีแผนจะใช้เงินล่วงหน้ามั่งมั้ยจ๊ะ จะซื้ออะไรมั้ย หรือจะเอาไปลงทุนก็ได้นะ คือมันเป็นยังงี้…”

สุวันนา : “ขอโทษค่ะ ยังไม่อยากซื้ออะไร ไม่อยากยืมเงินด้วย มีแยะแล้ว”

เสียงจากสาย : อ๊าวววว…งั้นเหรอ ไม่เป็นไรนะ ไว้คุยกันวันหลังนะจ๊า”

บทสนทนาในลิฟต์ (ห้องเลื่อนไฟฟ้า?)

…๑… : “นี่แก ตกลงจะไปลั้นลาปาร์ตี้พรุ่งนี้รึป่าว บ้านไอ้เจ๊งเจ๋งน่ะ มันบอกแกรึยัง ไปมะล่ะ”

…๒… : “มันบอกแล้ว แต่ยังไม่ลู้ว่ะ แม่งบอกว่าชวนคนไว้เยอะ ป๊ากับม้ามันไม่อยู่ไง”

…๑… : “ก็ใช่ดิ มันว่าแก๊งเราต้องไปให้ครบ ค้างคืนเลยก็ได้ ชิลชิลเล้ยยยย”

…๓… : “แต่แม่ข้าจะให้ไปรึป่าวก็ไม่ลู้อ่ะนะ เค้าว่าหมู่นี้ข้ากลับดึกบ่อย เซ็งส์ว่ะ”

…๔… : “แกอย่าบอกดิว่าไปแรด บอกว่ามีติวก่อนสอบ ไม่ให้ไปเด๋วแกสอบตกนะ”

…๓… : “เอางั้นก้อด๊าย แต่พวกแกต้องพูดให้ตงกันนะ เผื่อแม่ข้ากดไปถามแม่แก ซวยละมึ้ง”

…๕… : “ขอโทษค่ะ ช่วยกดเปิดชั้นนี้ให้ครูด้วย ขอออกหน่อยจะเป็นลมค่ะ”

บทสนทนาในโรงอาหาร

…ช ๑… : “เฮ้ย เป็นไง เดินหน้างอคอย่นยังกะหมาพัคเชียวมึง”

…ช ๒… : “ก็จารย์หมูซีว้า ส่งงานช้าหน่อย ด่าว่ายังงี้จะไปทำมาหากินที่ไหนได้”

…ญ ๓… : “แกไม่รู้ละซีว่าที่มึงส่งช้าเพราะมัวไปทำกราฟิกหากินอยู่ เงินดีกว่าเงินเดือนจารย์อีก”

…ช ๑… : “อย่าให้รู้เชียวโว้ย แกเดือดตายห่… ว่าแต่พรุ่งนี้จารย์เปี้ยวจะสอบนะโว้ย ใครเข้าฟังแกสอนมั่ง มาแบ่งความรู้กันหน่อยว่ะ กูนะขาดตลอด”

…ช ญ ญ ช ช ช ญ… : “กูก็ไม่ได้เข้า…มึงล่ะ รู้มั่งป่าว…กูเข้าแต่ไม่ได้ฟัง… … …”

…อ ๑… : “นี่คุณ เด็กสมัยนี้เขาชื่อเล่นคล้าย ๆ กันหมดนะ”

…อ ๒… : “อ๋อ ชอบชื่อฝรั่ง ชื่อเกาหลี พวกจุนยองยอง จองแดกัม จำจองเวร ยังงั้นใช่ไหม”

…อ ๑… : “ไม่ช่าย ชื่อเขาง่าย ๆ เป็นไทยเลยละ นั่น…สองสามคนนั่น ชื่อ ‘กู’ อีกสองคนโน่นชื่อ ‘มึง’”

บทสนทนาในห้องเสวนาวิชาการ

…น ๑… : “เราก็ฟังกันมาจนจบแล้วนะครับ ได้อาหารสมองมาบำรุงสติปัญญามากเลย ผมเองอ่านเรื่องพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนมาก็มาก แต่วันนี้แจ่มแจ้งจริง ๆ ทั้งปัญหาของโพสต์โคโลเนียลิสม์ โพสต์มอเดิร์นนิสม์ ถ้าเราก้าวข้ามกำแพงความมืดมัวของทุนนิยมที่ครอบงำมาหลายทศวรรษไม่ได้ เราก็คงจะแสวงหาเส้นทางสู่เน็กซ์เจเนอเรชั่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจนวาย เจนเอกซ์ เจนแซด นะครับ”

…น ๒… : “นั่นซีครับ ทั้งบัคติน บูดิเออ ฟูโกต์ ขงจื้อ และกระแสอภิมหาพหุวัฒนธรรมสังคม ก็ล้วนแต่ได้เตือนเรามานานแล้ว แต่เรายังไม่ตระหนักสักเท่าไร ถึงสภาวะแห่งความด้อยต้อยต่ำของมวลชนรากหญ้า คนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบครอบจักรวาล ที่รัฐชาติและการขีดเส้นแบ่งของรัฐได้กระทำให้เกิดความถดถอยมาเป็นศตวรรษแล้ว การประชุมทวิภาคี พหุภาคี มหัพภาคีจำเป็น”

…น ๓… : “ข้อสำคัญสิ่งที่…เค้าเรียกไรล่ะ…ต้นทุนเศรษฐกิจผนวกต้นทุนมนุษย์ ที่ทำให้ฟังก์เชิ่นการทำงานไม่โพรเสจดำเนินไป การ…เค้าเรียกไรนะ…บริหารความเสี่ยงริสค์แมเนจเมนท์ เราก็ไม่ค่อยรู้จักกันนะ ไม่เบรฟพอที่จะเผชิญหน้าการสูญเสียกำไร ที่เรียกว่าขาดทุน อย่างนี้ชุมชนจะเข้มแข็งไม่ได้ค่ะ เราต้องเอ็มพาวเวอร์ชุมชนด้วยโซเชียลเน็ทเหวิก ก่อนที่ชุมชนจะลอสท์ล่มสลาย”

…ชบ ๑… : “เอ่อ…เอ่อ…คือว่าพวกเราก็ขอบคุณท่านนักวิชาการมากนะครับที่ท่านช่วยกันให้ความคิดให้กำลังใจ เราคงต้องนำสิ่งที่ได้ฟังวันนี้ไปคิดอีกนานเชียวละครับ แต่ว่าจะขอรบกวนเรียนถามปัญหาข้องใจสักเรื่องได้มั้ยครับ”

…น ๑… : “ได้ซีครับ ยินดีมาก คำตอบของท่านผู้รู้อาจจะช่วยให้ชุมชนก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เชิญครับ”

…ชบ ๑… : “คือว่า ที่เค้าว่าโลกจะแตกปีหน้า แต่อาจเลื่อนกำหนดไปนิดหน่อย ท่านพอจะรู้ไหมครับว่าเลื่อนไปเมื่อไร เราจะได้เตรียมตัวขุดหลุมหลบภัย หรืออาจจะต้องช่วยกันทำเรือลำโต ๆ น่ะครับ”

…น ๑… : “เป็นคำถามที่ดีมากครับ แต่เกรงว่าเวลาของเราไม่พอเราคงต้องจัดประชุมใหญ่ทางวิชการกันอีกสักครั้งนะครับ สำหรับวันนี้ขอบพระคุณทุกท่านมากครับ”

บทสนทนาบนเครื่องบิน

“…ชั้นเอง… : เออ เออ อย่าเพิ่งวางนะ เมื่อกี๊เครื่องกำลังจะขึ้น สัญญาณเลยไม่ค่อยดี อ๋อ..เค้าบอกเหมือนกันว่าให้ปิดเครื่อง แต่ไม่เป็นไรหร๊อก ก็โทร.ได้ทุกที ไม่เห็นเครื่องมันตกซักที ว่าแต่ตกลงซื้อให้ได้รึเปล่า อยากได้ใบใหม่แบบลิมิเต็ดนะ เอาทุกสีเลย รุ่นที่แล้วขาดไปสีนึง เออ รูดไปก่อนแล้วกัน แล้วจะโอนให้ น่า…แหมใบละไม่กี่แสน รวมแล้วก็ไม่ถึงสามล้าน แค่นี้เอง นะ นะ

“อ้าว จะวางแล้วเหรอ ไม่เป็นไรหรอก จะให้นั่งเฉย ๆ ได้ไง เหงาปากตายเลย กว่าเครื่องจะลงอีกตั้งชั่วโมง คุยไปเรื่อย ๆ จะได้ไม่หลับ … … … เออ จวนลงแล้ว ไม่เป็นไรหรอก คุยด๊าย… …”

การอภิปรายเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ

…ผู้ดำเนินรายการ… : เท่าที่ท่านอาจารย์และท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นเรื่องการทะนุบำรุงภาษาไทยอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชาติ ก็สรุปได้ว่าภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้สามารถเข้าใจกัน เข้าใจความรู้สึกความต้องการ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาติ ภาษาที่ยังมีชีวิตคือมีผู้ใช้ย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลง เจริญงอกงามไปตามยุคสมัย ถ้อยคำและสำนวนอาจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้น คำเก่า ๆ อาจหายไป

สำนวนโวหารก็อาจสร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อม รวมทั้งอาจมีอิทธิพลของภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนบ้างตามความจำเป็นในโลกไร้พรมแดนของเราในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาซึ่งบ่งบอกวัฒนธรรมอันดีงามของชาติก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามกาลเทศะและบุคคล ภาษาที่ดีคือภาษาที่สุภาพ ให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งหมายถึงให้เกียรติตนเองด้วย ภาษาที่ดีคือภาษาที่สื่อสารได้กับผู้อื่นในสังคมร่วมกัน โดยไม่ทำให้ผู้ใดรู้สึกว่าถูกจำกัด ถูกกีดกัน ถูกแบ่งแยก ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต่ำต้อยน้อยหน้า ด้อยความรู้ความคิด ภาษาที่ดีคือภาษาที่ผู้พูด-ผู้เขียน-ผู้ฟัง-ผู้อ่าน รับรู้ร่วมกันได้ว่าเป็น “ภาษาของเราทุกคน”

การอภิปรายได้ดำเนินไปพอสมควรแก่เวลา และบัดนี้ก็เหลือจำนวนผู้ฟังเท่ากับผู้พูดแล้ว 

จึงขอยุติและขอขอบคุณทุกท่านในที่นี้ ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ.
ที่มา: สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์. บทสนทนาภาษาของชาติ. ใน ยารัก (ภา) ษาไทย. ศุกร์สร้าง ล้านนาเสถียร, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: ณ เพชร, 2554.

Facebook
Twitter