อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๒

นายสวัสดิ์ จงกล

นายสวัสดิ์ จงกล อ.บ.รุ่น 17 จบปี พ.ศ.2495 ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ เคยเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และวิทยากร สถาบันต่างๆ กรรมการก่อตั้งสมาคมคุรุศาสตร์สัมพันธ์ และเป็นผู้แทนประเทศไทยในการประชุมทางวิชาการด้านการศึกษาระหว่างประเทศ มีผลงานการจัดทำหนังสือและเขียนบทความที่ทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก เช่น หลักเฉลิมพระนครแห่งกรุงสยาม ยุวกษัตริย์อัจฉริยะ เทวาลัย เป็นต้น

ด้วยความรักและผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสวัสดิ์ไม่เพียงสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เป็นประโยชน์กับนิสิตรุ่นหลังๆ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันการศึกษาอันมีเกียรติ หากยังได้หวนกลับมาช่วยทำงานสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้กับคณะอักษรศาสตร์ ด้วยการรับเป็นกรรมการกลางสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ถึง 4 สมัย และเป็นกรรมการคัดเลือกอักษรศาสตร์ดีเด่นอีกหลายสมัย นายสวัสดิ์ เป็นผู้ที่ทำงานอย่างจริงจังตลอดเวลายาวนานด้วยความภาคภูมิใจในความเป็น “ชายชาญชาวอักษรฯ” สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปัญญา บริสุทธิ์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปัญญา บริสุทธิ์ อ.บ.รุ่น 27 จบ ปี พ.ศ.2505 เป็นราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์ เคยเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และคณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้รับยกย่องเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาภาษาฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงตระกูลปาล์มส์ อาคาเดมีกส์ จากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดทำสารานุกรมนักเรียน นามานุกรมไทยและพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปัญญา นับเป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถในวิชาภาษาฝรั่งเศสสร้างผลงานและชื่อเสียง ให้เป็นเกียรติประวัติทั้งแก่ตนเองและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นชาวอักษรฯ คนแรกที่ได้เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น

ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง

ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง อ.บ.รุ่น 27 จบปี พ.ศ. 2505 ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิราชสุดา ม.ร.ว.อรฉัตร ได้ใช้ความรู้ ความสามารถด้านวิชาอักษรศาสตร์และนาฏศิลป์สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวรรณศิลป์ แสดงสักวาทางสถานีโทรทัศน์ ร่วมแสดง “ลับแลกลอนสด” เป็นผู้เชี่ยวชาญการแต่งคำประพันธ์และประดิษฐ์ท่ารำ ให้แก่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ.2550

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จร่วมบอกสักวาถึง 4 ครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดอ่านทำนองเสนาะและแต่งคำประพันธ์ ตลอดจนวรรณกรรมรางวัลซีไรต์

ม.ร.ว. อรฉัตร ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์ ได้รับการยกย่องและยอมรับอย่างกว้างขวาง สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น

นางอัจฉรา วงศ์โสธร

นางอัจฉรา วงศ์โสธร อ.บ.รุ่น 30 จบปี พ.ศ.2508 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ สถาบันภาษา จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบ วัด และประเมินผลทางภาษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทคโนโลยีชุมชนบ้านสวนพัฒนา จังหวัดนครพนม ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ เคยเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล สตรีตัวอย่างแห่งชาติ จากสภาหอการค้าไทย ปี 2552 อาจารย์ดีเด่นสถาบันภาษา จุฬาฯ

ศ.กิตติคุณ ดร.อัจฉรา สามารถใช้ความรู้ภาษาอังกฤษสร้างสรรค์ผลงานด้านการศึกษาให้เป็นประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยและยังได้มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบทด้วย สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น

นางพรศิริ มโนหาญ

นางพรศิริ มโนหาญ อ.บ.รุ่น 34 จบปี พ.ศ.2512 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 39 ปี ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยว นางพรศิริ ได้อุทิศตนตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ได้นำความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและต่อประเทศไทย มุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ รณรงค์การท่องเที่ยวของคนไทยให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ได้รับยกย่องจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพของสมาคม PATA ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ

นางพรศิริ เป็นผู้ทำงานอย่างมุ่งมั่น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ได้รับยกย่องจากสื่อมวลชนต่างประเทศให้เป็น 1 ใน 35 ชาวเอเซียผู้นำการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของเอเซีย นับเป็นนิสิตเก่าที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณให้แก่ตนเองและคณะอักษรศาสตร์ สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อ.บ.รุ่น 41 จบปี พ.ศ.2519 ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยเป็นรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก กรุงปารีส อดีตหัวหน้าฝ่ายศิลปการแสดง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีความรู้ความสามารถในการเขียนบทและกำกับการแสดงแสง สี เสียง เช่น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และงานอื่นๆ ในสังกัดกรมศิลปากร

ดร.ศศิธารา นับเป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์และในต่างประเทศ ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ นำประวัติศาสตร์มาบอกเล่าด้วยวิธีการสมัยใหม่ โดยใช้แสง สี เสียง ทำให้มีความน่าสนใจ และตื่นตา ตื่นใจแก่ผู้ชมอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวอักษรศาสตร์ สมควรยกย่องเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น