อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

รศ.ดร. เพ็ญศิริ เจริญพจน์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๐)

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศิริ เจริญพจน์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยม อันดับ ๒ แล้วได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาต่อสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ระดับปริญญาตรี โท ที่มหาวิทยาลัย Nancy และปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก จากมหาวิทยาลัย Tours ประเทศฝรั่งเศส เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นอาจารย์รุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัย ได้อุทิศตนให้กับการสอน การดูแลนักศึกษา และการบริหารจัดการหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะ ในฐานะหัวหน้าภาควิชา และคณบดี ได้ร่วมมือกับคณาจารย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ติดต่อทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้นักศึกษาได้ฝึกภาคสนามร่วมกันในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศิริ ได้เดินทางไปสอนวิชาภาษาและวรรณคดีไทย ณ กรุงปารีส เป็นเวลา ๓ ปี ที่คณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สถาบันภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกแห่งชาติ (INALCO) ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในด้านการสอนภาษาต่างประเทศมากกว่า ๙๐ ภาษา สถาบันได้ฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีการสอนภาษาไทยในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และทำโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษากับสถาบัน INALCO ซึ่งรับเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้นักศึกษาของคณะฯ ที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้การขอทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสสะดวกขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศิริ เจริญพจน์ ได้รับอิสริยาภรณ์ Palmes Académiques ชั้นสูงสุดCommandeur และใบประกาศเกียรติคุณบุคลากรทางการศึกษผู้มีผลงานดีเด่นจากรัฐบาลฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ใช้ความรู้ความสามารถและทักษะด้านภาษาฝรั่งเศส สร้างชื่อเสียงให้คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และประเทศไทยอีกมากมาย อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา สำรวจและแปลเอกสารทั้งในประเทศไทยและฝรั่งเศส ครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี กฎหมาย ฯลฯ การจัดเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส “Tout à fait Thaï” (ไทยแท้ๆ) ณ กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2549 ประกอบด้วยการจัดสัมมนาทางวิชาการ ในมหาวิทยาลัย PARIS IV (Sorbonne) การจัดแสดงดนตรีไทยหน้าพระที่นั่ง ณ พิพิธภํณฑ์ GUIMET การจัดการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง ณ โรงละครโอเปร่า ในพระราชวังแวรซายล์ การจัดแสดงศิลปะไทย ภายนตร์ไทย สินค้าไทย เป็นต้น

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศิริ เจริญพจน์ เป็น นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

นางสายเกษม ตรีวิศวเวทย์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๐)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ นางสายเกษมได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาภาษาญี่ปุ่นที่ Osaka University เมื่อกลับมาได้เข้าทำงานด้านเลขานุการที่บริษัท ซิวเนชั่นแนล เซลส์ แอนด์ เชอร์วิส ระยะหนึ่ง ต่อมาได้เริ่มงานธุรกิจของครอบครัวสามีที่บริษัท ช. การช่าง จำกัด ตั้งแต่ร่วมก่อตั้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์ประจำสอนภาษาญี่ปุ่น ที่ภาควิชาภาษา คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อบริษัท ช. การช่างได้ร่วมทุนกับบริษัทก่อสร้างชั้นนำของญี่ปุ่น นางสายเกษม นอกจากจะช่วยงานด้านการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ แล้ว ยังได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งและบริหารงานในบริษัทร่วมทุนโดยเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารนั้นด้วย จึงได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำงานที่ ช. การช่างอย่างเต็มที่ การร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นนี้ ทำให้ ช. การช่างได้พัฒนาศักยภาพในทุกด้านจนเป็นบริษัทที่สามารถรับงานใหญ่ระดับนานาชาติได้ เช่น งานสร้างสนามบิน สะพานแขวน รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้ายกระดับ โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น ปัจจุบัน ช. การช่าง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ นางสายเกษมแม้ไม่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมแต่ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านภาษาในการสื่อสาร การบริหารงาน การประสานงาน การเจรจาต่อรอง จนบริษัท ช. การช่าง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนั้นโครงการช่วยเหลือด้านสังคมทั้งการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการบริจาคเงิน และสนับสนุนด้านต่าง ๆ มากมายอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ก็เป็นอีกหลักการที่นางสายเกษม ได้สร้างและถ่ายทอดในการดำเนินธุรกิจของ ช.การช่างมาจนทุกวันนี้

นางสายเกษม เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเหรัญญิกในคณะกรรมการบริหารสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ได้ช่วยเหลือ สนันสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของทั้งสมาคมฯ และคณะอักษรศาสตร์ทั้งในนามส่วนตัวและบริษัทเป็นอย่างดีเสมอมา

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ที่นำไปประยุกต์ใช้ในสายงานที่ไม่ตรงกับวิชาที่เรียนมาเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสายเกษม ตรีวิศวเวทย์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

ศ.กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๔)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญจบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ภาษาเยอรมัน) เกียรตินิยมอันดับ ๒ และปริญญาโท (ภาษาและวรรณคดีเยอรมัน) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เคยดำรงตำแหนงหัวหน้าสาขาวิชาภาษาเยอรมัน หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตก รองคณบดีฝ่ายวิจัย และศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน ระดับดีเด่น และรางวัลการวิจัย จากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาฯ ปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๑ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาเยอรมันให้ทันต่อความต้องการของสังคมทั้งหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างและพัฒนาหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการแปลและการล่าม ผลิตนักแปลและล่ามอาชีพให้มีคุณภาพระดับสากล โดยมุ่งเน้นให้บัณฑิตสามารถนำภาษาต่างประเทศไปใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ ในการเจรจาทางธุรกิจการค้า ทางการทูต และความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับนานาประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรแรก และหลักสูตรเดียวในประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งได้รับการยอมรับจากสมาคมล่ามอาชีพสากล (AIIC) นอกจากนั้น ยังเปิดสอนวิชาล่ามชุมชนในระดับหลักสูตรประกาศนียบัตร ผลิตบัณฑิตไปรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งตรงกับแนวคิดของภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานที่บรรจุนโยบายภาษาด้านการแปล ล่ามแปลและล่ามภาษามือไว้ในกรอบนโยบายภาษาของชาติ ซึ่งอาจารย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการในการร่างกรอบนโยบายนี้ด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ เป็นผู้อุทิศตนในการสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ อาทิ เป็นประธานจัดงานประชุมนานาชาติในหัวข้อ Translation and Interpretation in a Multilingual Context สำหรับผู้สอนแปลและล่ามในระดับอุดมศึกษา กรรมการบริหารของมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน (เกอเธ่) และ ผลิตผลงานทางวิชาการ ทั้งงานแปล บทความวิชาการ ตำราการสอนและผลงานวิจัยด้านวรรณคดีคลาสสิกและสมัยใหม่ของเยอรมัน ล้วนมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องอย่างสูง

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และด้านต่าง ๆ มีผลงานสร้างชื่อเสียงให้คณะอักษรศาสตร์ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

ศ.ดร. เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๖)

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอก จาก The University of Kansas, Lawrence ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มศว.ประสานมิตร มีผลงานวิจัยองค์ความรู้ใหม่ด้านรูปแบบการสอนและการพัฒนาการรู้หนังสือ ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในโครงการพัฒนาการรู้หนังสือในประเทศไทยด้วยการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (Concentrated Language Encounter Approach) ทำให้เกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาภาษาของคณะศึกษาศาสตร์ มศว.ประสานมิตร และเป็นหัวหน้าคณะวิจัยในโครงการประภาคารการรู้หนังสือ (Lighthouse Literacy Project) จัดวางหลักสูตร ผลิตสื่อการสอน และดำเนินการอบรมบุคลากรแกนนำทางการศึกษา สนับสนุนเงินทุนโดยโรตารีสากล เพื่อพัฒนาการสอนให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบการสอนพัฒนาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาพิเศษ และชนเผ่า มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันระดับประเทศ เป็นแนวปฏิบัติสำคัญในการรณรงค์การรู้หนังสือของโลกปัจจุบัน นำไปปรับใช้ได้กับทุกภาษาในบริบทของวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยได้รับการสนับสนุนจากโรตารีสากล UNESCO, UNICEF และ World Bank เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเทศไทย โดยเป็นกรรมการก่อตั้งศูนย์สันติภาพโรตารี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารโรตารีสากลที่เป็นสุภาพสตรีคนแรกในภูมิภาคเอเชียในปี พศ.๒๕๕๘-๒๕๖๐ ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งจากองค์กรโรตารีสากลให้เป็นทูตส่งเสริมพลังเยาวสตรี (EMPOWERING GIRLS AMBASSADOR) ใน 8 ประเทศของภูมิภาคอาเซียน (ไทย พม่า กัมพูชา ลาว เขมร สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย) ทำหน้าที่ส่งเสริม แนะนำและผลักดันผู้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเด็กหญิงด้อยโอกาสให้มีความหวังและมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารีท้องถิ่น ในด้านการศึกษา การรู้หนังสือ ให้มีทักษะประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปลอดภัยจากความรุนแรงและการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และด้านต่าง ๆ ได้รับรางวัล สร้างชื่อเสียงให้คณะอักษรศาสตร์ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ถนอมนวล โอเจริญ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

นางสวลี ศิริผล (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๐)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ได้เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่ระยะหนึ่งต่อมา ไปทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทางด้านการเผยแพร่ชื่อเสียงและสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้จัดตั้งสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ(TICA) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย ก็ได้เข้าร่วมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริหารมาตั้งแต่ต้นจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการบริหาร(คนที่สอง)ในเวลาต่อมา ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการติดต่อประสานงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ ทำให้กิจการการจัดประชุมนานาชาติของไทยเจริญก้าวหน้า นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

นางสวลีเป็นอาจารย์พิเศษภาคภาษาอังกฤษให้กับสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น สถาบันภาษา จุฬาฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ได้สอนวิชาระบบการจัดการธุรกิจการประชุมและการสัมมนา โดยใช้ความรู้ความสามารถจากการปฏิบัติงานเรียบเรียงตำราวิชาธุรกิจการประชุมซี่งเป็นหลักสูตรส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นการวางพี้นฐานด้านวิชาชีพแก่ผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ MICE อันได้แก่ ธุรกิจการจัดประชุม ธุรกิจการจัดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานองค์การ ธุรกิจการประชุมนานาชาติระดับประเทศและระดับโลก และธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและบริการระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ MICE นี้ เป็นกลไกสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ประเทศไทย ช่วยฟี้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นสินค้าบริการที่ทำรายได้มหาศาลติดต่อกันมาหลายสิบปี

นางสวลีได้เข้าร่วมเป็นกรรมการสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถึง 6 สมัย โดยปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบงานที่สำคัญด้วยความเสียสละ ขยันขันแข็ง ติดต่อประสานงานกับสมาชิกสมาคมและนิสิตเก่ารุ่นต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดี

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ และด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสวลี ศิริผล เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

ศ.กิตติคุณ ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๑)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาปรัชญา ปริญญาโทและปริณญาเอกด้านปรัชญาจากสหรัฐอเมริกา ได้รับราชการที่ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จนเกษียณ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา รองคณบดีฝ่ายวิจัย กรรมการทุนอานันทมหิดล แผนกอักษรศาสตร์ กรรมการนโยบายวิจัย และกรรมการนโยบายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสถาบันเอเซียศึกษา ประธานคณะอนุกรรมการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทั้งนี้หลายตำแหน่งยังคงปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา มีผลงานวิชาการทั้งงานเขียนและงานวิจัยดีเด่นทางด้านปรัชญา ตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย อันเป็นประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ได้รับเชิญจากวงการวิชาการนานาชาติให้ไปบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายประเทศตลอดมา อาทิเช่น Harvard University สหรัฐอเมริกา University of London ประเทศอังกฤษ University of Tasmania ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔

นายธงชัย ชาสวัสดิ์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๗)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ และ Renmin University of China ทางด้านจีนศึกษา ได้เข้ารับราชการที่กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ หัวหน้าสำนักงานกงศุล ณ นครเฉิงตู อธิบดีกรมการกงศุล เอกอัครราชทูต ณ ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ (นักบริหารการทูตระดับสูง เทียบท่าเอกอัครราชทูต) สำนักการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป

โดยที่เป็นผู้มีความรู้ทางด้านภาษาจีนเป็นอย่างดี จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ล่ามภาษาไทย-จีนในการเจรจา/หารือในทุกระดับระหว่างไทย-จีน เมื่อรัฐบาลไทยได้เปิดสถานกงศุลใหญ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายแห่ง ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ไปเปิดสำนักงานกงศุล ณ นครเฉิงตู ซึ่งปีต่อมาได้รับการยกระดับเป็นสถานกงศุลใหญ่ ระหว่างอยู่ที่เฉิงตูได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเฉิงตู เปิดหลักสูตรปริญญาบัณฑิต สาขาภาษาไทย โดยได้เชิญนิสิตเก่าจากคณะอักษรศาสตร์ไปช่วยวางหลักสูตรและได้สอนเป็นเวลา ๔ ปี จนได้รับเกียรติบัตรยกย่องว่าเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติดีเด่น สร้างชื่อเสียงให้กับคณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรนี้เปิดสอนมาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเยาวชน โดยการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเยาวชนไทย-จีน ได้จัดให้นักศึกษาระดับปีที่ ๓ สาขาภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยเฉิงตูมาแลกเปลี่ยนและเรียนภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์เป็นเวลา ๘ เดือน นักศึกษาจีนได้เข้าร่วมประกวดสุนทรพจน์ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จัดขึ้นและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ เป็นการสร้างชื่อเสียงในด้านการเรียนการสอนภาษาไทยให้แก่คณะอักษรศาสตร์ ขณะเดียวกันเมื่อสาขาวิชาภาษาจีนของคณะอักษรศาสตร์จัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญ ๆ ก็ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดีเช่นกัน

นายธงชัย ได้รับราชการด้วยความเอาใจใส่ ทุ่มเท ไม่ว่าจะปฎิบัติงาน ณ ประเทศใด ก็ได้จัดงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนำเสนอประเทศไทยในหลายรูปแบบครอบคลุมมิติต่าง ๆ รอบด้าน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติ และศักยภาพของประเทศไทยทั้งในด้านวัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว นายธงชัย ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญจักรพรรดิมาลา ประถมาภรณ์ช้างเผือก และ มหาวชิรมงกุฏ

ด้วยความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นายธงชัย ชาสวัสดิ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔