สังคมอักษรศาสตร์

กลับหน้าหลักสังคมอักษรศาสตร์

แม่ลูกผูกพัน

วันแม่ปีนี้ สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยากจะชวนชาวอักษรฯ มารำลึกถึงความรักความผูกพันระหว่างคุณแม่คุณลูก ที่ได้เจริญรอยตามกันก้าวเข้าสู่รั้วสีเทา ไม่เฉพาะคุณแม่คุณลูก บางครอบครัว ย้อนไปไกลถึงรุ่นคุณยาย รวมเป็น “สาวอักษรฯ 3 รุ่นในบ้านเดียวกัน” ... หากจะนับกันจริงๆ คู่แม่ลูกอักษรฯ คงมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว น่าภูมิใจเหลือเกิน

โอกาสนี้ เราขอนำเรื่องราวแม่ๆ ลูกๆ มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้สัมผัสความรักความผูกพัน และสายใยแห่งอักษรศาสตร์นี้ด้วยกัน มาดูกันว่าอะไรคือแรงบันดาลให้คุณลูก เจริญรอยตามคุณแม่ คุณค่าใดในความเป็นอักษรศาสตร์ที่คุณแม่หรือคุณยาย ได้ส่งต่อไปยังลูกหลาน รวมทั้งการเรียนการสอน ชีวิตและสังคมภายในคณะฯ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละรุ่น เรามาดูกันว่าแต่ละคู่ แต่ละครอบครัวจะมีอะไรดีๆ มาแบ่งปันกันในวันแม่ โดยจะทยอยนำบทสัมภาษณ์คุณแม่คุณลูกมานำเสนอตลอดเดือนสิงหาคมนี้...

คุณยาย - กาญจนี วินิจฉัยกุล (อบ.3) คุณแม่ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (อบ.34) และ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ (อบ.64) จากคำบอกเล่าของคุณหลาน

แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนอักษรศาสตร์ คุณแม่บอกว่า “บ้านเราปลูกฝังกันให้เรียนอักษรศาสตร์มาตั้งแต่สมัยคุณยายแล้วค่ะ คุณยายมีชื่อเดิมก่อนแต่งงาน ว่าน.ส.ประวิง สุวรรณทัต เรียนอักษรศาสตร์รุ่นที่ 2 แต่ในทำเนียบบัณฑิตใส่เป็นรุ่นที่ 3 ส่วนแม่รุ่น 34 สาวิตารุ่น 64 “สาวถูกปลูกฝังให้ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็ก เพื่อเป็นรากฐานที่จะเรียนต่อทางอักษรศาสตร์ ที่บ้านมีหนังสือเยอะ สาวและน้องหยิบอ่านได้ทุกเล่ม ไม่ต้องกลัวทำยับหรือขาด”

สาวคิดว่า “เหมือนเห็นตัวอย่างทั้งแม่และคุณยาย ทั้งคู่ชอบเล่าให้ฟังเรื่องสมัยที่เรียนคณะอักษรศาสตร์ ก็เลยรู้สึกคุ้นเคยกับคณะนี้มาตั้งแต่เด็ก

คุณค่าความเป็นชาวอักษรฯ ที่แม่ถ่ายทอดสู่ลูก “น่าจะเป็นเรื่องของการชอบอ่านหนังสือ เพราะเห็นคุณแม่กับคุณยายอ่านหนังสือตลอดเวลามาตั้งแต่เด็กค่ะ เราเลยเหมือนอ่านตาม แล้วก็สนุกที่เวลาอ่านอะไรแล้วได้มาคุยเรื่องนั้นกับคุณแม่และคุณยาย อย่างตอนเด็กคุณแม่จะเล่าวรรณคดีเป็นนิทานก่อนนอน ไม่ใช่แค่อ่านให้ฟังเฉยๆ แต่มีการตีความไปด้วย เลยรู้เรื่องรามเกียรติ์มาตั้งแต่เด็ก ส่วนคุณยายก็จะเล่านิทานฝรั่งให้ฟัง ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส”

คุณแม่บอกว่า “ให้คุ้นกับภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็ก ซื้อหนังสือนิทาน สารานุกรมภาษาอังกฤษสำหรับเด็กให้อ่าน อ่านไม่ออกไม่เป็นไร ให้สนใจรูปภาพก่อน แล้วจะค่อยๆ อ่านออกทีหลัง”

อักษรสมัยแม่ต่างจากอักษรสมัยลูกอย่างไร คุณแม่บอกว่า “ไม่ต่าง แม่ใช้ความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษและไทย มาประกอบอาชีพนักเขียน สาวก็ใช้ความรู้ทางวิชาศิลปการละคร เขียนบทโทรทัศน์ เรียนมานำไปใช้ได้คุ้มค่าค่ะ”

สาวคิดว่า “การชอบอ่านอะไรเยอะๆน่าจะยังเหมือนเดิมอยู่ค่ะ สาวรู้สึกว่าเรียนอักษรศาสตร์ทำให้รู้รอบด้าน แค่การที่เราเข้าใจภาษา ชอบอ่านหนังสือ ทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย หาความน่าสนใจในสิ่งรอบตัวได้ง่าย ซึ่งใช้ได้โดยตรงกับงานเขียนที่ทำอยู่ตอนนี้ค่ะ”

สามรุ่นอีกบ้าน - คุณยาย ศรีสว่าง (สุจริต) วงศ์ทองศรี (อบ.9) คุณแม่ รศ.ปิยะวดี (วงศ์ทองศรี) อภิชาตบุตร อบ.37 และ ผศ.ดร.ชนิศา (อภิชาตบุตร) ตันติเฉลิม (อบ.63) ถ่ายทอดโดย รศ. ปิยะวดี อภิชาตบุตร

ดิฉันคิดว่าการที่คุณแม่ (ศรีสว่าง (สุจริต) วงศ์ทองศรี) เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนคณะนี้ด้วย

คุณค่าที่คุณแม่ถ่ายทอดมาให้กับตัวดิฉันก็คือ ความเป็นนักวิชาการผู้รอบรู้ แต่ก็มีสายตาและอารมณ์สุนทรีย์ ชื่นชอบธรรมชาติที่สวยงามทุกรูปแบบ

สมัยคุณแม่ของดิฉัน ขอบข่ายการทำงานของผู้ที่จบทางสายอักษรศาสตร์ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นครู อาจารย์ แต่สมัยดิฉันสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นงานสอนภาษาแต่เพียงอย่างเดียว อาจเป็นเพราะประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น งานหลายสาขาวิชาชีพจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถทางภาษาสูง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการด้านภาษา ดิฉันต้องขอบคุณคณะอักษรศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมผู้เรียนให้เป็นผู้รู้คิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล มีทัศนคติที่กว้างไกล ได้รู้จักพื้นฐานของศิลปะอารยธรรมของทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก ที่ทำให้สามารถเข้าในและยอมรับความคิดอ่านของผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมได้ สิ่งที่ดิฉันได้รับมาจากคณะอักษรศาสตร์ แม้จะไม่ใช่ความรู้เฉพาะทางสายวิชาชีพก็จริง แต่ก็เป็นความรู้ที่เสริมสร้างสติปัญญาและเสริมสร้างศักยภาพเฉพาะตัวให้สูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นในสายวิชาชีพใดๆ ก็ตาม

ดิฉันเป็นข้าราชการบำนาญ สังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี ส่วนลูกสาว (ผศ.ดร.ชนิศา (อภิชาตบุตร) ตันติเฉลิม (อบ. 63) เป็นอาจารย์สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลย ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ และทำงานบริหารเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้านเลขานุการ กิจพิธีการและกิจการพิเศษ

คุณแม่ – รัชนีบูล (พิบูลสงคราม) ปราณีประชาชน (อบ.14) กับลูกสาวคนสวย เพชราภรณ์ อัศวานนท์ (ปู อบ.41) รุ่นคุณแม่กับคุณลูกตัวเลขกลับกันพอดี มาฟังคุณปูพูดถึงคุณแม่กันค่ะ ...

ปูเป็นลูกคนโต ได้ตั้งใจมาตลอดว่าจะต้องเดินตามรอยคุณแม่ แม้ว่าตอนเด็ก ทุกคนจะบอกว่าสวยสู้คุณแม่ไม่ได้ เรียนหนังสือก็อยู่ระดับปานกลาง ก็สู้คุณแม่ซึ่งตอนอยู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยได้ pass 2 ชั้น ไม่ต้องเรียนชั้นป.4 และป. 7 ต่อมาปูก็เข้าเตรียมอุดมและคุณแม่ก็เป็นแรงบันดาลใจว่าให้เข้าอักษรศาสตร์เหมือนคุณแม่ จึงตั้งใจอย่างมาก และก็สามารถเข้าได้เป็นอันดับที่ 50 ของรุ่นที่41 ซึ่งก็ภูมิใจอย่างมาก ส่วนคุณแม่รุ่น 14 ค่ะ

ตอนนี้คุณแม่ไม่ค่อยสบาย ปูก็ไม่ได้ทำงาน ทั้งยังเป็นพี่คนโต เลยมีโอกาสดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด นับเป็นความสุขอย่างมาก ตอนนี้คุณแม่ดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นแล้ว คงจะไปงานของคณะฯ ได้ในไม่ช้า... ขอบพระคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้ค่ะ

งามทั้งคุณแม่ สมประสงค์ ปางพุฒิพงศ์ (ศรียานงค์) (อบ.17) งามทั้งลูกสาว จันทนา ปางพุฒิพงศ์ เซลบีย์ (อบ.47)

การที่แม่เป็นสาวอักษรฯ มีส่วนทำให้อยากเรียนแบบแม่บ้าง เพราะตอนเด็กๆ ช่วงโรงเรียนปิดเทอม ชอบตามเเม่ไปที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่เเม่ทำงานอยู่ เเม่เป็นผู้อำนวยการกองกลาง ที่ทุกฝ่ายต้องมาประสานงานกับกองนี้ มีแฟ้มรอให้แม่เซ็นเป็นตั้งๆ ชอบไปช่วยเเม่เปิดแฟ้ม พอเเม่เซ็นเสร็จ ก็รวบรวมเดินไปส่งอีกโต๊ะ สนุกสนานมาก พอมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเลยอยากเรียนเหมือนเเม่

การที่เห็นเเม่ทำงานทั้งนอกบ้านเเละในบ้าน วิธีที่เเม่ทำงาน ประสานงาน คุยเเละสั่งงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว คำพูด หรือวาจาที่ใช้ เป็นวาทศิลป์ที่ชาวอักษรฯ จะมีพิเศษกว่า โดยเฉพาะการบ้านการเรือน เเม่จะมีวิธีสอนที่ไม่เหมือนใคร สอนด้วยบทกลอน.. สอนด้วยเพลง... และมีประโยคหนึ่งที่เเม่จะพูดตลอดถ้าลูกคนไหนชมตัวเอง “Dog ขี้ Nobody ยก Tail!”

เชื่อว่าสมัยเเเม่ คงยังไม่ค่อยมีผู้หญิงทำงานในตำเเหน่งสูงๆ เหมือนสมัยนี้ เเม้ะเเอบบ่นบ้าง เเต่เเม่ก็อดทน เเละแข็งแกร่งจริงๆ พอเลิกงานกลับบ้าน ก็จะเป็นเเม่บ้านเต็มตัว ดูแลครอบครัวเต็มที่ ไม่เอาเรื่องงานมาให้วุ่นสมองที่บ้านเลย... น่ารักมากๆ มาถึงสมัยลูกก็ยังอดทนและมีเหตุผล เเต่เด็กรุ่นหลานๆ นี้ มักจะไม่อดทนในเรื่องต่างๆ แล้วก็เห็นเปลี่ยนงานกันตลอดเลย

นี่กระมังคือความแตกต่างระหว่างยุคสมัย ... จากคำบอกเล่าจากคุณจันทนา ลูกสาวคนสวยของคุณแม่คนงาม ....

ป.ล. เเม่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ รุ่นเเรก ในฟุตบอลประเพณีที่งดจัดไปหลายปีในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา... ในรูปแม่คือคนซ้ายมือ คนกลางคือ น้าจวงจันทร์ บุรกรรมโกวิทย์ ขวาสุด คุณฤดี ชาคร

พิเศษสุดกับ “ครอบครัวอักษรศาสตร์” คุณแม่ - รศ.ถนอมศรี จ่างตระกูล (อบ.18) อาจารย์เกษียณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คุณพ่อ อาจารย์สิงห์โต จ่างตระกูล (อบ.15 ลาไปศึกษาต่างประเทศ) ผ่านคำบอกเล่าของคุณณิยะดา จ่างตระกูล (อบ.45) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และอุปนายก สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กอักษรฯ จุฬาฯ ทำให้เราคุ้นเคยกับคณะอักษรฯ กิจกรรมต่างๆ ของคณะ คณาจารย์หลายๆ ท่าน รวมทั้งกรรมการ สนอจ. ตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อทำงานให้ สนอจ. อยู่หลายสมัย

จึงไม่น่าแปลกใจเลย ตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เราจะเลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ได้มาอยู่ มาเรียนสมความตั้งใจ

คุณแม่เล่าให้ฟังว่าสมัยคุณแม่เรียนเลือกวิชาเอก ตอนปี 3 และเลือกได้ถึง 4 วิชา ภาษาไทยซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเอก มีเรียนภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาเขมรด้วย ย้ำ! ภาษาเขมร!!!! และในช่วงปี 3 มีอาจารย์ฝรั่งมาสอนวิชาภูมิศาสตร์ นิสิตตกกันระนาว ต้องซ้ำชั้น คุณแม่ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

สมัยที่เรียนจบ งานฉลองรับปริญญาจัดงานที่สวนอัมพร และมีงานเต้นรำด้วย เห็นรูปสมัยนั้น สาวๆ สวยๆ กันทั้งนั้น ใส่กระโปรงยาวบาน เหมือนยุคปริศนากันทุกคน

ในสมัยคุณแม่มีนิสิต ชั้นปีละประมาณ 100 คน ผ่านไป 20 กว่าปี ตอนที่เราเรียน มีนิสิตชั้นปีละประมาณ 300 คน

สมัยคุณแม่ มีผู้ชายเรียนพอสมควรและเป็นผู้ชายจริงๆ สมัยเรามีแทบไม่ถึงสิบ อาชีพของนิสิตที่จบอักษรฯ ในสมัยคุณแม่ ไม่หลากหลายเหมือนนิสิตอักษรฯ สมัยนี้ อาจเพราะมีวิชาเลือกให้เรียนมากมาย และการเรียนต่อในสายสาขาที่แตกต่างออกไป ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดแรงงานของเด็กอักษรฯ กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม... ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ความรู้สึกของแม่-ลูกยังเหมือนเดิม คือความภูมิใจ เมื่อบอกใครต่อใครว่า “เราจบอักษรฯ จุฬาฯ”

คุณหญิงสุภา กิจจาทร (อบ.21) อดีตประธานบริหารมูลนิธิคนตาบอดและพิการซ้ำซ้อน ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการอาสากาชาด เพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก และ ดร.วีรภา กิจจาทร (อบ.55) ปัจจุบัน เป็น คุณแม่ของลูกวัย 6 ขวบและเป็นอาจารย์พิเศษ บรรยายให้กับมหาวิทยาลัย... ถ่ายทอดความรู้สึกโดย ดร.วีรภา กิจจาทร

ดิฉันคิดว่าการที่คุณแม่เป็นสาวอักษรฯ มีส่วนทำให้ลูกเรียนอักษรฯ ด้วยนะคะ เพราะเป็นไปได้ที่ตัวดิฉันเองอาจได้รับอิทธิพลและซึมซับความคิดความอ่าน ความชอบ ตามสไตล์ของสาวอักษรฯ มาจากคุณแม่โดยไม่ทันรู้ตัวค่ะ เริ่มตั้งแต่สมัยเด็กๆ ดิฉันรู้สึกได้ว่าคุณแม่ท่านเป็นคนที่พูดภาษาต่างประเทศเก่ง คุณแม่เป็นที่พึ่งและเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษที่เก่งที่สุดในยามที่ดิฉันมีคำถามเกี่ยวกับการบ้านหรือบทเรียน

ในเวลาที่ครอบครัวเรามีโอกาสได้ไปเที่ยว ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ดิฉันจำได้ไม่เคยลืม ทุกๆ ครั้ง สถานที่ที่คุณแม่มักจะพาเราไปเที่ยวชมคือ พิพิธภัณฑ์หรือปราสาทราชวังที่เก่าแก่! คุณแม่จะทำตัวเหมือนไกด์ มีความรอบรู้ คอยอธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราไปพบเห็นได้เป็นอย่างดี นอกจากท่านจะเล่าให้ฟังแล้ว คุณแม่ยังมีสมุดจดบันทึกส่วนตัวคอยจดคอยเพิ่มเติมรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ลงไปเสมอ คุณแม่จะวางแผนชัดเจนว่าวันนี้เราจะทำอะไร เราควรไปไหนบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องเที่ยว แต่ทุกๆ เรื่อง ในสายตาดิฉัน คุณแม่เป็นนักบริหารจัดการ และนักวางแผนที่ดีทีเดียว นั่นเป็นสิ่งที่ดิฉันรู้สึกตั้งแต่เล็ก

ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว ตอนที่เป็นเด็กนั้น ดิฉันกลับมีความรู้สึกว่า การไปเที่ยวสถานที่แบบนั้น ช่างเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ! เพราะพวกเราพี่-น้อง อยากไปเที่ยวสวนสนุกกันตามประสาเด็กๆ มากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับรู้สึกอยากขอบคุณคุณแม่ที่เคยได้พาเราไปสัมผัส ไปได้ยิน ได้รู้ ได้เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพราะเวลาที่ดิฉันกลับมานั่งเรียนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาอังกฤษ สังคม หรือประวัติศาสตร์ แล้วนึกถึงภาพที่เคยได้ไปพบไปเห็น ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อเราเข้าใจได้ดี เราก็จะรู้สึกสนุกกับการเรียนหนังสือไปด้วย

ดิฉันคิดว่า ลึกๆ แล้วดิฉันคงอยากทำอะไรๆ ให้ได้เหมือนกับคุณแม่ ดิฉันจึงกลายเป็นคนที่สนใจและชอบเรียนด้านภาษา และยังได้เคยมีประสบการณ์ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไปประเทศอังกฤษ เมื่อสมัยยังเรียนชั้นมัธยม (โดยการสนับสนุนของคุณแม่ ให้ลองไปสอบ) ดิฉันทราบว่าคุณแม่จบการศึกษาจากคณะอักษรฯ จุฬาฯ ซึ่งในช่วงที่ดิฉันจะต้องสอบเอ็นทรานซ์นั้น แม้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนก็ตาม คณะอักษรฯ ก็เป็นคณะที่เข้ายากมาก มีคะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นคณะที่เด็กสายศิลป์ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันจะเข้ากัน จะว่าไปแล้วดิฉันเองช่วงนั้นก็มีแอบกลัวว่าจะสอบเข้าไม่ได้ (คงรู้สึกหวั่นใจ เหมือนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่จะกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในขณะนั้น) โชคดีที่ดิฉันได้แรงเชียร์จาก อาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนว่า “เธอน่าจะสอบเข้าได้นะ” เพราะเผอิญตอนนั้นมีผลการเรียนค่อนข้างเรียนดี ฉะนั้น แม้ว่าคุณแม่จะไม่เคยเอ่ยปากตรงๆ ว่า “ลูกจะต้องเรียนคณะอักษรฯ เหมือนแม่นะ!” แต่ดิฉันก็เลือกที่จะสอบเข้าคณะอักษรฯ จุฬาฯ เหมือนคุณแม่ โดยไม่ได้ลังเลใจเลย

ในที่สุด ดิฉันก็ได้เข้าเรียนที่คณะอักษรฯ เหมือนคุณแม่ กล่าวได้ว่าคณะอักษรฯ เป็นคณะที่สอนและให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตามที่เปิดสอนในคณะ ตั้งแต่วิชาภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ ศิลปการละคร ปรัชญา และสาขาอื่นๆ (ซึ่งเราสามารถเรียนทั้งวิชาเอกและโทควบคู่กัน) ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป เหตุและผลของความคิด พฤติกรรมของมนุษย์และสังคมโดยรวมได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การเรียนศิลปการละคร ทาให้เราเข้าใจถึงความคิดของตัวละครในแต่ละตัวว่ามี background มีเหตุการณ์ใดในอดีตที่ส่งผลให้ตัวละครมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ เราต้องตีความตัวละครให้ลึกซึ้ง ซึ่งมันเป็นความเป็นจริงของชีวิต มนุษย์เราทุกคนต่างมีตรรกะ มีที่มาที่ไปของความคิดและการกระทำเสมอ

ดิฉันคิดว่าดิฉันได้รับการถ่ายทอดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์มากขึ้นจากองค์ความรู้เหล่านี้ โดยมีคุณแม่เป็นผู้ที่ค่อยๆ ปูพื้นฐาน และยิ่งตอกย้ำได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อได้มาเรียนที่คณะอักษรฯ และองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์นี้ยังช่วยฝึกให้เราได้เป็นคนละเอียดอ่อน ใฝ่รู้ ใฝ่หาความเข้าใจในมนุษย์ด้วยกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่มีประโยชน์มาก เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของเด็กอักษรฯ ทุกๆ คนไม่มากก็น้อย

องค์ความรู้เหล่านี้ สามารถช่วยปูพื้นฐานที่ดีให้แก่เรา ก่อนที่จะจบการศึกษาไปใช้ชีวิตหรือทำงานร่วมกับคนอื่นๆ คุณแม่ของดิฉันเอง ท่านก็สอนให้พยายามเข้าใจคนอื่นให้มากๆ ให้เป็นคนใฝ่รู้ และรู้จักปรับตัว เมื่อเจอปัญหาต่างๆ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัวหรือในการทำงาน ช่วยทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขในทุกๆ ที่

แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ จากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับว่าบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ของเรา เป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่า เมื่อจบการศึกษาไป ได้เข้าไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ บางคนก็ไปต่อยอดเรียนในสาขาวิชาอื่น และสามารถประสบความสาเร็จในอาชีพการงานได้เป็นอย่างดี

สรุปแล้วดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่มีคุณแม่และเพื่อนๆ ของคุณแม่ที่จบจากคณะอักษรฯ ด้วยกัน เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อนสนิทของคุณแม่บางท่านเป็นเอกอัครราชฑูต (แม้จะเป็นผู้หญิงก็ตาม) บางท่านก็เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งในองค์กรของรัฐและเอกชน ทุกท่านเป็นคนเก่ง เป็นที่รักและยอมรับของลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน ฉะนั้นคุณแม่และอักษรฯ รุ่นพี่อีกหลายๆ ท่านเหล่านี้ จึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้ดิฉันได้ชื่นชมและนำมาปรับใช้เป็นแบบอย่างในการทำงานและการใช้ชีวิตในทุกวันนี้

ในส่วนของความแตกต่างของอักษรฯ สมัยแม่กับสมัยลูกนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย และการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ถ้าอ้างอิงกับยุคสมัยของการเกิด คนรุ่นคุณแม่ เป็นยุคที่เรียกว่า “Builders” ปัจจุบัน คุณแม่อายุ 85 (คุณแม่ อบ.21) ยุคสมัยของดิฉัน (อบ.55) ห่างกับคุณแม่ 30 กว่าปี ถูกเรียกว่าเป็นเด็กยุค Generation-X และรุ่นน้องต่อๆ ไปจนถึงปัจจุบัน ก็เป็น Gen-Y, Millennial, Gen-Z จนถึง Gen Alpha ตามลำดับ แล้วแต่จะบัญญัติกันไป

จะเห็นได้ว่าในแต่ละรุ่นก็จะมีความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเข้ามา ช่วยทำให้ชีวิตของคนแต่ละรุ่นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ตามมา เช่น สมัยคุณแม่ยังไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารใช้กันเลย คุณแม่เล่าว่า นิสิตรุ่นคุณแม่ หากอยากได้บทเรียนอะไรจากตารำห้องสมุด ก็ต้องใช้มือนั่งคัดนั่งลอกมาจากหนังสือกันเอง ส่วนสมัยของดิฉันมีเครื่องถ่ายเอกสารแล้ว และเริ่มรู้จักกับมือถือยุคแรก แม้จะเริ่มต้นด้วย “รุ่นกระติกน้ำ” ก็ตาม ปัจจุบันนิสิตนักศึกษามีโทรศัพท์มือถือใช้กันทุกคน และสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตกันแบบ Anywhere Anytime ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยทำให้คนรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ได้รวดเร็วและมากขึ้นแบบ “ไร้ขีดจากัด” ซึ่งสะดวกสบายขึ้นกว่าคนยุคก่อนๆ มาก เมื่อเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอ ก็ช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ๆ มีลักษณะการใช้ชีวิตและแบบแผนการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น เขาจะมีลักษณะเป็นคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีกรอบความคิดและเห็นเป้าหมายของตนเองได้ชัดเจนและเร็วกว่าคนรุ่นก่อน อีกทั้งเรื่องความจำเป็นที่ต้องอดทนรอสิ่งต่างๆ ก็น้อยลง ไม่เหมือนคนรุ่นคุณแม่หรือคนรุ่นก่อน และเนื่องจากมนุษย์เรามีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและติดต่อกันได้ทุกที่และทุกเวลานี่เอง จึงทำให้รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ มีความแตกต่างและมีทางเลือกได้มากขึ้นเช่นกัน ในสมัยก่อน คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่มักนิยมทำงานในที่ที่มีสังกัด เช่น เข้ารับราชการ เป็นครูบาอาจารย์ หรือไม่ก็ทำงานกับหน่วยงานเอกชนที่มีความมั่นคง แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่มักนิยมทำอาชีพอิสระ ทำงานส่วนตัว เป็นฟรีแลนซ์ ไม่ต้องมีออฟฟิศนั่งประจำ หรือนิยมเปิดบริษัทขายของทางออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และเป็นเทรนด์ที่กาลังมาแรงในสมัยนี้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ความแตกต่างด้วยเรื่องวัยที่ห่างกัน และด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเหล่านี้ คงไม่ใด้สะท้อนให้เห็นแค่เพียงรุ่นแม่-รุ่นลูก หรือรุ่นพี่-รุ่นน้องในคณะอักษรฯ เราเท่านั้น แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันทั้งสังคม ทั้งโลก ที่เราต้องยอมรับและปรับตัวให้เท่าทัน ... แต่ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อมหรือสังคมและการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปเพียงใด ดิฉันคิดว่าพวกเราชาวอักษรฯ ที่ได้ถูกหล่อหลอมมาจากสถาบันเดียวกัน ต่างมี “เนื้อแท้” แก่นองค์ความรู้เดียวกัน (แม้ว่าอาจจะมีสิ่งที่เปลี่ยนไปตามรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง) และยังสามารถคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาวอักษรฯ จากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดีค่ะ

จากความทรงจำของคุณแม่ สู่ความประทับใจของลูกสาว...
อาจารย์นวลจันทร์ พงษ์สิทธิผล (นิงสานนท์) อบ.23 และคุณพรรณสินี ประดับศรีเพชร (พงษ์สิทธิผล) อบ.55

ดิฉันมีความรู้สึกผูกพันกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่อายุ 15-16 ตอนเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนศึกษานารี เพราะศรัทธาในบุคลากรของโรงเรียนหลายท่านอย่างเช่น อาจารย์ใหญ่ สมัยสวาท พงศทัต อาจารย์ภัทรศรี อนุมานราชธน และอาจารย์พงษ์ศรี วิทยานนท์ ที่ล้วนแล้วแต่จบ อบ. จุฬาฯ มีความรู้แน่นเปรี๊ยะ

แล้วพอไปเรียนเตรียมอุดมฯ ก็ยิ่งได้ความรู้ทางวิชาการเข้มข้นขึ้น จำได้ว่าอาจารย์นิรันดร์ นวมารค มือหนึ่งในการสอนภาษาไทย ท่านเคี่ยวเข็ญนักเรียนในเรื่องการแต่งกลอนและโคลงสี่สุภาพเป็นประจำจนดิฉันได้ยินเสียงสัมผัสกลอนแปดแบบสุนทรภู่อยู่จนทุกวันนี้

เมื่อจบ ม. 8 เข้ามหาวิทยาลัย เปิดประตูโรงเรียนเตรียมฯ เดินเข้าไปนิดเดียวก็ถึงตึกเรียนคณะอักษรฯ ด้านที่อยู่หลังหอประชุม ยืนมองอาคาร 2 หลังนี้ด้วยความทึ่งเพราะดูขลังจังเลย

ดิฉันเป็น อบ. รุ่น 23 เรียนจบแล้วย้อนกลับไปมองดูภาพบรรยากาศเก่าๆ ก็พบว่าสมาชิกที่เป็นเชื้อพระวงศ์มาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายท่าน ในคณะอักษรศาสตร์เราได้เรียนกับ ม.จ. ขจรจบเกียรติคุณกิติยากร ท่านแต่งสูทสีเนื้อขับรถจี๊บมาสอนหนังสือทุกครั้ง

แล้วก็มีอาจารย์พระองค์หนึ่งที่นิสิตจะต้องตั้งใจฟังที่สุดเวลาเข้าเรียน คือ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรฯ ท่านถือหนังสือภาษาอังกฤษอ่านกลอนจากงานของเชคสเปียร์อย่างซาบซึ้ง ออกท่าทางตามอารมณ์ของเนื้อหาอย่างสนุกสนานหรือเศร้าสร้อยอยู่พระองค์เดียวในห้องเลคเชอร์ นิสิตเงียบกันทั้งหมดเพราะฟังภาษาอังกฤษโบราณไม่รู้เรื่องเลยสักคน แต่เราภูมิใจที่ได้เรียนกับเจ้านายชั้นสูงท่านนี้

และที่สุดของที่สุดก็คือ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงมีพระเมตตาเสด็จมาสอนวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นิสิตปี 4 ตอนนั้นดิฉันอยู่ปี 3 แต่มีโอกาสถวายงานท่านนิดหนึ่งตรงที่ได้รับมอบหมายให้ไปคอยรับแฟ้มเตรียมการสอนจากท่านเมื่อท่านลงจากรถ แล้วเดินตามท่านไปถึงห้องทรงงาน เสร็จแล้วดิฉันถือโอกาสโดดเรียนวิชาของตัวเอง แอบไปเรียนกับท่านหลังห้องของพี่ปี 4 ท่านเตรียมการสอนอย่างดีมาก ตรัสภาษาฝรั่งเศสไพเราะ ฉลองพระองค์แบบอาชีพครู แต่งพระพักตร์เป็นธรรมชาติ พระฉวีเนียนเกลี้ยงเกลา ทรงพระสิริโฉมสุดๆ ดิฉันไม่ได้ฟังท่านสอนเท่าไร เพราะมัวแต่นั่งจ้องทุกอิริยาบทของท่านจนจบชั่วโมง

นับเป็นการโดดเรียนที่ดิฉันภูมิใจอย่างยิ่ง!!!

ดิฉันเล่าเรื่องราวต่างๆ สมัยที่เป็นนิสิตให้ลูกสาวฟังเป็นระยะๆ เป็นเกร็ดเล็กๆ ที่สะสมมโนภาพของลูกให้ “อิน” กับบรรยากาศในตึกอักษรฯ เราทั้งสองคนมีความศรัทธาในคำ 2 คำ คือ “สถาบัน” และ “อาจารย์” ในทุกช่วงเวลาของการศึกษา

ลูกสาวดิฉันมีอาจารย์ภาษาเยอรมันที่เขาชื่นชมมากหลายท่าน เรียนจบ อบ. รุ่น 55 แล้วทำงานสายการบิน Lufthansa ตำแหน่ง Flight Manager เมื่อสามีไปทำงานต่างประเทศ จึงลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกสาวที่ต้องดูแลใกล้ชิด ขณะนี้เป็นพนักงาน ขสมก. (ขอสามีกิน) เต็มตัว!

นวลจันทร์ (นิงสานนท์) พงษ์สิทธิผล

เมื่อครั้งที่ดิฉันยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ดิฉันเลือกเรียนสายศิลป์ ภาษา และมีความฝันว่าจะต้องสอบเข้าเรียนคณะอักษร จุฬาฯ เหมือนคุณแม่ให้ได้ เราสองแม่ลูกมีความชอบและความถนัดทางด้านภาษาเหมือนกัน จะต่างกันตรงที่คุณแม่เลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส ส่วนดิฉันเลือกเรียนภาษาเยอรมัน

คุณแม่เคยเล่าเรื่องราวต่างๆ เมื่อครั้งเป็นนิสิตอักษรฯ ให้ดิฉันฟังอยู่บ่อยๆ นั่นคงเป็นความประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันอยากเดินตามรอยแม่โดยไม่รู้ตัว เรียกได้ว่า แม่คือ “ไอดอล” ตัวจริงของดิฉันนั่นเอง

หลังจบการศึกษา คุณแม่ได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ในโรงเรียนมัธยมต่างๆ คือ โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนเกษียณอายุ มีลูกศิษย์ลูกหาเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพต่างๆ มากมาย

ส่วนตัวดิฉันเองได้ทำงานกับสายการบิน Lufthansa เป็นเวลา 15 ปี ได้ใช้ความรู้ภาษาเยอรมันที่เรียนมาในอาชีพการงานอย่างเต็มที่เช่นกัน

พรรณสินี (พงษ์สิทธิผล) ประดับศรีเพชร

คุณแม่ - รัศมี วานิชอังกูร (อบ.26) และลูกสาวคนสวย คุณนุสบา ปุณณกันต์ (อบ.58)

ขอถวายพระพรชัยมงคล พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า นางรัศมี วานิชอังกูร
ข้าพระพุทธเจ้า นางนุสบา ปุณณกันต์

จากใจคุณแม่…

ขอขอบคุณสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ฯ ที่ให้เกียรติเลือกดิฉันและลูก เป็นแม่ลูกคู่อักษรฯ เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ปี 2562

หลังจากจบอักษรฯ ได้เข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสบการณ์ของชีวิตจากการรับราชการได้ตระหนักกับตนเองว่า การเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตของเรา สามารถต่อยอดที่จะเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ในหลากหลายสาขา ด้วยความรู้พื้นฐานในสาขาต่างๆ ความสามารถในการใช้ภาษา ชาวอักษรฯ สามารถยืนอยู่ในระดับแนวหน้าได้ไม่แพ้ผู้ที่อยู่ในสาขาอื่นๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจให้ลูกได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์เหมือนตนเอง อีกส่วนหนึ่งมาจากความสมัครใจของเจ้าตัวเองที่ชอบเรียนภาษา

คุณค่าของชาวอักษรฯ ที่แม่ถ่ายทอดให้ลูกคือ ชาวอักษรฯ ต้องเลิศในวิชาการ จึงสนับสนุนให้ลูกได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาการบริหารจัดการทางวัฒนธรรม ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถนำวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน การสื่อภาษาต่างประเทศที่สมาร์ทและคล่องแคล่วสมเป็นชาวอักษรฯ นอกจากนั้น คุณค่าของชาวอักษรฯ ที่แม่ถ่ายทอดให้ลูก คือ ให้ลูกมีคุณธรรมในการครองชีพและครองเรือน ยึดมั่นในอุดมคติมากกว่าวัตถุนิยม จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน รักธรรมชาติ มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น กตัญญูรู้คุณบิดามารดา สืบทอดและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เป็นคนดีของสังคม สมเป็นชาวอักษรฯ ที่มีคุณค่า

สาวอักษรฯ สมัยแม่ใช้ชีวิตประจำวันตามยุคตามสมัย ทันต่อเหตุการณ์เสมอ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด อาจเป็นด้วยอาชีพรับราชการ จึงรู้จักมัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย เมื่อมีลูกก็ชอบสอนหนังสือลูกทุกคืน ตามสไตล์ชาวอักษรฯ ที่ชอบสอน ชีวิตการทำงานก็ยึดหลักขยัน อดทนและซื่อสัตย์ เพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบัน

สาวอักษรฯ สมัยลูก...

คุณค่าของการเรียนวิชาของคณะอักษรศาสตร์ ดิฉันได้นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง คือการนำความรู้ความชำนาญในการเขียน การอ่าน การพูดภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ทำให้ทุกวันนี้มีความมั่นใจในการสื่อสาร พูดด้วยไวยากรณ์ที่ถูกต้องและรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ชาวต่างประเทศมักจะประหลาดใจว่าเราได้เรียนภาษาต่างประเทศในประเทศไทยเท่านั้น แต่สื่อสารได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา อย่างน้อยเขาก็เห็นว่าคนไทยไม่ได้ไม่มีความรู้ทางภาษาต่างประเทศ ในส่วนของวิชาชีพทางการแสดง อักษรศาสตร์ทำให้ดิฉันเป็นนักวิเคราะห์ที่ดีเมื่อต้องกระทำการสิ่งใดในด้านการอ่านการตีความในบทบาททางการแสดง หลายครั้งที่ดิฉันต้องใช้ทักษะในการตีความ เพื่อวิเคราะห์ตัวละคร บทละครและถ่ายทอดออกมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางการแสดงที่ลึกซึ้งมากกว่าปกติ

ประโยชน์ของการเรียนอักษรศาสตร์ในทางอ้อม คือการนำไปใช้ในศาสตร์วิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพใด ก็สามารถทำได้ดีไม่แพ้กับการเรียนในวิชาชีพนั้นๆ โดยตรง เพราะอักษรศาสตร์ เป็นวิชาที่ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ลึกซึ้ง เฉียบคมในสิ่งที่ทำ ด้วยหลักวิชาการและผ่านการกลั่นกรองทางความคิดอย่างละเอียดรอบคอบในทุกๆ เรื่อง

ขอบคุณคณะอักษรศาสตร์ ที่ทำให้ดิฉันเป็นดิฉันได้ในทุกวันนี้

คุณแม่ – อาจารย์จิตปรานี จิตรใจ (อบ.25) กับคุณลูกที่ไม่ค่อยเหมือนแม่ ยกเว้นแต่ “ความเป็นอักษรฯ” - คุณณัฐวดี จิตรใจ (อบ.51)

แรงบันดาลใจให้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือคะ?

คงต้องมาตั้งใจนึกดูค่ะ เพราะมันผ่านมาตั้ง 30 กว่าปีแล้ว ... แม่ของปอมเรียนจบจากที่นี่ (ล่วงหน้าไปก่อนแค่ 26 ปีเท่านั้น!) แม่ก็น่าจะต้องการให้ลูกเจริญรอยตามกระมังคะ แต่เท่าที่จำได้ แม่ไม่เคยเคี่ยวเข็ญให้ต้องมาเรียนที่นี่ ปอมเพียงแค่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ มีความสนใจและตั้งใจเรียนมากกว่าวิชาอื่น จึงทำคะแนนได้ดี แล้วสมัยนั้นคนที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษจะอยากไปเรียนที่ไหนล่ะคะ นอกจากที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อันโด่งดังและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของประเทศในด้านการเรียนภาษาต่างประเทศ และนั่นก็เป็นจุดหมายปลายทางเดียวเท่านั้นที่ปอมต้องการไปให้ถึง

เมื่อได้เข้าไปเรียนที่คณะอักษรฯ แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบรรยายให้ใครฟังได้เลยว่าเป็นอย่างไร มีเพียง “พวกเรา” เท่านั้นจริงๆ ที่จะเข้าใจ แต่ที่แน่ๆ คือ มันเป็นช่วงเวลา 4 ปีที่ดีที่สุด ที่ปอมมีความสุขที่สุดในชีวิต

ถึงจะเรียนจบมากว่า 30 ปีแล้ว ความขลังของการเป็น “อักษรฯ จุฬาฯ” ก็ไม่จางหายไปแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผู้คนจะให้เกียรติ ยกย่อง ชื่นชม และเกรงขาม (อาจจะระคนความหมั่นไส้) ถึงแม่จะไม่เคยบังคับ แต่นั่นอาจเป็นเพราะแม่เห็นว่าไม่จำต้องต้อง “บังคับ” ก็ได้ ความจริงแม่กับปอมไม่ค่อยมีอะไรที่เหมือนกันนัก แต่ในตัวปอมมี DNA ของแม่อยู่ครึ่งหนึ่ง ก็คงต้องยกเครดิตให้แม่ไปเต็มๆ ล่ะค่ะ ที่ส่งผล (โดยไม่รู้ตัว) ให้ปอมได้พบกับช่วงชีวิตที่แสนสุขของการเป็น “ชาวเทวาลัย”

ปัจจุบันปอมทำงาน ในตำแหน่ง Tourist Officer ประจำ "ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว" มีหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจ (ทั้งตำรวจท่องเที่ยวและตำรวจหน่วยอื่นๆ ที่ร้องขอมา) ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็คือ ล่ามแปล นั่นเองค่ะ ในที่ทำงานปอมจะมีล่ามภาษาหลักๆ ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ส่วนหน่วยอื่นอาจมีภาษาอื่นๆ ด้วย เช่น เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย

"ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว" ก็คือ โรงพักของคนต่างชาตินี่เอง ไม่ว่าจะมาร้องเรียนเรื่องอะไร เราก็จะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าเกินขอบเขตอำนาจ เราจะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับเรื่องต่อไป สถานทูตต่างๆ ในไทยจะพอใจมากค่ะที่มีหน่วยงานของตำรวจไทยคอยดูแลนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแบบนี้

ล่ามแปลต้องไปเข้าเวรยามพร้อมๆ กับตำรวจเลยนะคะ ทำงานด้วยกันตลอด ถ้าไม่มีพวกปอม ตำรวจก็ลำบากค่ะ เพราะตำรวจจะรู้ภาษาอังกฤษแค่พื้นๆ ถ้ามีเคสที่ยุ่งยากซับซ้อน ก็จำเป็นต้องอาศัยทั้งภาษาอังกฤษขั้นสูงกว่า ทักษะ ประสบการณ์ และจิตวิทยา ควบคู่กันไปค่ะ

คุณแม่ - รศ.สุภัทรา อักษรานุเคราะห์ (อบ.25) และคุณร้อยกรอง ตุลานันท์ (อบ.56) ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกของ “แม่-ลูก” อักษรฯ ได้ซาบซึ้งยิ่งนัก

คำพูดที่ว่า “แม่เป็นสาวอักษรฯ ทำให้ลูกเลือกเรียนอักษรฯ” อาจไม่จริงสำหรับหลายครอบครัว แต่เป็นจริงสำหรับครอบครัวของเรา “แม่-ลูก” คุณแม่ - รองศาสตราจารย์สุภัทรา อักษรานุเคราะห์ ข้าราชการเกษียณอายุ ภาควิชามัธยมศึกษา (การสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ.2500 เลือกวิชาเอก ภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาฝรั่งเศส เมื่อมีครอบครัวแล้วลูกยังเล็ก คุณแม่เล่าว่าได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ ผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นคุณยายของคุณแม่ คุณแม่จึงภูมิใจที่เรียนจบจากที่นี่ เมื่อลูกสาวคนโตเกิดก็ตั้งชื่อว่า “ร้อยกรอง” หลายปีต่อมาคุณแม่พบว่า ด.ญ. ร้อยกรอง ชอบและเหมาะสมที่จะเรียนศิลป์ภาษาเช่นเดียวกับคุณแม่ จึงให้การสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ลูกสาวยังซึมซับความรู้และแนวคิดจากอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทุกท่านที่เป็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวอักษรฯ-ชาวครุฯ ของคุณแม่ เมื่อ พ.ศ.2531 ลูกสาวก็สอบเทียบและเข้าเป็นนิสิตปีหนึ่งคณะอักษรฯ ตลอดจนได้เลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทประวัติศาสตร์ แล้วเราแม่-ลูกก็ได้คุยกันถึงเรื่องบรรยากาศที่เหมือนและต่างกันที่คณะฯ คุยกันถึงอาจารย์ที่เคารพรักหลายท่านที่สอนเราทั้งคู่มา

คุณค่าที่คุณแม่ซึ่งเป็นชาวอักษรฯ ถ่ายทอดสู่รุ่นลูก คือความภูมิใจที่เราแม่-ลูกเป็นชาวจุฬาฯ มีเลือดสีชมพู และสวมชุดนิสิตมีตราพระเกี้ยวเหมือนกัน สุดท้ายเป็นบัณฑิตจากคณะเดียวกัน ส่วนการได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรฯ ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาภาษา วรรณคดี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์นั้น หล่อหลอมให้แม่-ลูกมีหัวใจที่เป็นสีเทาเหมือนธงเทาของคณะ ธงสีเทาปลิวไสวอยู่ในใจทุกวันเพราะเราคิดเสมอว่าสีนี้ช่างเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย แต่ดูสุภาพมากในทุกโอกาส เปรียบเสมือนชีวิตจิตใจของทุกๆ คน ซึ่งพื้นฐานแล้วแม้จะมีสีขาว แต่โดยธรรมชาติลมจะพัดฝุ่นควันหรือเมฆหมอกเข้ามาใส่บ้างไม่มากก็น้อย ทำให้เกิดเป็นสีเทา ธงสีเทาของคณะฯ สามารถย้ำเตือนเราได้ว่า คนเราจะมีจิตใจที่สีขาวสะอาดหรือดำสนิทนั้นเป็นไปได้ยาก ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และในชีวิตจริงเมื่อเราอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร เราก็แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นสีขององค์กร แต่เลือดยังเป็นสีชมพู หัวใจก็ยังเป็นสีเทา

คุณค่าที่ส่งต่อมานั้น เราแม่-ลูกคิดว่ามันคือ “วิชาชีวิต” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สอน เพื่อให้เห็นความจริงทุกยุคทุกสมัย สำหรับการทำงานทุกวันนี้ ถ้าเรานึกอยู่เสมอว่า ทุกคนที่จริงแล้วมีเฉดของสีเทาในจิตใจ ซึ่งอาจจะอ่อนหรือเข้มกว่ากันได้ เราจะยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ความคิดเห็นและการแสดงออกก็แตกต่างกันได้ ชาวอักษรฯ จะเข้าใจดีว่าชีวิตคนเรามีประสบการณ์และปัจจัยพื้นฐานรอบตัวที่ต่างกัน พวกเราคงจะหวนนึกถึงวันเก่าๆ ที่อาจารย์ทุกท่านในคณะอักษรฯ สอนให้เราเรียนภาษาทั้งไทย-เทศ พร้อมๆ กับพิจารณาความจริงให้ถ่องแท้ในเรื่องของปัจจัยพื้นฐาน สังคม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของตัวละครในวรรณคดี นิยาย หรือบทละครนั้นๆ จนสามารถเข้าใจลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่สะท้อนออกมาของตัวละครได้อย่างมีเหตุผลและเป็นกลาง เราจึงเชื่อเสมอว่าวิชาชีวิตของคณะฯ หล่อหลอมให้เรามีพื้นฐานจิตใจที่เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ง่าย มีความสุภาพ อ่อนน้อม ให้เกียรติและรับฟัง ตลอดจนมีน้ำใจให้กัน รู้จักที่จะให้ รวมถึงให้อภัย ซึ่งจะทำให้สังคมของเราสงบสุขและผู้คนร่วมงานกันได้อย่างดี เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้นำวิชาความรู้ของคณะฯ มาใช้ประจำวันพร้อมๆกับได้ตอบแทนพระคุณคณาจารย์ สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรที่เราเราทำงานอยู่ด้วย

ร้อยกรอง ตุลานันท์ ทำงานที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีรุ่นพี่รุ่นน้องชาวอักษรฯ อยู่มากมาย บางคนรู้จักกันมาก่อน บางคนเพิ่งมารู้จักกันในที่ทำงาน บางคนฝากความคิดถึงให้คุณแม่เวลาที่คุยกัน ร้อยกรองเคยสอนภาษาอังกฤษนักบินเป็นเวลา 15 ปี จึงย้ายมาทำงานเขียน newsletter ให้กับกองข่าวสารและเอกสารการบิน ฝ่ายนิรภัยปฏิบัติการบินได้ 4 ปีแล้ว ในฐานะรุ่นน้องคณะของคุณแม่ ลูกสาวเห็นคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านการสอนภาษาหรือการเขียนหนังสือ จึงต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า เนื้อหาของงานนิรภัยปฏิบัติการบินนั้นเฉพาะทางมากๆ ค้นคว้าได้ แต่อ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงต้องขอความกระจ่างจากผู้รู้อยู่เสมอ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะนักบิน-ลูกเรือทุกคนในฝ่ายฯ ที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนทุกครั้ง

มุมมองจากคุณแม่ – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ (อบ.26) และทัศนะของคุณลูก - อาจารย์นพีสี เรเยส (อบ.50)

คุณแม่ : ไม่ได้คิดไว้แต่แรกว่าจะให้ลูกเรียนอักษรฯ เพราะลูกชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้นคณะศิลปกรรมศาสตร์ยังไม่ได้เปิดสอนด้านดนตรี ลูกเลยเรียนอักษรศาสตร์ควบคู่ไปกับเรียนดนตรีจากภายนอก อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกเลือกเรียนวิชาศิลปะการละครเป็นวิชาเอก รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ถูกอัธยาศัยยิ่งนัก การเรียนในคณะอักษรศาสตร์มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกมีทักษะในการใช้ภาษา รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ โดยเฉพาะในการทำงานสร้างสรรค์ ตลอดจนการทำงานที่ต้องศึกษาค้นคว้าเมื่อต้องสอนในมหาวิทยาลัย”

คุณลูก : การที่แม่เป็นสาวอักษรฯ อาจมีผลบ้างแต่ไม่ทั้งหมดที่ทำให้ลูกเรียนอักษรฯ ด้วย จริงๆ แล้วตอนนั้นอยากเรียนดนตรี แต่สถาบันที่สอนดนตรียังมีจำนวนน้อยมาก จึงตัดสินใจเรียนอักษรศาสตร์ตามแม่ และตามคำแนะนำว่า “อักษรศาสตร์เป็นพื้นฐานที่ดีในการไปต่อยอดทุกสาขา”

คุณค่าของการเป็นชาวอักษรฯ ที่แม่ถ่ายทอดให้ คือเรื่องภาษา ความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ได้จากแม่มาเต็มๆ เลย แม่ชอบเล่าให้ฟังถึงวรรณกรรม วรรณคดี และนิทานต่างๆ แม่ยังช่วยอ่านงาน ติชมและแก้ไขการเขียนภาษาไทยเวลาทำงานทุกประเภท ไม่ว่างานวิชาการหรืองานประเภทสร้างสรรค์ แม่ปลูกฝังให้รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ซื้อหนังสือหลากหลายประเภทมาให้อ่าน ปัจจุบันแม่เกษียณจากคณะอักษรศาสตร์มาได้เกือบ ๒๐ ปีแล้ว แต่ยังชอบอ่านชอบเขียน ชอบทำงานค้นคว้าอยู่ แม่เป็นราชบัณฑิตประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ลูกจบอักษรฯ แล้วต่อปริญญาโทด้าน Music Education จาก Illinois University (Urbana-Champagne) และด้าน Educational Theatre จาก New York University ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาขับร้องปฏิบัติ (ละครเพลง) และมีผลงานสร้างสรรค์ประเภทละครเพลง เช่น อินจันเดอะมิวสิคัล พญากงพญาพานเดอะมิวสิคัล ในความทรงจำเดอะมิลสิคัล Amelia, the Musical, และ Nil’s Vision, the Musical

คุณแม่ รองศาสตราจารย์ มธุรส (ไชยพรรค) วิสุทธกุล อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อบ.28) และคุณลูก วิภาสิรินทร์ วิสุทธกุล อดีตอาจารย์สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบ.61) ปัจจุบันทำงานในฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของหน่วยงานรัฐ

นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯทุ กคน มีความภาคภูมิใจในคณะของเราอย่างไม่มีวันลบเลือน พวกเราเรียนรู้ที่จะชื่นชมซาบซึ้งสุนทรีย์ในชีวิตทุกด้าน ด้วยการอบรมบ่มเพาะจากต้นแบบอาจารย์ของเราในคณะอักษรฯ และ องค์ความรู้ ที่ส่งผ่านต่อๆกันมา จากรุ่นสู่รุ่น บ้างก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง บ้างก็เป็นรุ่นคู่แม่-ลูกเช่นคู่ของดิฉัน กับลูกสาว เราภูมิใจในความเป็นนิสิตอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

การที่แม่เรียนอักษรฯจึงปลูกฝ้งถ่ายทอดให้ลูกเห็นคุณค่าของภาษา และรักการอ่าน เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงาน"ชั้นครู" ดังที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ชาวไทยและต่างประเทศที่คณะอักษรฯ มาเป็นแบบอย่างในการดำรงตน สร้างค่านิยม แนวคิด และวิจารณญาณ รู้จัก ชื่นชมสิ่งที่ดีงามทุกอย่างในชีวิต และยิ่งชื่นชมซาบซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อไปพบของจริงในโลกกว้าง

สาวอักษรฯ ก็เป็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น มีความลุ่มลึกและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เมื่อพบเจอกันในสังคมหรือหน่วยงาน แม้จะห่างกันหลายรุ่นแค่ไหนก็ต่อกันติด สามารถทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพราะสายใยผูกพันในความเป็นชาวอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยกัน นั่นเอง

ตามสไตล์สาวอักษรฯ เราทั้งแม่และลูกนิยมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตามรอยประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณคดี ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และชื่นชมสิ่งดีๆอันเป็นที่ยกย่องกันของโลก เมื่อเราร่วมกิจกรรมเดินทางกับทัวร์ "อักษรสัญจร" บ่อยครั้งมีโอกาสได้ท่องเที่ยวกับอาจารย์บางท่านที่แม้ยามท่องเที่ยวพักผ่อนก็กรุณาเพิ่มเติมความรู้ให้กลุ่มเรา และยังได้รั บไมตรีจิตจากรุ่นพี่รุ่นน้องหลากหลายรุ่นอีกด้วย ทำให้มีโอกาสรำลึกความทรงจำ และรื้อฟื้นความสนใจใคร่รู้ตามที่เคยเรียนมาเมื่อสมัยเป็นเด็กอักษรฯ ในอดีต ชีวิตจึงเป็นสุขในปัจจุบัน

จึงขอขอบคุณ "อักษรสัญจร" และคุณศรีอรทัย บุรณศิริ ที่เชื่อมส้มพันธ์ชาวอักษรได้อย่างมีคุณค่าสมตามเจตนารมณ์ ไว้ณ ที่นี้

ขอรำลึกความหลังครั้งเรียนอักษร ด้วยสำนึกใน พระคุณของแหล่งเรียนมา และ คณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ที่เคารพรักทุกท่านมิรู้ลืม

“มธุรส และ วิภาสิรินทร์ วิสุทธกุล”

คู่อักษรฯ แม่-ลูก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ (อบ.29)อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ อาจารย์ปฤณา มโนมัยวิบูลย์ (อบ.65) ผ่านคำบอกเล่าของคุณลูก

“ตั้งแต่เรียนอนุบาลสาธิตจุฬาฯ ก็ต้องมาคอยคุณแม่ที่คณะอักษรศาสตร์ทุกวันจนคุ้นชินกับคณะนี้ ประกอบกับไม่ชอบสายวิทย์ จึงคิดว่าจะเรียนด้านภาษา ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ จำได้ว่าตอนเด็กๆ คุณแม่พาไปร้านหนังสือบ่อยมาก ให้เลือกซื้อหนังสือมาอ่านที่บ้าน ชอบอ่านหนังสือประเภทสืบสวนและเป็นแฟนคลับของนักเขียนบางคนจนตามซื้อหนังสือของเขาทุกเล่ม

หากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างรุ่น สำหรับคุณแม่กับดิฉันเผอิญไม่ต่างกันเพราะคุณแม่เข้ามาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ก็ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นครู ดิฉันเองก็เช่นกันอยากจะเป็นครูภาษาไทยจึงมาสมัครเข้าคณะอักษรศาสตร์ในโครงการช้างเผือกภาษาไทย เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยแล้วก็ได้ใช้ความรู้ภาษาไทยสอนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดิฉันเคยได้รับเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู เป็นอาจารย์ไทยคนแรกที่ไปช่วยวางแผนการสอนภาษาไทยเมื่อ มหาวิทยาลัยเฉิงตูเริ่มเปิดสอนภาษาไทย สอนอยู่ 4 ปีและได้รับรางวัลอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติดีเด่นระดับมณฑลของมณฑลเสฉวน ต่อมาก็ได้รับเชิญไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งอีกประมาณสองปี ดิฉันภูมิใจที่เรียนเอกวิชาภาษาไทยและได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพตลอดมา

สำหรับอาชีพ ก็ไม่แตกต่างมากนัก คุณแม่เป็นศาสตราจารย์พิเศษประจำสาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีต่างประเทศตะวันออก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ปัจจุบันดิฉันเองเป็นอาจารย์พิเศษที่ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องราวของ 3 สาวอักษรฯ ในบ้านเดียว - ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข (อบ 34) กับลูกสาว คุณฐิพิชญ์ญา โกมารทัต (อบ.68) และชลิศา ไตรทศาวิทย์ (อบ.70) สั้นๆ แต่ครอบคลุมความรู้สึกของชาวอักษรฯ ได้อย่างครบถ้วน...

คุณแม่จบอักษรฯ มีผลทำให้ลูกเรียนอักษรฯ หรือไม่

การที่แม่เป็นสาวอักษร และเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ น่าจะมีผลอยู่บ้างที่ทำให้ลูกเรียนอักษรฯ เพราะมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก มีความรู้สึกผูกพันกับคณะอักษรศาสตร์ แต่ที่ลูกเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ เป็นเพราะความชอบในวิชาที่สอนในคณะฯ และการเรียนการสอนของคณะอักษรศาสตร์

คุณค่าของความเป็นอักษรฯ ที่คุณแม่ส่งต่อ?

คุณค่าของการเป็นชาวอักษรฯ คือเป็นผู้ที่มีมุมมองอย่างกว้างขวาง มองหลายด้านหลายมุม มองโลกในแง่ดี สามารถเข้ากับคนได้ทุกเพศทุกวัย เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และเข้าใจมนุษย์

ความแตกต่างระหว่างยุคสมัย?

อักษรฯ สมัยลูก จะมีความทันสมัยในเรื่องการค้นคว้าข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้จาก social media ซึ่งมีมากมาย การอ้างอิงมีความหลากหลาย แต่การนำมาใช้ในการทำงาน อาจจะไม่แตกต่างจากสมัยของแม่มากนัก

โสภา สุยะนันทน์ (อบ.41) อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ อาภาศรี สุยะนันทน์ Director, Universe Group Co., Ltd บอกเล่าโดยลูกสาวคนสวย อาภาศรี...

การที่แม่เป็นสาวอักษรฯ มีผลทำให้ลูกเรียนอักษรฯ ค่ะ เพราะเราจะเห็นคุณแม่เป็นไอดอลตั้งแต่เล็กๆ ตอนเด็กๆ ก็อยากจะเก่งอยากจะสวยเหมือนคุณแม่

คุณค่าของการเป็นชาวอักษรฯ ที่คุณแม่ถ่ายทอดมาให้ ก็คือ ความรักและเคารพในสถาบันและคณะฯ ค่ะ เห็นคุณแม่ทำงานหรือกิจกรรมให้ทางคณะตลอด เราก็มาคิดว่าสักวันหนึ่ง เราก็คงจะได้ช่วยงานของคณะฯ บ้าง

อักษรฯ สมัยแม่และสมัยดิฉัน แตกต่างกันในเรื่องของสังคม เพื่อนและสภาพแวดล้อมมากกว่าค่ะ ตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป สมัยคุณแม่อาจจะ conservative มากกว่าสมัยนี้เยอะ แต่เรื่องการเรียนการสอนอาจจะไม่ได้ต่างกันมากนัก

คุณรวิมน ไวยะวงษ์ (มล) อบ.45 พนักงานต้อนรับ บมจ.การบินไทย และนางนพมาศ คณะอักษรศาสตร์ ปี 2520 และคุณลูก คุณรินรดา ไวยะวงษ์ (ผักกาด) อบ.81 เจ้าหน้าที่ประสานงาน บริษัท M&M ถ่ายทอดโดยคุณแม่รวิมน...

เมื่อถามว่าการที่แม่เป็นสาวอักษรฯ มีผลทำให้ลูกเรียนอักษรฯ หรือไม่ ลูกบอกว่าไม่ เพราะตอนแรกลูกก็เกือบจะไม่เข้าอักษรฯ ทั้งที่สอบติดแล้ว แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ และเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเอก เหมือนคุณแม่ เพราะมีความชอบภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว (ดูจากรูปการณ์แล้ว น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อย แต่ลูกอาจไม่รู้ตัว)

อักษรฯ สมัยแม่กับสมัยของลูก น่าจะแตกต่างกันพอสมควรทีเดียว สมัยนี้จะเปิดกว้างให้นิสิตเลือกเรียนวิชาที่ต่างคณะเพิ่มมากขึ้น ทราบว่าตอนเป็นนิสิตปี 1 ทางจุฬาฯ จะจัดให้มีบ้านรับน้องหลากหลายบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีนโยบาย กิจกรรม แตกต่างกันไปและมีนิสิตต่างคณะเป็นสมาชิกอยู่ในนั้นมากมาย

น้องใหม่ก็มีหน้าที่ไปช็อป ว่าถูกใจบ้านไหน ก็ไปสมัครเป็นสมาชิก (คล้ายๆ Harry Potter เนอะ แต่อันนั้นให้หมวกเป็นคนเลือก) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เค้ามีโอกาสรู้จักกับรุ่นพี่ รุ่นเพื่อนต่างคณะ และบ้านต่างๆ เหล่านี้ จะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เค้าเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เลยมีความสนุก สมัยเค้าการออกไปสอนหนังสือเด็กตามร้านกาแฟหรู คงเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยเราไม่มีลักษณะนี้

นอกจากนี้ สมัยลูก เค้าเรียนแต่วิชาเอกเพียงอย่างเดียว ไม่มีวิชาโท ทำให้เค้าได้เรียนวิชาเอกแบบเข้มข้น เจาะลึก และวิชาที่ได้เรียนก็มีความหลากหลาย นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ที่แตกต่างอย่างแน่นอนคือ สมัยลูกไม่มีประเพณีประกวดนางนพมาศ นั่งเสลี่ยงแห่แหนไปรอบจุฬาฯ ในวันลอยกระทงแล้ว ไม่งั้นลูกอาจได้เจริญรอยตามแม่ (อิอิ)

สำหรับสิ่งที่รักและผูกพัน นอกจากจะเป็นสถาบัน คณะฯ และอาจารย์แล้ว คงเป็นเพื่อนๆ ที่รัก และผูกพัน กันมาเนิ่นนาน