อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สดชื่น ชัยประสาธน์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๐)

หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ ๒ และอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาษาตะวันตกแล้ว ได้เริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเมื่อกลับมาจากการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจาก Universite de Haute Bretagne ประเทศฝรั่งเศส ได้มีส่วนในการก่อตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวรรณคดีฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับศิลปะ การแปล การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้ทุ่มเทปฏิบัติราชการในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปะการ รวมเวลาทั้งสิ้น ๔๓ ปี

ตลอดชีวิตการทำงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สดชื่น ชัยประสาธน์ ได้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการหลายประเภทอันทรงคุณค่าแก่วงการศึกษาด้านภาษา ศิลปะ วัฒนธรรมและวรรณคดีฝรั่งเศสในประเทศไทย ได้แก่ ตำรา งานวิจัย งานวิจัยแปล และเรียบเรียงเพิ่มเติมที่เผยแพร่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือแปล บทความภาษาฝรั่งเศส บทความภาษาไทย บทความทางวิชาการแปลจากภาษาฝรั่งเศส เรื่องสั้นแปล นอกจากนี้ ยังให้บริการทางวิชาการโดยเป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สดชื่น ชัยประสาธน์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ประธานหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รองประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร(ชุดก่อตั้ง) กรรมการบริหารสมาคมครูฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย กรรมการบริหารโครงการตำราสังคมและมนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ผู้ประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับทิศทางฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สาขามนุษยศาสตร์ และกรรมการที่ปรึกษาด้านการบริหารของสมาคมฝรั่งเศส-กรุงเทพฯ

จากการทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหและความรอบรู้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สดชื่น ชัยประสาธน์ ได้รับรางวัลระดับชาติ คือรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นสาขาศิลปะและศิลปะประยุกต์ ประจำปี ๒๕๓๗ เรื่องจิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์ในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๒๗ จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาปรัชญา ประจำปี ๒๕๔๑ จากสภาวิจัยแห่งชาติ โล่ที่ระลึกจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ด้วยความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สดชื่น ชัยประสาธน์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

นายอรุณ สัมพันธวิวัฒน์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๓)

หลังจากสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต ได้เริ่มทำงานที่โรงแรมสยาม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ต่อมาลาออกไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโทสาขา International Relations จาก Sophia University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และสาขา Political Science จาก University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำงานที่ Cunningham, Jacob & Associates Consulting และเรียนปริญญาเอกไปพร้อมกัน ต่อมามีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุนทำร้านอาหารไทย แต่เมื่อใกล้กำหนดเปิดร้าน ผู้ร่วมทุนถอนตัวกะทันหัน นายอรุณจึงติดสินใจลาออกจากงานและมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นผู้บริหารและเชฟของร้าน Arun’s Thai Restaurant อย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ หลังจากนั้นเพียง ๒ เดือน ร้านอาหารก็ได้รับรางวัล 3-Stars และ 3.5 Stars ปลายปีแรกได้รับคะแนนเต็ม จาก CH-7 ABC ร้าน Arun’s ได้รับรางวัลอีกนับร้อย รวมทั้งรางวัลระดับสูงสุดของประเทศ เช่น 2000 Best Chef : Midwest และ 5-Diamond Awards

อาหารของร้าน Arun’s เป็น “อาหารผสานศิลป์ เสริมจินตนาการ” แบบคนอักษรศาสตร์ หนังสือพิมพ์และนิตยสารในต่างประเทศมักยกย่องทั้งรสชาติและการจัดอาหารอย่างประณีต รวมทั้งการตกแต่งร้านแบบไทย ๆ ที่ทำให้ลูกค้าชื่นชมและติดใจ นับได้ว่านายอรุณเป็นผู้บุกเบิกสร้างชื่อเสียงให้อาหารไทยและร้านอาหารไทยในระดับนานาชาติ ทำให้อาหารไทยก้าวสู่ครัวโลกอย่างน่าภูมิใจ นอกจากนั้นนายอรุณยังได้ร่วมงานสำคัญต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ เช่น ประธานจัดงาน 2005 Taste of Thailand : Partnership for Life ที่ชิคาโก เป็นงานระดับโลกที่ไม่เคยมีใครจัดมาก่อน มีร้านระดับ ๕ ดาวมาร่วมงาน นายอรุณได้ติดต่อนำคณะนักแสดงจากกรมศิลปากรกว่า ๕๐ คนมาแสดงในงาน

ร้าน Arun’s มีผู้มาชิมอาหารไทยและขอดูงานทั้งที่เป็นดาราฮอลลีวู้ดและเชฟจากหลายรัฐ ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาและบรรยายจากหลายสถาบัน ตลอดจนทำงานเพื่อชุมชนและสังคม เป็นผู้นำในการจัดทำโครงการศูนย์ไทยทาวน์ (Thai Town Center) ดำรงตำแหน่ง President of Thai Restaurant Association, รัฐอิลลินอยส์ บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย และชักชวนมิตรสหายและผู้อื่นให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

นายอรุณมีความสามารถในการใช้ภาษาถึง ๔ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน และ ญี่ปุ่น เคยทำงานสอน เขียนสารคดี และเป็นล่ามแปลในศาล มีผลงานเขียนบทกวี ปกิณกะคดี และเพลงประมาณ ๘๐ เพลง ที่สำคัญคือ กวีนิพนธ์เรื่อง รสถ้อยร้อยวัน รำพันพิลาป เริ่มเขียนเมื่อมีข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ จนครบ ๑๐๐ วันของการเสด็จสวรรคต

ด้วยความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์ และความมุ่งมั่นในการรักษาระดับคุณภาพและสร้างชื่อเสียงของร้านอาหารไทย สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นายอรุณ สัมพันธวิวัฒน์ เป็น นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

นางปิยะพร กัญชนะ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๖)

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ได้ทำงานที่ใช้ความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์คือการทำหนังสือและสิ่งพิมพ์ กล่าวคือได้ทำงานตั้งแต่อยู่ในกองบรรณาธิการจนเป็นบรรณาธิการ และผู้จัดการสำนักพิมพ์เมืองโบราณมาตามลำดับ ซึ่งในการทำงานดังกล่าวมีแนวคิดว่าบรรณาธิการมีหน้าที่ออกแบบและนำแนวคิดในการนำเสนอหนังสือให้ตรงตามผู้เขียนต้องการ และสื่อความหมายให้ชัดเจนกับผู้อ่าน พร้อมทั้งได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าสิ่งที่ปรากฏในหนังสือไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ตัวสะกดและการใช้ภาษาต้องถูกต้อง ภาพประกอบสวยงาม การออกแบบสะอาดตา หนังสือที่อยู่ในความรับผิดชอบในการผลิต จึงได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติเสมอ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์และบรรณาธิการ จากสถาบันหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น ผลงานเด่นอีกชิ้นหนึ่ง คือได้เป็นผู้ประสานงานถ่ายภาพทางอากาศ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งต่อมาได้ใช้ในที่ประชุมศาลโลก ครั้งล่าสุด

นางปิยะพร กัญชนะ มีผลงานในการเขียนหนังสือหลากหลาย เช่น หนังสือสำหรับเด็ก ได้แก่ เขี้ยวขาวกับปุกปุย ปุยฝ้ายผู้มาใหม่ นิทานพี้นบ้าน สยามปกรณัม นวนิยาย เกลียวนที เกี่ยวกับผ้าไทย ได้แก่ บันทึกจับผ้า วันเวลาของผ้าไทย : รัก หวง ห่วง ตามประสา เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้มีโอกาสไปทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทำให้ได้มีโอกาสพบปะคนสำคัญและได้ทำงานหลากหลาย เป็นผู้เขียนสาสน์ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น สำหรับพิธีเปิดทางด่วนเฉลิมมหานครทั้งสองเฟส ทำให้ได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานอันเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

สำหรับผลงานด้านอื่นๆ นั้น จากการอยู่ในแวดวงหนังสือจึงมีโอกาสได้รับเลือกเป็นเลขานุการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนในการผลักดันเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มหนังสือเท่ากับศูนย์ ได้เป็นกรรมการโทรทัศน์ทองคำ(ด้านละคร) ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการทำให้ผู้สมควรได้รับรางวัลได้รับจริง เช่น บทละครโทรทัศน์เรื่อง ในฝัน เป็นที่ปรึกษาของบริษัทซิตี้ นิออน จำกัด จัดทำพิพิธภัณฑ์หอผ้าพี้นบ้านของธนาคารแห่งประเทศไทย น้อมเกล้าถวายแด่พระพันปีหลวง

การทำหนังสือทำให้ต้องเดินทางลงพื้นที่ติดต่อกันหลายปี นอกจากความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมแล้ว ยังได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยอันมีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของภาคต่างๆ ด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สนับสนุนความสำคัญของผ้าไทย ทั้งใช้เองในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องมาเกือบ ๓๐ ปี ทั้งการเก็บสะสมผ้า การจัดเสวนา และการเขียนหนังสือเกี่ยวกับผ้าไทยออกเผยแพร่ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ที่นำไปประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างหลากหลายสาขาและหลายวงการเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางปิยะพร กัญชนะ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๗)

หลังสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม อันดับ ๒ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณได้เข้าทำงานที่กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วไปศึกษาต่อสาขาประวัติศาสตร์ ที่ Southern Illinois University สหรัฐอเมริกา จบกลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาอเมริกันศึกษา ที่ University of Hawaii ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าในฐานะอาจารย์และผู้บริหาร เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ยังทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะเป็นคณบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ ได้สนับสนุนการวิจัยจนคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นับเป็นคณะหนึ่งที่มีความโดดเด่นทางการวิจัยสังคมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการชุดโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เรื่อง “นวัตกรรมทางสังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม สู่สุขภาวะของประชาชน” และ ชุดโครงการวิจัยเรื่อง“จริยธรรมในวิชาชีพ” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เป็นการทำงานร่วมกันของผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาชีพต่าง ๆ ในหลายหน่วยงาน ได้เนื้อหาที่เป็นจริยธรรมในวิชาชีพต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ สร้างองค์ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการที่ยั่งยืนในสาขาอักษรศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ ได้ผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพไปทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ไปถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัย และเป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ด้วยมีผลงานดีเด่นทั้งด้านการบริหารและงานวิชาการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ” ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ได้รับรางวัลสตรีตัวอย่างแห่งปี ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๘ และ ๒๕๖๑ และรางวัล “สิงห์ทอง” จากสมัชชานักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น มหาวชิรมงกุฎ

งานที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณทำเพื่อคณะอักษรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งเป็นกรรมการและวิทยากรในงานทางวิชาการต่าง ๆ เช่น เป็นกองบรรณาธิการวารสาร Manusya : Journal of Humanities ของคณะอักษรศาสตร์ กองบรรณาธิการวารสารเอเชียปริทัศน์ ของสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการบริหารโครงการอเมริกาศึกษาและแคนาดาศึกษา จุฬาฯ วิทยากรบรรยายเรื่อง “วิถีชีวิตของคนอเมริกัน” จัดโดยโครงการอเมริกาศึกษาฯ บรรยายเรื่อง “หมอบรัดเลย์กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย” ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “สองศตวรรษหมอบรัดเลย์” จัดโดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือฯ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และสำนักพิมพ์มหิดล จำกัด(มหาชน)

ด้วยความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วริยา ชินวรรโณ เป็น นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๑)

หลังสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๒ และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทยแล้ว ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งอาจารย์ สาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รับผิดชอบเป็นประธานและบรรณาธิการในการผลิตเอกสารการสอนชุดวิชา ไทยศึกษา ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปในหมวดมนุษยศาสตร์ และเมื่อจบปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม จาก Arizona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาเป็นหลักในการร่างหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษา ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้โอนย้ายมารับราชการที่ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบสอนด้านวิชาคติชนวิทยา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง มีส่วนร่วมในการก่อตั้งศูนย์คติชนวิทยาในคณะอักษรศาสตร์ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยศูนย์คติชนวิทยาคนแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ศูนย์คติชนวิทยาได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายนักคติชนวิทยาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการสัมมนาวิชาการทางด้านคติชนวิทยาในระดับชาติ นอกจากนั้นยังสอนนิสิตทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในหลักสูตรนานาชาติด้าน Thai Studies และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา (Thai Studies Center) ดูแลบริหารการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ MA และ PhD in Thai Studies เมื่อคณะอักษรศาสตร์ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ได้เป็นกำลังหลักคนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตที่แยกออกเป็น ๓ สาขา คือ สาขาภาษาไทย สาขาวรรณคดีไทย และสาขาคติชนวิทยา

ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง ได้ผลิตหนังสือที่เป็นทั้งงานวิจัยและตำราที่ใช้ในการสอนทางคติชนวิทยาที่สำคัญหลายเล่ม ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยเปิดมุมมองให้นักคติชนวิทยาในประเทศไทยทั้งในเชิงทฤษฎีและการวิจัยภาคสนามและเป็นผลงานทางวิชาการที่มีการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง เช่น “ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น : การศึกษาคติชนวิทยาในบริบททางสังคม” (๒๕๓๗) ได้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีผู้ร่วมโครงการวิจัย ๒๐ คน เรื่อง “คติชนสร้างสรรค์ : พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย” ได้ผลิตหนังสือจากโครงการวิจัยนี้ถึง ๖ เล่มซึ่งได้รับการอ้างอิงและนำไปใช้ในการเรียนการสอนทางคติชนวิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง ได้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่นิสิตทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาไทยศึกษา สาขาวิชาวรรณคดีไทย และคติชนวิทยา นับได้ว่าได้ช่วย “สร้างคน-สร้างนักวิจัย” เป็นการสร้างลูกศิษย์ให้ไปเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อเป็นการสืบสานวิชาการที่ได้เรียนรู้จากคณะอักษรศาสตร์ และเป็นการพัฒนาคนให้กับประเทศชาติต่อไป

จากผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ในวงการวิชาการ ทำให้ได้รับการคัดเลือกและได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้เป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูภาษาไทยดีเด่น” จากคุรุสภาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” แห่งคณะอักษรศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็น “ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย” ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖

ด้วยความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

นางปฏิมา ตันติคมน์ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๕)

หลังสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม อันดับ ๒ นางปฏิมา ตันติคมน์ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขา Broadcast & Film Communication ที่มหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานตำแหน่งบรรณาธิการข่าวและควบคุมการผลิตข่าว ที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ ได้นำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ด้วยการยืนรายงานเหตุการณ์จริง ณ เวลาเกิดเหตุผ่านการถ่ายทอดสด ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารฝ่านดาวเทียมรถเคลื่อนที่ขนาดเล็ก และพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลภาพเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ และร่องรอยการค้นหาด้วยระบบดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุด ทำให้สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ ครองตำแหน่งสถานีโทรทัศน์ข่าวอันดับหนึ่งที่มีผู้ชมรายการข่าวมากที่สุดของประเทศ ต่อมาได้ลาออกไปก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนาโปรเฟสชั่นแนล แอคคาเดมี่ ฟอร์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันฝึกปฏิบัติการด้านโทรทัศน์ของเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเสริมทักษะการใช้อุปกรณ์จริงในการทำงานให้กับนักศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรจากของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ได้สร้างแรงงานฝีมือ และพัฒนาการผลิต ถ่ายทำ เขียนบท ให้กับวงการโทรทัศน์ด้วย

ขณะดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทในเครือกันตนากรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ได้พัฒนาธุรกิจองค์กร เช่น การสร้าง Movie Town ให้เป็นสถานที่ถ่ายทำสำหรับผู้สร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดทำโครงการส่งเสริมงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และประชาสัมพันธ์นโยบายสำคัญของรัฐ มากกว่า ๒๐๐ โครงการ รวมทั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์ ITV ที่บริษัทกันตนาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่

ปัจจุบัน นางปฏิมา ตันติคมน์เป็นเจ้าของ ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปฏิมา มีเดีย แอนด์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจด้านการลงทุน ร่วมผลิตและการถ่ายทำในประเทศไทย ทั้งภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ และดิจิทัลคอนเทนต์ทุกรูปแบบและทุกแพลตฟอร์ม ผลงานที่สำคัญ คือ โครงการ Location Thailand ที่ร่วมมือกับภาครัฐ นำนักลงทุนภาคธุรกิจ Media and Entertainment จากทั่วโลก เข้ามาถ่ายทำในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจะใช้บริการด้านการถ่ายทำ ตัดต่อ แอนนิเมชั่น รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องด้านการท่องเที่ยว และบริการอื่น ๆ อันจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve Industry

นอกจากนั้น นางปฏิมา ตันติคมน์ ยังดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา และอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวทางน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางน้ำฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เชื่อมโยงกับเส้นทางเดินเรือยุโรปมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากฝั่งเอเชียตะวันออกมายังประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว

นางปฏิมา ตันติคมน์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องมือสื่อสาร ที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัยในการสร้างความรู้ ข่าวสาร การประกอบอาชีพ การดำเนินงานด้านธุรกิจ และการประชาสัมพันธ์ ได้บูรณาการความรู้ทางอักษรศาสตร์ ในการเป็นอนุกรรมการร่างแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เคยเป็นเลขานุการ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการก่อตั้งสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศไทย) มีบทบาทในการร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ.๒๕๔๓ ตลอดจนเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยากรให้สถาบันต่าง ๆ

นางปฏิมา ตันติคมน์ เคยเป็นกรรมการบริหารและอดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถึง ๒ วาระ ได้จัดกิจกรรมหลากหลายที่เป็นประโยชน์แก่นิสิตเก่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสังคม ทั้งทางวิชาการและการระดมทุนช่วยเหลือทางการศึกษาและผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิท-๑๙ นอกจากนั้นยังเคยเป็นกรรมการอำนวยการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์อีกหลายวาระ จากผลงานที่ทำคุณประโยชน์มากมายทำให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และได้รับเกียรติบัตร ผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาคณะอักษรศาสตร์สู่ศตวรรษที่ ๒ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี คณะอักษรศาสตร์

ด้วยความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์ รวมถึงด้านอื่น ๆ ได้ทำประโยชน์แก่สังคมมายาวนาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศ ยกย่อง นางปฏิมา ตันติคมน์ เป็น นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖

นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ (อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๗

หลังสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ ได้เข้าทำงานในกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท Master of science in Foreign Services ณ Georgetown University สหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาได้กลับมาปฏิบัติงานต่อในกระทรวงการต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศก่อนเกษียณอายุราชการ หลังเกษียณอายุฯ แล้วยังคงเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโส/ผู้เจรจาหลักกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิค (IPEF) ของกระทรวงการต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญประจำวุฒิสมาชิก วุฒิสภา

ในระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูต และ เอกอัครราชทูต ได้มีบทบาทสำคัญหลายวาระ อาทิเช่น การได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจาหลักฝ่ายไทยในการเปิดเจรจา PCA (Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States) คือการเจรจากับประเทศที่อียูใช้ในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อียูมองว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ซี่งมีการเจรจาหลายรอบจนไทยได้ลงนามร่างกรอบความตกลงร่วมฯ กับฝ่ายอียู การเป็นประธานกลุ่ม G77 และวาระ SEP for SDGs ตอนดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ การเป็นประธานกลุ่ม G77 นี้ เป็นครั้งแรกของไทยที่ไทยสามารถนำกลุ่ม ๗๗ ในกระบวนการเจรจาที่สำคัญจนสหประชาชาติรับรองมติและเอกสารผลลัพธ์หลายฉบับ โดยได้นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนได้รับการรับรองในระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม ๗๗ ว่าหลักปรัชญานี้เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals- SEP for SDGs) เป็นต้น

จากการปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะและความรอบรู้ นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ ได้รับการยกย่องเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ Chevalier des Arts et des Lettres จากรัฐบาลฝรั่งเศส (เป็น Director คนแรกและคนเดียวของ Asia-Europe Foundations (ASEF) ที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้จากผลงานใน ASEF) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก และ อิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ

ด้วยความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัด สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่องนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖