อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

นางอรุณ นนทแก้ว (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๒๖)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ได้ทำงานเป็นครูอยู่ประมาณ ๔ ปี แล้วได้รับทุนโคลอมโบไปศึกษาต่อด้านบริหารการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา เมื่อกลับมาได้เข้ารับราชการเป็นครูประจำในโรงเรียนทางจังหวัดภาคใต้ และเจริญก้าวหน้าจนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่เป็นเวลายาวนานถึง ๓ โรงเรียนในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ โรงเรียนสตรีปากพนัง โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้พัฒนาส่งเสริมความรู้ทั้งด้านวิชาการ เช่น โครงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา และด้านอาชีพ ที่มีหลักการให้นักเรียนเรียนตามความถนัดและความสนใจโดยเรียนพื้นฐานอาชีพเพื่อสำรวจความถนัดของตนเอง ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่นักเรียนจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทำให้ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา ๓ ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่น และได้รับการยกย่องเป็นผู้บริหารระดับมือทองของวงการศึกษาไทย แม้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก

นอกจากงานด้านผู้บริหารการศึกษาแล้ว นางอรุณ นนทแก้ว ยังเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่เป็นนิสิต ใช้นามปากกาว่า “อรุณมนัย” มีผลงานตีพิมพ์หลายเรื่องในหนังสือรายสัปดาห์ “สตรีสาร” และ “ศรีสัปดาห์” ต่อมางานเขียนหลายเรื่องได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ “อุดมการณ์บนเส้นขนาน” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ และ “ไฟหลงเชื้อ” ได้รับรางวัลประเภทนวนิยายดีเด่นประจำปี ๒๕๒๐ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางอรุณ นนทแก้ว เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิระพรรษ์ บุณยเกียรติ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๐)

เมื่อจบการศึกษา ได้ทำงานเป็นครูอยู่ระยะหนึ่ง แล้วได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอก นับเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านการแปลและล่าม จากสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปล(ESIT) มหาวิทยาลัยปารีส ๓ ซอร์บอนน์ นูแวล อาจารย์เคยเป็นเลขานุการในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสและหัวหน้าวิชาภาษาต่างประเทศที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างที่เรียนปริญญาเอกได้ตามเสด็จฯ เข้าร่วมประชุมวิชาการของสหพันธ์ครูสอนภาษาฝรั่งเศสนานาชาติที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ผศ.ดร.จิระพรรษ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการร่างหลักสูตร ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกและเผยแพร่ความรู้ด้านศาสตร์การแปลตามทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมาย ได้ริเริ่มจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปล (ESIT) สนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาที่จบปริญญาโทด้านการแปลไปศึกษาต่อที่สถาบันนี้ และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนี้ มาเป็นวิทยากรในการสัมมนาทางวิชาการด้านการแปลอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์การแปล ที่คณะศิลปศาสตร์ และทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ดังกล่าว นอกจากนั้น ได้ก่อตั้งโครงการปริญญาตรีอังกฤษ-อเมริกันศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติขึ้นเป็นหลักสูตรแรกในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความสามารถและทุ่มเทในการปฏิบัติงาน จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามลำดับ เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วยังเป็นอาจารย์พิเศษให้โครงการปริญญาโทสาขาการแปลภาษาฝรั่งเศส-ไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมกับสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ รางวัลโล่เกียรติยศสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระครบรอบ ๘๔ ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๖๑

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และความทุ่มเทในการปฏิบัติงาน ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระพรรษ์ บุณยเกียรติ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๑)

หลังจบอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์และเอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยปารีส (La Sorbonne) ประเทศฝรั่งเศส กลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณ ๔ ปี อธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอตัวไปร่วมงานบุกเบิกการศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมและก่อตั้งภาควิชามนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถึง ๔ วาระ (วาระละ ๔ ปี) ได้เขียนตำราให้สถาบันวิจัยภาษาฯ ดังกล่าว จำนวน ๕ เล่ม ต่อมาได้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๘ ระหว่างเป็นรองอธิการบดีได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นคณบดีคนแรกของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ จนเกษียณอายุราชการ แต่ยังช่วยงานวิชาการของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบการเปิดสอนรายวิชาใหม่ๆ และแต่งตำราที่ใช้สอนรวม ๘ รายวิชา ได้ผลงานเป็นตำรา ๘ เล่ม ได้สอนรายวิชาต่างๆ ในแต่ภาคการศึกษา ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๖๒ ทั้งยังเป็นบรรณาธิการวารสารวิชาการของวิทยาลัยศาสนศึกษา คือ วารสารศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งออกปีละ ๒ ครั้ง เป็นเวลาถึง ๑๐ ปีเต็ม

นอกจากบทความวิชาการ งานวิจัย และตำราต่างๆ แล้ว ยังเป็นผู้รวบรวมพจนานุกรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ๔ กลุ่ม นอกจากนั้นยังได้แต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ๔ เรื่อง และ นวนิยายจากจินตนาการ ๑ เรื่อง คือ มายาในมายา โดยใช้ชื่อ สุริยา เป็นนามปากกา

ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติ ปี ๒๕๑๙ อาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ จากสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในปี ๒๕๕๑ รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม ในปี ๒๕๕๕ และศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยมหิดล ปี ๒๕๕๘

ด้วยความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์ มีผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่องศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

รองศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๔)

หลังจบอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ได้เป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ช่วงหนึ่ง แล้วย้ายไปสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ จากนั้นไปศึกษาต่อด้าน Communication Arts จนจบปริญญาเอก กลับมารับราชการที่คณะนิเทศศาสตร์ เจริญก้าวหน้าจนเป็นหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง รองคณบดีฝ่ายวางแผน และรองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย ตามลำดับ เป็นกรรมการในสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวาทวิทยาและการสื่อสาร ตำราที่เขียนจำนวน ๖ เล่ม ได้ใช้ประกอบการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก นอกจากใช้ในคณะนิเทศศาสตร์ และคณะอื่นๆ แล้วยังใช้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านภาษาและการสื่อสารด้วย จากผลงานต่างๆ ทำให้ได้รับรางวัลอาจารย์จุฬาฯ ดีเด่นประจำคณะนิเทศศาสตร์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖

รศ.ดร.อรวรรณ เป็นผู้ที่ยึดมั่นและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง ได้ร่วมจัดตั้งมูลนิธิธรรมทานกุศลจิต โดยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ นี้ มุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ต่อมามูลนิธิได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งพุทธปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กล่าวได้ว่านอกจากความรู้ความสามารถในทางวิชาการแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฎิบัติตนในทางชีวิตที่ดีงาม ยึดมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วงเดือน นาราสัจจ์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๕)

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ ได้เข้ารับราชการที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร อยู่ระยะหนึ่ง แล้วไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ จาก Illinois State University สหรัฐอเมริกา ได้กลับมารับราชการต่อที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เจริญก้าวหน้าได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ตามลำดับ คือ ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ประธานบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษาวิชาเอกประวัติศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา ประธานคณะกรรมการบริหารวิชาศึกษาทั่วไปด้านสังคมศาสตร์

ด้วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านประวัติศาสตร์ จึงได้รับเชิญเป็นกรรมการทางด้านประวัติศาสตร์จากหน่วยงานหลายแห่ง เช่น กรรมการวิชาการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา กระทรวงมหาดไทย กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจประเมินคุณภาพสื่อการเรียนรู้ของเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพี้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กรรมการพิจารณาหลักสูตร ศศ.บ.ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กรรมการพิจารณาหลักสูตร ศศ.ม.มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนั้น ยังเป็นบรรณาธิการและผู้เขียนสารานุกรมประวัติศาสตร์สากล : อเมริกา ของ ราชบัณฑิตยสภา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน สำหรับผลงานทางวิชาการเคยได้รับรางวัลในการประกวดหนังสือดีเด่น โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพี้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ๓ ครั้ง ในปี ๒๕๕๖ ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒

ด้วยความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านอักษรศาสตร์ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วงเดือน นาราสัจจ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๖)

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์แล้ว ได้เข้ารับราชการที่วิทยาลัยครูสงขลา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นรองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ และรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

นอกจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนแล้ว ยังได้จัดกิจกรรมฝึกทักษะให้นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยนำนักศึกษาออกศึกษาในพี้นที่จริง ได้เผยแพร่บทความทางวิชาการของคณาจารย์ในคณะฯ ผ่านทางสถานีวิทยุ และวารสารวิชาการ ร่วมก่อตั้งและพัฒนา “ภาคีคนรักเมืองสงขลา” ซึ่งยกระดับขี้นเป็นสมาคมในภายหลัง ได้รังสรรค์ผลงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ โดยได้รวบรวมงานเขียนของคนเก่าคนแก่ของสงขลาออกเผยแพร่ให้เยาวชนและคนรุ่นหลังได้รับทราบความดีงามในอดีต หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมต่างประเทศ เป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณจากสถาบันต่างๆ อาทิ รางวัลสุรินทราชาประจำปี ๒๕๕๖ จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย รางวัลคนดีศรีโรตารี จากสโมสรโรตารีหาดใหญ่ ประจำปี ๒๕๕๖ รางวัลนักเขียนนักแปลมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป พ.ศ. ๒๕๖๑

ในด้านวรรณกรรม ผลงานที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลดังกล่าวข้างต้น ได้แก่การแปลผลงานของเฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมัน ถึง ๑๓ เล่ม และวรรณกรรมชั้นนำของโลกอื่นๆ อีก ๑๕ เล่ม เช่น พี่น้องคารามาซอฟ อันนา คาเรนินา เป็นต้น

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๘)

หหลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ สังกัดกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สำนักราชเลขาธิการ ตำแหน่งปัจจุบัน คือ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ ๙ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญทางด้านภาษาไทย อาทิ ร่างพระราชดำรัส ร่างพระราโชวาท และคำขวัญพระราชทานในโอกาสต่างๆ ร่างพระราชหัตถเลขาเพื่อทรงลงพระนามาภิไธย เป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือต่าง ๆ ตามพระราชเสาวนีย์ เป็นผู้รับสนองพระราชเสาวนีย์ให้ดำเนินการก่อตั้งชมรม“ผู้รู้คุณแผ่นดิน” เพื่อช่วยเหลือข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วประเทศ และเป็นผู้ก่อตั้ง “กลุ่มทำดีถวายในหลวง” เพื่อสนับสนุนงานของตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ

คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ เป็นประธานนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น ๓๘ สนับสนุนการจัดหาทุนสร้างอาคารมหาจักรีสิรินธร สมทบกองทุนบรมราชกุมารี ทุนเล่าเรียนให้นิสิตรุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนสตรีวิทยา “ยอดนารีศรีสตรีวิทยา” สตรีไทยดีเด่นของสภาสตรีแห่งชาติฯ และได้รับเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะผู้มีอุปการคุณของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และมีผลงานต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

นางสุปริญา ลุลิตานนท์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๒)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ที่ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสุปริญา ลุลิตานนท์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านบรรณารักษศาสตร์ปฏิบัติงานในหน้าที่ และงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี อาทิ วางระบบการดำเนินงานห้องสมุดตามมาตรฐานสากล สร้างเครื่องมือเพื่อช่วยการค้นคว้า นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Mini-Micros CDS/ISIS ของยูเนสโก มาใช้สร้างฐานข้อมูลทรัพยากรสารนิเทศในงานห้องสมุด ร่วมสร้างเครือข่ายห้องสมุดจุฬาฯ (CHULALINET) และร่วมกำหนดโครงสร้างการลงรายการทางบรรณานุกรมของหนังสือและเอกสารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(CUMARC) ร่วมส่งข้อมูลในโครงการสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือในกิจกรรมของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ระดมทุนเพื่อกองทุนบรมราชกุมารี และมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

นางสุปริญา ได้มีส่วนร่วมในกิจการของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มายาวนานตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นผู้ช่วยนายทะเบียน และนายทะเบียน ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างฐานข้อมูลสมาชิกสมาคม และปรับปรุงข้อมูลของสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน เป็นผู้ช่วยเหรัญญิกและเหรัญญิก ได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ทำบัญชีของสมาคมฯ และเป็นกรรมการกลางอีกหลายสมัย ได้ช่วยประสานงานระหว่างสมาคมฯ กับคณะอักษรศาสตร์ และสถาบันภายนอก นางสุปริญา ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ และโล่ประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าผู้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสุปริญา ลุลิตานนท์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒

นางซาฟีนา โกมลตะเมธี (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๓)

ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟของบริษัทโฆษณาระดับนานาชาติหลายแห่ง มีผลงานโฆษณาที่ได้รับรางวัลในระดับประเทศและนานาชาติหลายผลงาน ได้ทำงานด้านประชาสัมพันธ์และบริหารในหน่วยงานเอกชน ได้เป็นผู้บริหาร Standard Chartered Bank Thailand ได้เสนอโครงการ CSR ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล Corporate Social Responsibility (CSR) จากสำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ ได้นำเงินรางวัลจำนวนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐไปสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงา เพื่อทดแทนโรงเรียนที่ถูกทำลายไปจากมหันตภัยสึนามิ ทั้งยังได้ช่วยเหลือสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กๆ ผู้ประสบภัย นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยอีกหลายสมัย

นางซาฟีนา โกมลตะเมธี สนับสนุนและเป็นกรรมการสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลายสมัย ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ ในวาระที่คณะอักษรศาสตร์มีอายุครบ ๙๙ ปี และ ๑๐๐ ปี ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจจัดโครงการต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองอย่างสมเกียรติยิ่ง โดยสนับสนุนและประสานงานจนโครงการต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น จัดทำหนังสือ “อมฤตาภรณ์ อักษรศาสตร์ร้อยปี” ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “สารคดี ๑๐๐ ปีอักษรศาสตร์ จุฬาฯ” เพื่อเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนั้นยังได้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย จัดทำข้อมูลและสื่อสารสนเทศทางออนไลน์ในเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของนิสิตเก่าทุกรุ่น เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบทุนมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และกองทุนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ๑๐๐ ปี

ด้วยความรู้ความสามารถ มีผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่องนางซาฟีนา โกมลตะเมธี เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่นประจำปี ๒๕๖๒

ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๔)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ และ Tufts University สหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับราชการที่กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ อัครราชทูตรองผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็น Congressional Fellow ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ นับเป็นนิสิตเก่าของอักษรศาสตร์คนหนึ่งที่มีความสามารถ ประสบความสำเร็จก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางด้านการทูต และในกระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนไทย เผยแพร่บทบาทและความสำคัญของพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย สนับสนุนมูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว (FORDEC) เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส นายวิชาวัฒน์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย ประถมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฏ เหรียญจักรพรรดิมาลา และรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๔๓

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒