ฅนอักษรฯ: คุณอริสรา ธนาปกิจ (ครูพี่แนน)

“จริงๆ แล้วคณะอักษรศาสตร์น่าประทับใจไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคงเป็นเรื่องของเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่อบอวลด้วยมิตรภาพ”

(ข้อมูลจากจดหมายข่าวเทวาลัย ปีที่ 8 ฉบับที่ 14 วันที่9 กรกฎาคม 2559)
https://issuu.com/arts.chula/docs/devalai8_14

20160616-1466065289.8415-2

(1) อยากให้พี่แนนแนะนำตัวนิดหนึ่งว่าพี่แนนเรียนอักษรฯ รุ่นอะไร ตอนเรียนวิชาเอก-โทอะไร
พี่แนนเรียนคณะอักษรศาสตร์ รหัส 35 ค่ะ ก็นับถอยหลังไป 20 กว่าปีแล้วนะคะ แต่ออกตัวก่อนพี่แนนยังไม่แก่นะคะ จริงๆ พี่แนนเริ่มเรียนเร็วค่ะ สมัยก่อนยังสอบเทียบได้ พี่แนนเลยเอ็นท์ติดคณะอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ตอนเรียน ม.4 ที่เตรียมอุดมศึกษา พี่แนนเลือกเรียนเอกสเปน โทอังกฤษ เพราะว่าจริงๆ รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเรายังพอศึกษาด้วยตัวเองได้ และพอใช้ได้บ้างแล้ว แต่ภาษาสเปนหาเรียนยาก แต่เป็นภาษาที่คนใช้มากเป็นอันดับต้นของโลก และเป็นหนึ่งในภาษาราชการที่ใช้ในองค์การ UNESCO เลยเลือกเอกนี้ เพราะอยากเป็นล่ามที่ทำงานให้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งดู Passion ยิ่งใหญ่ จริงจัง แต่จริงๆ แล้วอ่านหนังสือนิยายเรื่องรักเร่ ของโสภาค สุวรรณ แล้วอินจัดอยากเป็นเหมือนนางเอก เลยเลือกเรียนคณะอักษรฯ และต้องเป็นเอกสเปนด้วย

(2) พี่แนนเริ่มสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อไหร่
จุดเริ่มต้นของพี่แนนน่าจะเหมือนน้องๆ อักษรฯ หลายคนที่ทำอยู่ในตอนนี้ก็คือ เริ่มต้นจากตั้งโต๊ะสอนใต้ถุนตึกบรมฯ แต่ที่แตกต่างคือพี่แนนไม่ได้ตั้งใจจะทำเองตั้งแต่ตอนแรก เพราะก่อนหน้าจะเริ่มต้นสอนภาษาอังกฤษ พี่แนนไปทำอย่างอื่นมาเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นไปทดลองเป็นล่ามในการประชุมต่างๆ รับงานของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปลองทำงานเป็นไกด์ให้บริษัททัวร์ ซึ่งแน่นอนเป็นนักศึกษาฝึกงาน ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็ทำได้แค่ผู้ช่วยไกด์ ได้เงินน้อยมากๆ แต่ก็ลองทำทุกอย่างเลย จนขึ้นปี 3 ก็เริ่มรู้ว่าจริงๆ งานที่เราใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่เด็กนี่ไม่ใช่อย่างที่เราคิดเหมือนกันนะ คือ พอไปเป็นล่าม เรามีหน้าที่แปลตามคำพูดให้ถูกต้อง แต่จริงๆ เรารู้สึกว่าอยากใส่ไอเดียเข้าไป ฟังเขาคุยกันแล้วมีไอเดียใหม่ๆ อยากเสนอแต่ไม่ใช่หน้าที่เราก็ทำไม่ได้ ก็เลยเริ่มมองหาลู่ทางเบนเข็มว่าจะทำอะไรดี บังเอิญมีอาจารย์ของเรานี่แหละ ระหว่างเรียนท่านเห็นพี่แนนช่างซักถาม ช่างสงสัย ท่านเลยแนะนำว่าจริงแนนน่าจะสอนหนังสือเด็กได้ดีนะ ซึ่งการเป็นครูมันเป็นอาชีพที่ไม่อยู่ในความคิดมาก่อนเลย ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์ท่านเห็นอะไรในตัวพี่แนน ท่านบอกว่าช่วยเอาลูกท่านไปสอนหน่อย พ่อลูกสอนกันเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นสอน พี่แนนก็เลยรับลูกของอาจารย์มาสอนด้วยความเกรงใจที่ท่านดีกับเรามากๆ ก็อยากตอบแทน ปรากฏว่าทุกครั้งที่มาเรียนน้องตั้งใจแล้วก็บอกว่าชอบมาก พี่แนนอธิบายเข้าใจง่าย เรื่องนี้หนูไม่เข้าใจมาก่อนเลยพี่แนนอธิบายแล้วหนูเกิดความเข้าใจขึ้น ก็เริ่มเสพติดคำชมนะคะ บ้ายอนั่นเอง ก็เลยยิ่งสนุกกับการหาวิธีอธิบายให้น้องเข้าใจง่ายๆ น้องที่มาเรียนก็เริ่มบอกกันปากต่อปากก็มีน้องมาเรียนเพิ่มเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเปิดสอนจริงจัง แค่ทำเพราะสนุก มีความสุขที่มาเจอน้องๆ ไม่ได้คิดว่าเรียนจบมาจะทำอาชีพครูสอนพิเศษจริงจังเลย เพราะรายได้นี่แทบไม่พอค่าชีท กับค่าขนมด้วยซํ้า ดูๆ แล้วไม่น่าจะใช่อาชีพที่เลี้ยงตัวรอด

(3) แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเป็นครู
อย่างที่บอกว่าเมื่อแรกเริ่มไม่ได้คิดว่าจะทำงานเป็นครูจริงจัง หลังจากเรียนจบอักษรฯ พี่แนนก็หางานทำเป็นพนักงานบริษัทเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป ก็ไปได้งานเป็น Category Analyst, Management Trainee ที่บริษัท Uniliver ซึ่งก็สนุกดี งานไปได้สวย แต่ว่าก็ยังเปิดรับสอนพิเศษอยู่ด้วย ซึ่งเรียนจบแล้วก็ต้องออกหาที่ตั้งโรงเรียนเป็นของตัวเอง เนื่องจากทางบ้านก็มีฐานะดีมาก เลยเลือกเปิดทำเลทองมาก “สะพานควาย” ทำเลดีขนาดนี้เปิดโรงเรียนมาจึงมีเด็กมาเรียนอยู่ประมาณ 7 คน ค่านํ้า ค่าไฟ ค่าถ่ายเอกสารชีท ขาดทุนอย่างไม่ต้องคิด แต่ว่าเหตุที่วันนั้นตัดสินใจสู้ต่อไม่ปิดตัวไปก่อน เพราะว่า น้องสอบเอ็นท์ติด คุณพ่อคุณแม่น้องหอบหิ้วของกินมาฝากจากต่างจังหวัด มาขอบคุณใหญ่โตที่ช่วยให้อนาคตน้อง คือ มันตื้นตัน มันอิ่ม อิ่มใจนะคะ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่มาทันเวลาพอดี คือจะเลิกทำแล้ว เพราะทั้งเหนื่อย ทั้งขาดทุน ทำไมเราไม่คว้าอะไรที่มั่นคงกว่าบริษัทใหญ่ ตำแหน่งก็เติบโต แต่ความรู้สึกมีคุณค่าทางจิตใจมันแซงหน้าทุกอย่างเลย ลองกลับมาทบทวนตัวเองว่าจริงๆ เราทำเต็มที่กลับอาชีพครูหรือยัง ก็พบว่าถ้าพี่แนนมีเวลา Focus ทำด้านนี้ด้านเดียว ลองทำให้เต็มที่ ใส่ความสามารถ ใส่ความพยายามเอาความรู้ในงานอื่นๆ ที่เคยมีประสบการณ์มาใช้กับงานนี้ให้เต็มที่ก่อน ถ้าลองทำให้ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่ กลับไปทำงานบริษัทก็ยังไม่สาย หลังจากตัดสินใจได้ก็เริ่มศึกษาพฤติกรรมนักเรียนไทยแบบจริงจัง ทำไมเด็กไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ ทำไมเด็กไทยถึงทำคะแนนได้ไม่ดี เพราะสำหรับพี่แนนพี่แนนชอบ แล้วก็รู้สึกว่าเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นมีอะไรยากเลย ก็พบว่า ใช่เลย หัวใจคือ เด็กไม่ชอบ มันไม่สนุก มันเลยดูยาก ดังนั้นก็มาแก้โจทย์ที่ ทำยังไงให้ได้ความรู้โดยที่ยังมีความสนุก มีความสุขในการเรียนด้วย เป็นที่มาของการเอาเพลงมาใช้ในการช่วยจำศัพท์ ซึ่งสมัยยุคบุกเบิกแต่งกันเอง ร้องกันเอง พี่แนนกับเพื่อนๆ ที่ร่วมเปิดโรงเรียนชอบเล่นดนตรี ชอบร้องเพลงกันอยู่แล้ว แล้วก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษมาจากการฟังเพลง มันทำให้จำง่ายและจำได้เยอะกว่าการท่อง แล้วจากตรงนี้ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ Enconcept มีชื่อเสียง น้องๆ เรียนได้ผลก็เกิดการบอกต่อ ทำให้พี่แนนยังทำงานเป็นครูมาจนถึงทุกวันนี้

(4) งานตอนนี้
ความรับผิดชอบของพี่แนน ณ ปัจจุบัน นอกจากเป็นติวเตอร์ที่ Enconcept เองแล้ว ปัจจุบันพี่แนนยังมีหน้าที่สร้างทายาท และพัฒนาให้หลักสูตรดีขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่า Enconcept เติบโตมาได้จากโรงเรียนห้องแถวเล็กๆ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มาเป็นโรงเรียนที่มี 35 สาขาทั่วประเทศ เกิดมาจากการทำงานหนักของทีมงานในการสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะโรงเรียนในระบบ หรือโรงเรียนกวดวิชาทั่วไปของไทยแทบไม่มีใครลงทุนพัฒนาด้านนี้เลย แต่พี่แนนเชื่อว่านวัตกรรมทั้งด้านเทคนิคการเรียนการสอนและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนการศึกษาบ้านเราให้พัฒนาแบบยั่งยืนได้ เด็กนักเรียนเข้าถึงการเรียนมาตรฐานดีๆ ได้มากขึ้น ครูเก่งๆ หายาก กว่าจะพัฒนาครูแต่ละคนขึ้นมาได้มาตรฐานใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยีทำให้เนื้อหา หลักสูตร และการสอนของครูที่มีมาตรฐานไปถึงน้องได้
ตอนนี้ Enconcept ไม่ได้ทำแค่โรงเรียนกวดวิชา แต่พี่แนนและทีมผู้บริหารมีเป้าหมายเดียวกันคือเราพัฒนางานด้านการศึกษาทั้งหมด ดังนั้นตอนนี้เรามีโรงเรียนในเครือที่สอนวิชาภาษาไทย สังคม อังกฤษสำหรับการสื่อสารของเด็ก ผู้ใหญ่ มี Software House ของตัวเองที่ทำหน้าที่สร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาขึ้นมา อย่างที่เราเพิ่งทำให้รัฐบาลแจกเป็นของขวัญคืนความสุขให้ประชาชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็คือ Mobile Application ชื่อ EchoEnglish ใช้ในการฝึกฟังพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนเจ้าของภาษา เป็นต้น ซึ่งพี่แนนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารที่ดูแลเรื่องทิศทางว่าเราจะพัฒนาไปต่ออย่างไร โดยทีมที่พี่แนนดูแลหลักจะเป็นทีมครูผู้สอนและทีมงานที่ดูแลด้านวิชาการทั้งหมด ซึ่งเป็นงานที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อย่างเต็มที่เลยค่ะ

(5) เรื่องเล่า/ความประทับใจตอนเรียนที่คณะอักษรศาสตร์
จริงๆ แล้วคณะอักษรศาสตร์น่าประทับใจไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคงเป็นเรื่องของเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่อบอวลด้วยมิตรภาพ คือ คนมักมีภาพว่าเด็กอักษร จุฬาฯ มีแต่คนเก่งๆ มารวมกัน เพราะเป็นคณะที่คะแนน Admission เป็นคณะท็อปของประเทศตลอด คนเก่งต้องแข่งกันเรียน ต้องเห็นแก่ตัว แต่สำหรับรุ่นพี่แนนนี่ไม่ใช่เลย และพี่แนนคิดว่ารุ่นอื่นๆ ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน อย่างที่เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่รุ่นเดียวกันรู้จักกันรุ่นพี่รุ่นน้องก็ลากกันไปทำงานด้วยซํ้า การแข่งขันกันเรียน พี่แนนว่าแต่ละคนแข่งกับตัวเองเพราะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนรอบข้าง เฮ้ย คนนี้เก่ง คนนี้ทำกิจกรรมด้วยคะแนนก็ดี เทพมาก ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมามากกว่า ดังนั้นเพื่อนดีเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนมากกว่ามองเรื่องการแข่งขันแบบตายกันไปข้างนึง เอาจริงๆ พี่แนนเรียนจบมาได้เพราะเพื่อนนี่แหละ เพราะพี่แนนทำกิจกรรมเยอะ ทั้งในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการไปทำงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย แทบไม่ได้เรียนในห้องเรียนเลย ก็ได้เพื่อนให้ยืมชีทไปถ่ายเอกสาร ติวที่ครูสอนให้ทำให้เรียนจบมาได้ทุกวันนี้ ดังนั้นเพื่อนและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมิตรภาพของคณะนี่แหละที่พี่แนนชอบที่สุดค่ะ

(6) วิชาเรียน/อาจารย์ในคณะที่ประทับใจ
พี่แนนประทับใจอาจารย์ปทมา อัตนโถ มากๆ ค่ะ ต้องบอกว่าท่านเป็นต้นแบบของการเป็นครูของพี่แนนก็ว่าได้ เพราะว่าอันดับแรกเลย ท่านสวยและดูวัยรุ่นตลอดเวลา young at heart คำนี้ใช่เลย ทำให้วิชาที่ท่านสอนสนุก ไม่น่าเบื่อ เข้าใจง่าย อยากเรียนเพราะเรียนแล้วเข้าใจทะลุปรุโปร่ง อย่างเช่น English Syntax อันนี้พี่แนนชอบสุดๆ เพราะเข้าใจโครงสร้างแกรมมาร์ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ว่าจะประโยคซับซ้อนแค่ไหนก็วิเคราะห์ได้ละเอียดลึกซึ้ง เป็นต้นแบบตำนานคอร์ส Ultimate Grammar & Error ของ Enconcept ที่น้องๆ หลายคนบอกว่าเปลี่ยนความคิดว่าแกรมมาร์เป็นเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ให้ทั้งความรู้และยังเป็นแม่แบบในการเป็นคุณครูให้ด้วยค่ะ

(7) หนังสือที่ชอบอ่าน
จริงๆ เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมากตั้งแต่เด็กๆ และอ่านหนังสือได้ทุกประเภทเลย เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ชอบอ่านหนังสือที่บ้านมีมุมห้องสมุดที่คุณพ่อคุณแม่เก็บหนังสือของท่านไว้ เด็กๆ พี่แนนไม่มีของเล่นอะไร คุณแม่ก็ไม่ค่อยเปิดโทรทัศน์ให้ดูก็จับนั่งเล่นในห้องสมุด ดังนั้นหนังสือที่อ่านก็จะตามที่คุณพ่อคุณแม่อ่านเลย คือ คุณแม่จะมีนิยาย และวรรณกรรมเยอะมากก็อ่านได้ ส่วนคุณพ่อจะเป็นหนังสือประวัติคนดัง ปรัชญาการใช้ชีวิตคนเก่งๆ ก็ชอบอ่านเหมือนกัน พอเริ่มเป็นวัยรุ่นก็ชอบอ่านการ์ตูนเหมือนเด็กๆ ทั่วไป แบ่งกันอ่านกับน้องชาย ดังนั้นถ้าถามว่าชอบอ่านหนังสือแนวไหนนี่อ่านทุกอย่างจริงๆ
ปัจจุบันหนังสือที่ชอบอ่านก็เป็นไปตามวัยและความสนใจนะคะ พี่แนนชอบการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ และตนเองให้พ้นทุกข์ ศึกษามายี่สิบกว่าปีแล้วดังนั้นหนังสือที่อ่านส่วนใหญ่หลังๆ มานี้ก็จะเป็นหนังสือธรรมะ ซึ่งช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ก็อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ หรือผู้รู้ที่ปฏิบัติธรรมมาก่อน อย่างหนังสือของท่านพุทธทาส พี่ดังตฤณ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจธรรมะจริงจัง ปัจจุบันปฏิบัติมากขึ้นอยากทำความเข้าใจละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นก็เริ่มหาแหล่ง original ดังนั้นหนังสือที่อ่านยามว่างตอนนี้ก็จะเป็นพระไตรปิฎก ที่ว่างเมื่อไหร่ก็อ่านได้เรื่อยๆ

(8) กิจกรรมยามว่าง
กิจกรรมยามว่างจากการทำงานพี่แนนก็แบ่งเวลาเป็น 3 ส่วน คือ ให้ตัวเอง ให้ครอบครัว ให้สังคม ซึ่งน้องอาจจะมองว่าพี่แนนว่างเนอะ ทำได้หลายอย่างจริงๆ คือ เราจัดการให้ทั้ง 3 ด้านมาสมดุลกันได้ คือ ที่สุดในชีวิตของพี่แนนคือการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นจริงตามธรรมชาติ แล้วพี่แนนพบว่ามันดีนะ เราสามารถมีความสุขในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันดีขนาดนี้ พี่แนนก็เอาคุณพ่อคุณแม่ไปปฏิบัติธรรมด้วยซะเลย ใช้ Quality time ร่วมกัน เป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ไปด้วย อย่าเพิ่งเข้าใจว่าพี่แนนสละทางโลกจะออกบวชแล้วนะคะ จริงๆ กิจกรรมยามว่างอีกด้านหนึ่งก็คือ การเติมความรู้ เปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองได้เห็นอะไรใหม่ๆ เพื่อเอากลับมาเป็นไอเดียในการสอนน้องๆ ลูกศิษย์ของพี่แนน เพราะจริงๆ หน้าที่ครูไม่ได้แค่สอนหนังสือตามวิชาที่เรารับผิดชอบ แต่อีกหน้าที่หนึ่งคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วย เวลาว่างของพี่แนนก็จะใช้กับการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ไปเดินป่า ดูชีวิตคนในเมืองในชนบท ไปดูงานนิทรรศการ ถ้าว่างก็จะจัดสรรเวลาให้กับส่วนนี้ด้วย
ท้ายที่สุด คือ การตอบแทนสังคม ยามว่างจากงานสอนในโรงเรียนพี่แนนก็จะมีเดินสายรับเชิญติวและแนะแนวตามโรงเรียนต่างๆ หรือแม้แต่ไปร่วมวิทยากรในกิจกรรมเวิร์คช็อปหรืองานอบรมครูจังหวัดต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณครูในโรงเรียนต่างๆ แต่ละปีทำได้มากน้อยอยู่ที่เวลาว่างและสุขภาพแต่ว่าอยู่ในตารางเวลาชีวิตเลยว่าต้องกันเวลาไว้ทำตรงนี้ด้วยค่ะ

(9) เรื่องฝากถึงคณะอักษรศาสตร์ในโอกาสครบ 100 ปี
คณะอักษรศาสตร์เดินทางมาจะครบ 1 ศตวรรษแล้ว พี่แนนรู้สึกเป็นเกียรติ ภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของคณะนี้ และที่สำคัญคือ พี่แนนซาบซึ้งในบุญคุณของครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และประสบการณ์อันมีค่าที่หาจากที่อื่นได้ยาก ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นเครื่องบ่งบอกถึงคุณภาพของหลักสูตรที่เกิดจากการสั่งสมของบุคลากร ซึ่งพี่แนนมีความรู้และถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่น้องๆ รุ่นหลังได้ทุกวันนี้ ก็ล้วนมาจากความรู้ที่ได้รับการประสิทธิประสาทจากครูบาอาจารย์ในคณะของเรานี้
สิ่งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบให้กับนิสิตทุกรุ่นไม่ใช่แค่เพียงความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ แต่คณะคือเบ้าหลอมนิสัยรักการอ่าน การมีจิตรักการเรียนรู้ และยังมีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมให้นิสิตพร้อมสู่โลกการทำงานเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ดังที่เราจะเห็นจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าหลายรุ่นที่ไปอยู่ในองค์กร หน่วยงานต่างๆ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะ ดังนั้นนอกจากคำขอบคุณจากใจจริงแล้ว สิ่งที่พี่แนนอยากฝากถึงน้องๆ อักษรฯ และบุคลากรทุกท่านของคณะ คือ อยากฝากให้ช่วยกันสืบต่อคุณค่าของความเป็นชาวอักษรฯ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพด้านวิชาการ และความสามารถในการเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ