ข้อบังคับของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

หมวดที่หนึ่ง ชื่อและเครื่องหมาย

ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ" ใช้อักษรย่อ "ส.น.อ.จ." ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ "Chula Arts Alumni Association" ใช้อักษรย่อ "CAAA"

ข้อ ๒. สมาคมใช้เครื่องหมาย พระสุรัสวดี มีนกยูงเป็นพาหนะและมีข้อความ "สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์จุฬาฯ" กำกับ

หมวดที่สอง วัตถุประสงค์

ข้อ ๓. สมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  • ๓.๑ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างนิสิตเก่า
  • ๓.๒ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างนิสิตเก่ากับคณะอักษรศาสตร์
  • ๓.๓ เพื่อช่วยเหลือและเกื้อกูลการศึกษาของคณะอักษรศาสตร์
  • ๓.๔ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นทางการระหว่างสมาชิก
  • ๓.๕ เพื่อร่วมมือจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกและสมาคม

ข้อ ๔. สมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่สาม ที่ตั้งสมาคม

ข้อ ๕. สมาคมนี้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

หมวดที่สี่ สมาชิกภาพ

ข้อ ๖. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ

  • ๖.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่สมาชิกที่เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ และอาจารย์ หรือ ผู้ที่เคยเป็นอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ๖.๒ สมาชิกสมทบ ได้แก่สมาชิกที่เป็นนิสิตปัจจุบันของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ๖.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมเชิญเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ ๗. ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการพร้อมทั้งชำระค่าสมัคร เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารแล้วให้ถือว่าผู้นั้นได้สิทธิ์แห่งการเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติเป็นต้นไป

ข้อ ๘. สมาชิกสามัญมีสิทธิ์

  • ๘.๑ ออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม
  • ๘.๒ เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสมาคม
  • ๘.๓ ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมจัดขึ้น
  • ๘.๔ ประดับเครื่องหมายของสมาคมในโอกาสอันควร
  • ๘.๕ เข้าร่วมกิจกรรมที่สมาคมจัดขึ้น หรือจัดร่วมกับองค์กรอื่น
  • ๘.๖ เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๙. สมาชิกสมทบและสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิ์เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญทุกประการ ยกเว้นข้อ ๘.๒

ข้อ ๑๐. สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพเมื่อ
๑๐.๑ ตาย
๑๐.๒ ลาออก
๑๐.๓ คณะกรรมการบริหารลงมติให้ออกด้วยเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม หรือประพฤติเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณของสมาคม

หมวดที่ห้า ค่าสมัคร

ข้อ ๑๑. สมาชิกจะเรียกเก็บค่าสมัครจากสมาชิกดังต่อไปนี้

  • ๑๑.๑ สมาชิกสามัญเรียกเก็บ ๕๐๐.๐๐ บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
  • ๑๑.๒ สมาชิกสมทบเรียกเก็บ ๑๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)
  • ในกรณีที่สมาชิกสมทบขอเปลี่ยนฐานะเป็นสมาชิกสามัญจะเรียกเก็บเพิ่มอีก ๔๐๐.๐๐ บาท (สี่ร้อยบาทถ้วน)

หมวดที่หก การบริหารสมาคม

ข้อ ๑๒. ให้มีคณะกรรมการบริหารขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๑ คน และไม่เกิน ๑๕ คน ประกอบด้วยนายก อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคมและกรรมการกลาง ไม่ต่ำกว่า ๕ คนและไม่เกิน ๙ คน

ข้อ ๑๓. การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารนั้นให้ที่ประชุมใหญ่เลือกนายก และกรรมการกลาง ๕ คน แล้วให้นายกแต่งตั้งอุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน และปฏิคมกรรมการที่ได้รับเลือกตั้ง และแต่งตั้งทั้ง ๑๑ คนนี้อาจพิจารณาเชิญสมาชิกเข้าเป็นกรรมการกลางได้อีกตามจำเป็นแต่ต้องไม่เกิน ๔ คน

ข้อ ๑๔ . วิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ประชุมใหญ่กำหนดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นกรรมการโดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า ๕ คน ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในที่ประชุมหรือมีหลักฐานแสดงว่ายินยอมให้เสนอชื่อ ของตน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ได้รับเลือก ในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ชี้ขาด ในกรณีที่นายกแต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดพิจารณาแต่งตั้งกรรมการกลางเพิ่มขึ้นให้ครบ

ข้อ ๑๕. คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดเก่าได้ส่งมอบงานให้จนถึงวันที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ การมอบงานของคณะกรรมการตั้งกระทำภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

ข้อ ๑๖. ความเป็นกรรมการบริหารจะสิ้นสุดลงเมื่อ

  • ๑๖.๑ ถึงคราวออกตามวาระ
  • ๑๖.๒ ลาออก
  • ๑๖.๓ ขาดสมาชิกภาพ
  • ๑๖.๔ ตาย
  • ๑๖.๕ ไม่มาประชุมคณะกรรมการบริหารโดยไม่ลา ติดต่อกัน ๓ ครั้ง เมื่อได้ทราบวันนัดประชุมแล้ว

ข้อ ๑๗. ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารใดที่เลือกตั้ง หรือแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญได้ว่างลงก่อนจะถึงคราวออกตามวาระคณะกรรมการบริหารจะเลือกสมาชิกสามัญผู้ใดเข้ารับตำแหน่งก็ได้ ทั้งนี้ต้องได้รับมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนกรรมการบริหารที่เหลืออยู่ และให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งได้เพียงเท่าเวลาของผู้ที่ตนเข้ามาแทน ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงเป็นสมาชิกสมทบ ให้คณะกรรมการบริหารเลือกสมาชิกสมทบเข้ารับตำแหน่งแทน โดยวิธีการที่ให้ระบุไว้ในวรรคก่อน

ข้อ ๑๘. กรรมการบริหารทุกคน นอกจากนายก อุปนายก และกรรมการกลางอาจแต่งตั้งสมาชิกเป็นกรรมการผู้ช่วยของตนได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้ช่วยมีสิทธิ์ที่จะเสนอความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการบริหารแต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงตามคะแนน ความเป็นกรรมการผู้ช่วยย่อมสิ้นสุดลงเมื่อกรรมการบริหารที่แต่งตั้งตนพ้นจากตำแหน่ง

หมวดที่เจ็ด อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๑๙. คณะกรรมการบริหารเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบการ และวัตถุประสงค์ที่ได้ตราขึ้นไว้ และตามมติของที่ประชุมใหญ่

ข้อ ๒๐. ให้คณะกรรมการบริหารเชิญบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสมาคมได้ตามความจำเป็นกรรมการที่ปรึกษามีสิทธิ์ที่จะเสนอความคิดเห็นและร่วมอภิปรายในการประชุม แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน ความเป็นกรรมกรรมที่ปรึกษาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งตนพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ ๒๑. คณะกรรมการบริหารอาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น

ข้อ ๒๒. กรรมการบริหารแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่ดังนี้

  • ๒๒.๑ นายกมีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับของสมาคม เป็น ตัวแทนสมาคมในการติดต่อกิจการงานกับองค์การหรือบุคคลภายนอก เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารและการประชุมใหญ่ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้
  • ๒๒.๒ อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายก ทำการแทนนายก เมื่อได้รับมอบหมาย หรือเมื่อนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
  • ๒๒.๓ เลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินงานฝ่ายธุรการ และกิจการบริหารโดยทั่วไปของสมาคมจัดทำและรักษาระเบียบวาระและรายงานการประชุม
  • ๒๒.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเงินและพัสดุของสมาคมทำบัญชีการเงินและทะเบียนทรัพย์สิน
  • ๒๒.๕ นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิก
  • ๒๒.๖ ปฏิคม มีหน้าที่ให้การต้อนรับ และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จัดและดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ และงานประชาสัมพันธ์ของสมาคม
  • ๒๒.๗ กรรมการกลาง มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในการประชุมของคณะกรรมการบริหารและช่วยเหลือปฏิบัติงานตามที่นายกหรือที่ประชุมมอบหมาย รวมทั้งช่วยเหลืองานแผนกอื่น ๆตามความต้องการของแผนกนั้น ๆ

หมวดที่แปด การประชุม

ข้อ ๒๓. ให้นายกกำหนด ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโดยปกติเดือนละครั้ง กรรมการบริหารตั้งแต่ ๖คนขึ้นไปอาจมีหนังสือนายกหรือเลขานุการขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อใดก็ได้

ข้อ ๒๔. กรรมการบริหารที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ อาจแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยของตนคนใดคนหนึ่งเข้าประชุมแทนก็ได้โดยมอบอำนาจให้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ใดรับมอบอำนาจให้ประชุมแทน ย่อมมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทนทุกประการ

ข้อ ๒๕. การประชุมคณะกรรมการบริหาร ต้องมีกรรมการมาร่วมประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม

ข้อ ๒๖. การประชุมใหญ่สามัญให้จัดให้มีอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อคณะกรรมการบริหารจะได้แถลงกิจการที่ได้ดำเนินการมาในรอบปีหรือเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อถึงวาระ

ข้อ ๒๗. คณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า ๒๕ คน อาจขอให้เปิดการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้โดยให้ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อนายกหรือเลขานุการสมาคม

ข้อ ๒๘. การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๕๐ คน จึงจะครบองค์ประชุม

ข้อ ๒๙. การประชุมคณะกรรมการบริหาร ให้เลขานุการแจ้งกำหนดเวลาสถานที่ และระเบียบวาระการประชุมให้กรรมการบริหารทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ยกเว้นกรณีรีบด่วน สำหรับการประชุมใหญ่ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

ข้อ ๓๐. ให้นายกเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารและการประชุมใหญ่ ถ้านายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมเฉพาะคราวนั้น ๆ

หมวดที่เก้า มติที่ประชุม

ข้อ ๓๑. ในการลงมติใด ๆ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ นอกจากจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในระเบียบข้อบังคับนี้ถ้ามีเสียงเสมอกันให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๒. สมาชิกมีสิทธิ์ออกเสียงคนละ ๑ เสียง

หมวดที่สิบ การเงิน

ข้อ ๓๓. รายได้ของสมาคมประกอบด้วย

  • ๓๓.๑ ค่าสมัครที่เรียกเก็บจากสมาชิก
  • ๓๓.๒ รายได้ที่เกิดจากการจัดกิจกรรม
  • ๓๓.๓ เงินและทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งบุคคลบริจาคให้แก่สมาคม
  • ๓๓.๔ ดอกผลอันเกิดจากเงินหรือทรัพย์สินที่ชมรมนำไปลงทุนเพื่อหารายได้

ข้อ ๓๔. นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งได้คราวละไม่เกิน๑๕,๐๐๐ บาท ถ้าวงเงินเกิน ๑๕,๐๐๐ บาท ให้อยู่ในอำนาจสั่งจ่ายของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๓๕. เหรัญญิกมีเงินสดรองจ่ายประได้ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท

ข้อ ๓๖. การรักษาเงินนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๓๔ ให้เหรัญญิกและนายกหรือผู้ทำการแทนนายกจัดฝากในธนาคารหรือจัดหาดอกผล ทั้งนี้โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร การเบิกจ่ายเงินในธนาคาร ให้นายกหรืออุปนายกกับเหรัญญิกเป็นผู้ลงนาม

ข้อ ๓๗. การจ่ายเงินจะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสาร โดยมีลายมือชื่ออนุมัติของนายกหรือผู้ทำการแทน

ข้อ ๓๘. ให้เหรัญญิกทำบัญชีแสดงฐานะการเงินประจำเดือน เสนอต่อคณะกรรมการบริหารทุกเดือน และให้ทำบัญชีงบดุลประจำปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ

ข้อ ๓๙. ให้ที่ประชุมใหญ่ตั้งผู้สอบบัญชี เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีรับจ่ายและงบดุลประจำปีของสมาคม

หมวดที่สิบเอ็ด การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม

ข้อ ๔๐. การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม จะกระทำได้โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนสองในสามของสมาชิกมาประชุมให้เปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ผู้เสนอขอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ต้องเสนอรายละเอียดการขอเปลี่ยนแปลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ โดยบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม

หมวดที่สิบสอง การเลิกสมาคม

ข้อ ๔๑. การเลิกสมาคมจะกระทำได้เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติ โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกที่มาประชุม เมื่อเลิกสมาคมแล้วบรรดาทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ให้มอบแก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทเฉพาะกาล

เพราะเหตุนี้ที่ชมรมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ นี้ จึงให้ถือว่าผู้ที่เป็นสมาชิกชมรมฯ ณ วันที่จดทะเบียนตั้งสมาคมฯ นี้ เป็นสมาชิกสมาคมฯ โดยอัตโนมัติ และให้คณะกรรมการบริหารของชมรมฯ ณ วันที่ดังกล่าว ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมฯ กับให้ผู้สอบบัญชีของชมรมฯ ณ วันที่ดังกล่าว เป็นผู้สอบบัญชีของสมาคมฯ ด้วย