อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๒ และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ ที่คณะอักษรศาสตร์ และเป็นหัวหน้าภาควิชานี้เป็นคนแรก มีผลงานเขียนตำราโครงสร้างภาษาไทย ได้รับรางวัลงานเรียบเรียงประกอบปาฐกถาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมสภานักภาษาศาสตร์นานาชาติ ที่ประเทศออสเตรีย และประเทศญี่ปุ่น เป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยและภาษาศาสตร์ให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง

นอกจากงานสอนแล้ว ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ยังเป็นประธานกรรมการและกรรมการในการจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์หลายเล่ม เป็นที่ปรึกษาและบรรณาธิการหนังสือบรรทัดฐานภาษาไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์ได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำในฐานะเป็นผู้นำในการวิจัยภาษาไทยโดยใช้หลักการทางภาษาศาสตร์ และปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย

จากผลงานและประสบการณ์ที่ใช้ความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

นาง ประกอบ ลาภเกษร

นางประกอบ ลาภเกษร สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต ได้เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร เจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และคณบดีนาฏศิลป์และดุริยางค์ สถาบันเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นผู้ปรับปรุงหลักสูตรและระเบียบการวัดผลของนักเรียนนาฏศิลป์ทุกระดับและนำไปใช้ทั่วประเทศ ร่วมร่างหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพื่อผลิตบัณฑิตด้านนาฏศิลปดนตรีเป็นครั้งแรก จนพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กองศิลปศึกษา และรักษาการเลขานุการกรมศิลปากร จวบจนเกษียณอายุราชการ เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านภาษา เอกสาร และหนังสือ ของกรมศิลปากร

ด้านการต่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าประชุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ในหลายประเทศ เป็นกรรมการต่างๆ อาทิ กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดพิมพ์หนังสือในโอกาสสำคัญต่างๆ กรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ และกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับผิดชอบงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของไทย จนได้รับพระราชทานรางวัลผู้อนุรักษ์ดีเด่นด้านวัฒนธรรม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ.๒๕๕๑

ด้วยความสามารถและประสบการณ์ทั้งด้านอักษรศาสตร์และด้านอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนาน สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางประกอบ ลาภเกษร เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

รองศาสตราจารย์ ดร.วดี เขียวอุไร

รองศาสตราจารย์ ดร.วดี เขียวอุไร สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต และครุศาสตรบัณฑิต ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกที่ประเทศฟิลิปปินส์ รับราชการและทำงานโดยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยครูพิบูลสงครามและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ตามลำดับ ขณะเป็นอาจารย์ได้พัฒนาวิธีและสื่อการสอนด้วยการใช้เกม ดนตรีและเพลง เขียนตำราประกอบการสอน รวมทั้งตำราภาษาอังกฤษสำหรับการท่องเที่ยว ไทยศึกษา และประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศ เป็นกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และเป็นผู้เขียนหลักสูตรการท่องเที่ยวและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและหลักสูตรประชาคมอาเซียน ให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมและทำงานระดับนานาชาติ ในหลายประเทศ

การได้ร่วมทำงานในสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ทำให้ได้สร้างงานและพัฒนาเยาวชนหลายโครงการ จนได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัล ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์เป็นรากฐานสำคัญในการทำงานต่างๆ จนสัมฤทธิ์ผล

จากประสบการณ์ทำงานและการใช้ความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์อย่างดียิ่ง สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ฯ จึงขอประกาศยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.วดี เขียวอุไร เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

ศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ

ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต และมหาบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์ จาก University of California at Davis และดุษฎีบัณฑิตด้านสัทศาสตร์ จาก University of Edinburgh อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ผู้มีผลงานทางด้านวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาปรัชญา ประจำปี ๒๕๔๕ ของสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๕ ของสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๐จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย นอกจากนั้นยังมีผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากผลงานด้านวิจัยแล้ว ในด้านการสอน ศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่นระดับมหาวิทยาลัยทั้งของจุฬาฯ ประจำปี ๒๕๔๖ และกองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ ประจำปี ๒๕๔๙ และได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปี ๒๕๕๖ นอกจากการสอนที่คณะอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นวิทยากรบรรยายและอภิปรายในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งยังได้รับเชิญเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลายชุดในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้รับเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ ของสมาคมภาษาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The Linguistic Society of America) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

ด้วยชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่าน ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงาน สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๒ และอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาฯ และ M.A. (Anthropology) มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น และผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีผลงานเขียนทั้งตำราการใช้ภาษาไทย วรรณคดีไทย บทวิจารณ์หนังสือ ผลงานวิจัยสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ บทความวิชาการต่างๆ และงานบรรณาธิการหนังสือ รวมทั้งผลงานเขียนนิทานซึ่งได้รับรางวัลหนังสือสำหรับเด็กจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือฯ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวม ๓ ครั้ง

ในด้านภาษาและวรรณกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๔๐ เป็นกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน กรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติและศิลปาธร เป็นกรรมการในคณะกรรมการสาขาวรรณกรรมและมานุษยวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา วิทยากรพิเศษของสถาบันภาษาไทยสิรินธร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับยกย่องเป็นครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม

ด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์ ศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ได้ ๔ เดือน ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญ

หลังจากสำเร็จการศึกษาได้มาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ๒ วาระ ระหว่างปี ๒๕๓๙ - ๒๕๔๗ คณบดีบันฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี ๒๕๔๗ - ๒๕๕๑ และรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน รับผิดชอบกำกับดูแลงานด้านวิชาการและวิรัชกิจ

ระหว่างดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ได้สร้างกลไกต่างๆ ที่สนับสนุนให้ทุกภาควิชาดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างระบบที่ช่วยให้คณะรักษาอาจารย์ชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถไว้ได้ ทั้งยังดึงดูดให้ชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นอาจารย์เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของคณะอักษรศาสตร์ ได้จัดตั้งศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและส่งเสริมการสร้างข้อสอบวัดทักษะการเขียนภาษาไทย ปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวได้พัฒนาเป็นสถาบันภาษาไทยสิรินธรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ได้มีส่วนในการพัฒนาบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งเสริมให้มีการเปิดสอนหลักสูตรสหสาขาวิชาที่เป็นหลักสูตรแนวหน้าของประเทศหลายหลักสูตร ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ได้พัฒนากิจการด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องของระบบงาน และนวัตกรรมการเรียนการสอน อีกทั้งได้ทำงานเชิงรุกในด้านนานาชาติ ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นด้านความเป็นนานาชาติสูงขึ้น

ด้วยชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่าน ที่สั่งสมมาโดยตลอด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

นางสาว อัจฉรา เสริบุตร

นางสาวอัจฉรา เสริบุตร จบอักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการทูตและการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้ความรู้ความสามารถปฎิบัติงานจนเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ และขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดเป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ ได้แก่ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมไปกับดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี มีถิ่นพำนักณ กรุงจาการ์ตา เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปนและในขณะเดียวกันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐตูนีเซียและเอกอัครราชทูตประจำราชรัฐอันเดอร์รา โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

ในระหว่างการปฏิบัติงานในฐานะเอกอัครราชทูต นางสาวอัจฉรา เสริบุตร ได้ดำเนินการด้านการทูตวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า Cultural Diplomacy อันเป็นการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจศิลปวัฒนธรรมไทย และการท่องเที่ยวของไทยอย่างสำคัญอาทิเช่นริเริ่มปรับปรุงศาลาไทยที่ครอบศิลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ บริเวณน้ำตกดาโก เมืองบันดุงให้มีสภาพคงทนถาวรและมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยการปรับปรุงห้องไทยที่พิพิธภัณฑ์เมืองเมดาน การนำศิลปหัตถกรรมและนาฏศิลป์ไทยตลอดจนสินค้าและอาหารไทยไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสเปน ท่านได้รับรางวัลจากฝ่ายอินโดนีเซียในฐานะที่เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม - อินโดนีเซีย และได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์จากราชวงศ์สุราการ์ตาในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมชะวา ปัจจุบันท่านเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา และเป็นที่ปรึกษากรรมการบริหารสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย

ด้วยชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่าน ที่สั่งสมมาโดยตลอด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสาวอัจฉรา เสริบุตร เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

นาง วิมลา ไตรทศาวิทย์

นางวิมลา ไตรทศาวิทย์ ได้ทำกิจกรรมเพื่อคณะอักษรศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต เป็นกรรมการฝ่ายจัดหาทุน งานจุฬาฯ วิชาการในปี ๒๕๑๕ และเป็นผู้แทนนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ในปี ๒๕๑๖ เมื่อจบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) แล้ว ได้ไปศึกษาต่อทางด้านการแปล ณ มหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เริ่มทำงานในฝ่ายต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิมลาการแปลและภาษา และเข้าร่วมงานกับบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถจนเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ จนเป็นผู้จัดการสำนักงานบริหารกลาง เมื่อเกษียณอายุงานแล้วยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษากรรมการรองผู้จัดการใหญ่ จนถึงปัจจุบัน นอกจากงานในหน้าที่ประจำแล้ว ยังได้ถ่ายทอดความรู้ โดยเป็นอาจารย์พิเศษด้านการแปลให้บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นล่ามให้กับองค์กรใหญ่ๆ อย่างบีโอไอและ ทีดีอาร์ไอ เป็นต้น

นางวิมลา ไตรทศาวิทย์ ได้ทำกิจกรรมทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องในบทบาทนายกเหล่ากาชาดหลายจังหวัด นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการส่งเสริมการดำเนินกิจการของเหล่ากาชาดจังหวัด สภากาชาดไทย ในปี ๒๕๕๓ เคยเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ฯ ระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้จัดอบรมความรู้ให้นิสิตคณะอักษรศาสตร์ เรื่องการใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาไปประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษาแล้ว ให้การสนับสนุนกิจกรรมวิชาการของภาควิชาในคณะอักษรศาสตร์ และริเริ่มให้ทุนอาหารกลางวันแก่นิสิตอักษรศาสตร์

รางวัลเชิดชูเกียรติของผู้ที่ประพฤติดี พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี ๒๕๑๖ และรางวัลสตรีไทยตัวอย่างจากสภาหอการค้าไทย ประจำปี ๒๕๕๒ ที่ได้รับ เป็นประจักษ์พยานว่านางวิมลา เป็นผู้ที่มีความประพฤติดีและมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางวิมลา ไตรทศาวิทย์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖

นาง จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี

นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสาขาศิลปะการละคร ในพ.ศ. 2515 เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นที่ 37 หลังจบการศึกษาได้เริ่มต้นการทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ควบคุมผังรายการเมื่อปี 2517 เรื่อยมาจนถึง ปี 2528 ในระหว่างที่ทำงานที่ททบ.5 นั้น ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์ไทยหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ เป็นผู้จัดละครเจ้าแรกที่ไม่มีการบอกบทแก่นักแสดง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีปฏิบัติกันมาในช่วงนั้น, ริเริ่มการถ่ายทำละครนอกสถานที่, การนำนักแสดงหน้าใหม่จากแวดรั้วมหาวิทยาลัยมาแสดง, การจัดรายการเกมโชว์ระดับสากลขึ้นเป็นเจ้าแรก

ระหว่างนั้นเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดังของประเทศ คือ บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ในปัจจุบัน โดยมีอายุกว่า 36 ปี และสร้างสรรค์รายการมีชื่อมากมายกว่า 100 รายการ อาทิ รายการ พลิกล็อค, วิก 07, จันทร์กะพริบ, เจาะใจ, จันทร์พันดาว, กิ๊กดู๋ สงครามเพลง รวมทั้งงานสำคัญในระดับประเทศ อาทิ พิธีเปิด-ปิด การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ปี 2541, งานแปรอักษรในพิธีเปิด-ปิดกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 19 ที่ประเทศบรูไน ดาราสซาลาม ปี 2542, งานแสดงแสง สี เสียง ประกอบขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค งานประชุม APEC ปี 2546, งาน Fashion Road show ปี 2548-49 , งาน World Expo เมืองไฮจิ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2548

ด้วยการยอมรับจากคนในวงการวิทยุและโทรทัศน์ว่าเป็นคนทำงานคุณภาพ มีความซื่อตรง เสียสละ และความยุติธรรม จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คนแรก ในปี 2544 และดำรงตำแหน่งนานถึง 14 ปี ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกสมาพันธ์กิตติมศักดิ์ในปัจจุบัน สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการวิทยุโทรทัศน์ไทยหลายด้าน รวมทั้งริเริ่มรางวัล "นาฏราช" ที่ทรงคุณค่าของคนในวงการในนามของ สมาพันธ์ฯ อีกด้วย

ในแวดวงธุรกิจนอกจากดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารของบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย แล้ว ยังเป็น รองประธาน บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และในปี 2552 ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นจากสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และรางวัลสตรีผู้มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียนในปี 2559 (Outstanding ASEAN Women Entrepreneurs Forum 2016)

สำคัญอื่นใดบทบาทที่ยังความภูมิใจที่สุดของคุณจำนรรค์คือ บทบาทของ “แม่” แก่บุตรสาวและบุตรชาย ที่ปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานของบริษัทของตนในบทบาทของ Generation ที่ 2 อย่างเต็มตัว โดยในปี 2558 ได้รับ โล่ประกาศเกียรติคุณแม่ดีเด่น จากสมาคมส่งเสริมความเจริญของพระพุทธศาสนา วัดยานนาวา อีกด้วย

นางจำนรรค์ มีความรัก ระลึกถึงและให้ความร่วมมือกับคณะอักษรศาสตร์อย่างเต็มใจยิ่งทั้งที่งานในหน้าที่รัดตัว โดยเป็นกรรมการบริหารสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถึง2 สมัย คือ คณะกรรมการบริหารสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชุดที่ 19 และชุดที่ 20 เป็นกรรมการบริหารคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ทั้งไม่ยอมละโอกาสที่จะแสดงความกตัญญูต่ออาจารย์ที่ให้ความรู้ในวิชาชีพ โดยร่วมแสดงละครเรื่อง "แมคเบธ" ในบท”แม่มด” เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และเปิดโรงละครใหม่ซึ่งใช้ชื่อว่า “ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล” เพื่อเชิดชูเกียรติแด่รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล

ด้วยความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนผลงานต่างๆ ดังกล่าว สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางจำนรรค์ ศิริตัน เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2556

ต่อมา นางจำนรรค์ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชุดที่ 21 ในปี 2556-2558 ระหว่างนั้น นางจำนรรค์ได้พัฒนา การทำงานของสมาคมให้เกิดประสิทธิภาพในหลายด้านให้เท่าทันกับวิทยาการของสังคมโลก รวมตัวศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันสร้างผลงานเพื่อคณะมากมาย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมศีล ฌานวังศะ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิต สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต และอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ และได้ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนปริญญาขั้นสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่วิทยาลัยครูอุดรธานี ต่อมาย้ายไปช่วยราชการในหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู และโอนมารับราชการ ณ สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรพิเศษในการพัฒนาอาจารย์สถาบันภาษา จุฬาฯ ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาศาสตร์ การแปล และคอมพิวเตอร์ และอบรมภาษาอังกฤษให้แก่คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงทบวงกรมหลายแห่ง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันภาษา จุฬาฯ และได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๓

นอกจากนี้ ยังเป็นสาราณียกรหนังสือของคณะอักษรศาสตร์ ๓ เล่ม ขณะเป็นนิสิต และเป็นบรรณาธิการวารสารทางวิชาการและหนังสือหลายฉบับ ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานวิชาการของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลงานแปลหนังสอพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เขียนตำราภาษาอังกฤษหลายอีกหลายฉบับ และเขียนบทความด้านภาษาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษอีกกว่า ๒๐๐ เรื่อง

ด้วยประสบการณ์และการใช้ความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิต เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖