ความเป็นมา

คณะอักษรศาสตร์ได้มีการสอนแปลในระดับปริญญาบัณฑิตมาโดยตลอด ต่อมาก็ได้เริ่มมี การสอนแปลไทยและอังกฤษในระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง และเพื่อให้คณาจารย์และนิสิตได้มีสนามในการฝึกฝนสร้างทักษะและประสบการณ์การแปล คณะอักษรศาสตร์จึงได้จัดตั้งศูนย์การแปลคณะอักษรศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เพื่อให้บริการวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

ต่อมาได้เริ่มมีความต้องการผู้ทำหน้าที่ล่ามในการเจรจาและการประชุมระหว่างชาติ จึงได้มีการร้องขอมายังคณะอักษรศาสตร์ให้จัดหาผู้ทำหน้าที่ล่ามให้แก่หน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชน มีคณาจารย์และนิสิตของคณะอักษรศาสตร์ได้ไปทำหน้าที่ล่ามตามที่ได้รับคำขอมา ตามโอกาส ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีคำขอจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มายังคณะอักษรศาสตร์ ขอให้ฝึกล่ามสำหรับผู้บริหารประเทศในการเจรจาระหว่างประเทศ และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ก็ได้ให้ความร่วมมือจัดการอบรมล่ามให้ตามคำขอเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ ยังได้รับคำขอให้ฝึกล่ามในการประชุมระหว่างประเทศ สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2538

พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อศูนย์ว่า “ ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ ” เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จัดเป็นหน่วยงาน ที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ในคณะอักษรศาสตร์และมีการเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล อังกฤษ-ไทย และภาษาฝรั่งเศส-ไทย เป็นครั้งแรกในภาคปลาย ปีการศึกษา 2542

หน่วยงานหลักของศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติแบ่งได้เป็น 2 หน่วยงานคือ

1. หน่วยบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลและการล่าม คณะอักษรศาสตร์เป็นศูนย์รวมของการสอนภาษาต่างประเทศต่างๆมาเป็นระยะเวลานาน ได้ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะเปิดหลักสูตรการแปลและการล่ามในระดับปริญญามหาบัณฑิตเพื่อ ผลิตนักวิชาการ นักวิจัยด้านการแปลและการล่าม ตลอดจนนักแปลและล่ามที่มีจรรยาบรรณ และเชี่ยวชาญทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานแปลและล่ามทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

เปิดสอน หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปล (Master of Arts Program in Translation) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 จนถึงปัจจุบัน และจะเปิดสอน หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการล่าม (Master of Arts Program in Interpretation) เป็นครั้งแรกและเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปีการศึกษา 2550

2. หน่วยบริการงานแปลและงานล่ามหน่วยบริการงานแปลและงานล่ามได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ให้บริการแก่สังคมที่มีความต้องการด้านงานแปลเอกสารและงานล่าม โดยแปลเป็นภาษาไทยและภาษา ต่างประเทศรวม 13 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาโปรตุเกส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเขมร ภาษามาเลย์ ภาษาพม่า และภาษาเวียดนาม โดยมีบุคลากรที่เป็นผู้สอนและมีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นเจ้าของภาษาเป็นผู้แปลและอ่านรับรองงานแปล ทั้งนี้ในการรับงานแปลดังกล่าวจะพิจารณาว่าไม่ขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนมีความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมจรรยา โดยอยู่ในดุลยพินิจของผู้แปล และ/หรือของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่จะรับงานแปลเป็นรายกรณีไป