ตัวละครหญิงในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตัวละครหญิงในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 1893-2394)
วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2534)


ตัวละครเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครหญิง ซึ่งมีบทบาทในวรรณคดีไทยประเภทต่างๆ 

วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2534) ศึกษาตัวละครหญิงในวรรณคดีคำสอน วรรณคดีนิราศ วรรณคดีนิทานและการแสดง ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.1893-2394) การศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบทำให้เห็นว่า ตัวละครหญิงในวรรณคดีไทยมีทั้งลักษณะเป็นอุดมคติและมีความเป็นปุถุชน กล่าวคือในวรรณคดีคำสอนและวรรณคดีนิราศเน้นตัวละครหญิงที่มีความงามและจริตกิริยาอันเป็นอุดมคติ ขณะที่ตัวละครหญิงในวรรณคดีนิทานและการแสดงมีทั้งความเป็นอุดมคติและปุถุชน มีบทบาทต่อโครงเรื่องและแก่นเรื่อง เช่น เรื่องลิลิตพระลอ ความปรารถนาอันแรงกล้าของพระเพื่อนพระแพงแสดงพลังอำนาจของกิเลสตัณหานำไปสู่โศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ตัวละครหญิงยังมีบทบาทต่อการสร้างสุนทรียรสในวรรณคดี อาทิ เสาวรจนี การชมความงามของนางในวรรณคดีนิทาน นารีปราโมทย์ การแสดงความรักเกี้ยวพาราสี หรือสัลลาปังคพิสัย การคร่ำครวญด้วยความโศกหวนหาอาลัยในวรรณคดีนิราศ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความไพเราะของเสียง การเลือกสรรถ้อยคำ และความเปรียบที่ลึกซึ้งกินใจ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้จึงเป็นการศึกษาที่พินิจตัวละครอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของวรรณคดี โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบวรรณคดีประเภทต่างๆ ทำให้เห็นภาพรวม ทั้งลักษณะร่วมและลักษณะต่าง และความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงกับการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยประเภทนั้นๆ เป็นแบบอย่างของการใช้มุมมองทางวรรณคดีในการศึกษาวรรณคดีไทย สร้างองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญในการทำความเข้าใจบทบาทของตัวละครหญิงในวรรณคดีไทยก่อนการรับอิทธิพลความคิดและรูปแบบการสร้างงานจากตะวันตก 

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้ ที่นี่

Facebook
Twitter