สังคมอักษรศาสตร์

กลับหน้าหลักสังคมอักษรศาสตร์

ศ. ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา (อบ.45)
จากนิสิตอักษรศาสตร์ สู่การเป็นอาจารย์ และในที่สุดก็ได้รับตําแหน่งสําคัญด้านบริหาร

จากนิสิตอักษรศาสตร์ สู่การเป็นอาจารย์ และในที่สุดก็ได้รับตําแหน่งสําคัญด้านบริหาร – ท่านคณบดี ศ. ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา (อบ.45) ได้เห็นพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปของคณะอักษรฯ มาเกือบตลอดชีวิตการเรียนและการทํางาน เรามาฟังความในใจของท่านและความคาดหวังที่มีต่อคณะของเราในอนาคต...

ความประทับใจในคณะอักษรศาสตร์

คณะอักษรศาสตร์มีความโดดเด่นในด้านของคณาจารย์ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความรับผิดชอบและจริยธรรมสูง อุทิศตนในการสอนและช่วยเหลือนิสิต เสียสละทั้งแรงกาย แรงสมอง และเวลาเพื่อนิสิต นิสิตอักษรศาสตร์จึงโชคดีมาก มีสมาชิกสภาคณาจารย์ท่านหนึ่งได้ทําวิจัยเกี่ยวกับนิสิตในคณะต่าง ๆ เล่าให้ฟังว่า นิสิตอักษรศาสตร์พูดถึงอาจารย์ ในทางที่ดีมากและในหมู่คณาจารย์ก็ ไม่ค่อยแบ่งเป็นฝักฝ่ายมากนัก เรียกว่ามีปัญหา“การเมือง” ค่อนข้่างน้อยเมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ

ความน่าสนใจของคณะอักษรศาสตร์

ดิฉันไม่เคยตระหนักว่าคณะอักษรศาสตร์จะเป็นที่สนใจของคนภายนอกสูงขนาดนี้

อาจเป็นเพราะคณะอักษรศาสตร์มีความหลากหลายทางวิชาการ ภาพลักษณ์ดี อาจารย์มีเครือข่ายกับวงการต่าง ๆ อาจารย์และนิสิตมีความสามารถสูง สถานทูตต่าง ๆ เข้ามาติดต่อเพื่อจะทํากิจกรรมร่วมกัน มหาวิทยาลัยต่างประเทศอยากทําบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ร่วมกับคณะฯ เป็นจํานวนมาก

ความคาดหวังตั้งใจเมื่อได้มาเป็นคณบดี

ดิฉันมีความคาดหวังหลายประการ ทั้งในด้านของการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาบุคลากร เช่น ต้องการปรับลดหน่วยกิตของหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตหลักสูตรปกติลง และปรับให้มีความเป็นสหสาขาวิชามากขึ้นปรับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ BALAC ให้ทันสมัยและน่าสนใจ จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้นิสิตเพื่อเพิ่มทักษะด้านอื่น ๆ มากขึ้น

ในส่วนของบุคลากร อยากจะให้มีการฝึกอบรมบุคลากรสายปฏิบัติการให้มีทักษะในการทํางานและสนับสนุนให้อาจารย์ทําวิจัยให้มากขึ้น โดยขอเงินทุนวิจัยทั้งจากภายในและภายนอก

สําหรับคณะฯก็จะพยายามเชื่อมโยงคณะอักษรศาสตร์สู่สังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ความสําเร็จที่เกิดขึ้นจากการทํางานในตําแหน่ง

ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ความสําเร็จของดิฉันคนเดียว แต่เป็นความสําเร็จของทีมบริหารชุดใหญ่ทั้งทีม ตั้งแต่รองคณบดีผู้ช่วยคณบดีทุกคน รวมทั้งผู้บริหารศูนย์และหลักสูตรต่าง ๆ ในคณะฯ และหัวหน้าภาควิชาและสาขาวิชา ทําให้สามารถดําเนินงานต่างๆ สําเร็จลุล่วงในหลายด้าน ทั้งในด้านหลักสูตร การพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ ตัวอย่างของความสําเร็จที่ได้ดําเนินการไปแล้วได้แก่

ด้านหลักสูตร ปรับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสําเร็จ โดยลดหน่วยกิตลง ต้องขอขอบคุณรองคณบดี ด้านวิชาการ รศ. ดร.วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์

การปรับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) ให้ทันสมัยเป็นสหสาขาวิชา และแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการหาอาจารย์ประจําทั้งไทยและต่างประเทศ ต้องขอบคุณ รองคณบดี 2 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และ รศ. ดร.วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์

มีการจัดตั้งหลักสูตรบริการวิชาการใหม่ที่น่าสนใจหลายหลักสูตร นํารายได้เข้าคณะฯ เป็นจํานวนมาก ต้องขอขอบคุณผู้อํานวยการศูนย์บริการวิชาการท่านแรก คือ รศ. ดร.รักสงบ วิจิตรโสภณ และท่านปัจจุบัน คือ อาจารย์ ดร.สืบพงศ์ ช้างบุญชู และผู้ช่วยผู้อํานวยการศูนย์ฯ คือ อาจารย์ปิยะวัฒน์ ธรรมกุลางกูร รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศทําหน้าที่สอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างชาติต้องขอขอบคุณ รศ. ดร.กนกวรรณ เลาหบูรณะกิจ คะตะกิริและ ผศ. ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์

ด้านการบริหารและพัฒนาบุคลากร ได้จัดโครงสร้างการบริหารคณะฯ ใหม่โดยมีกลุ่มภารกิจต่างๆ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยทําให้คณะฯ มีโครงสร้างงานบริหารที่เป็นระบบและบุคลากรสายปฏิบัติการมีเส้นทางเติบโตในสายงาน ทําให้เกิดขวัญและกําลังใจที่ดีในการทํางาน ต้องขอขอบคุณรองคณบดีที่รับผิดชอบด้านแผนและพัฒนา ได้แก่ รศ. ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ทั้งยังทําให้บุคลากรสายปฏิบัติการหลายคนได้รับรางวัล “คนดีศรีจุฬา” ต้องขอขอบคุณ รศ. ดร.กนกวรรณ เลาหบูรณะกิจ คะตะกิริ รองคณบดีที่รับผิดชอบงานบริหารที่ทํางานด้านนี้อย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ยังได้บรรจุอาจารย์ชาวไทย 20 กว่าคนผู้มีคุณภาพสูงและยังได้เป็นผู้นําการจัดโครงการดูแลสุขภาวะทางจิตของนิสิตครบวงจร ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดังกมล ณ ป้อมเพ็ชร รองคณบดีด้านกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์

ด้านวิชาการ ได้จัดการบรรยาย สัมมนา และเสวนาต่าง ๆ โดยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม เกิดความคึกคักทางวิชาการ และเกิด “แฟนคลับ” ของคณะฯ ต้องขอขอบคุณรองคณบดีที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมผลงานวิชาการ ได้แก่ รศ. ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์

นอกจากนั้น คณะฯ ยังสามารถขยายเครือข่ายต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง และส่งนิสิตไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศได้เป็นจํานวนมาก ต้องขอขอบคุณ รศ. ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์และ ผศ. ดร.นิรดา จิตรกร

มองอนาคตคณะอักษรศาสตร์

ดิฉันเห็นว่าคณะอักษรศาสตร์ต้องมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตหลักสูตรปกติให้มีความเป็นสหสาขาวิชามากขึ้น พยายามส่งนิสิตไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตได้ “ประสบการณ์ต่างประเทศ” ให้มากที่สุด รวมทั้งให้นิสิตมีโอกาสไปฝึกงานให้มากขึ้น ต้องสนับสนุนให้อาจารย์ทํางานวิจัยเป็นกลุ่ม และทําวิจัยที่มีการเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น พยายามระดมเงินบริจาคจากภายนอกให้มากขึ้น เพื่อจัดทําโครงการส่งเสริมให้นิสิตมีคุณภาพ และเพื่อช่วยเหลือนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องดูแลสุขภาวะทางจิตของนิสิตในคณะฯ พร้อมกันด้วย เนื่องจากนิสิตปัจจุบันมีความเครียดสูงและเปราะบางมากกว่านิสิตสมัยก่อน