พระสรัสวตี : เทวีอักษรศาสตร์

ในคัมภีร์ฤคเวท อันเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีข้อความหลายตอนกล่าวถึงเทวีสององค์ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมากคือ วาจฺ หรือ วาทฺ หรือ วาคฺเทวี กับ สรสฺวตีเทวี ซึ่งในสมัยต่อมาคือสมัยมหากาพย์และปุราณะได้กลายเป็นเทวีองค์เดียวกัน และมีตำแหน่งเป็น เทพเจ้าแห่งอักษรศาสตร์และวิชาดนตรี เป็นที่นับถือเคารพบูชาของชาวอินเดียตลอดมาจนทุกวันนี้

วาจ เป็นเทวีในแบบบุคลาธิษฐานคือเดิมเป็น “ เสียง” หรือ “ ถ้อยคำ” ตรงกับภาษากรีกว่า Vox และภาษาอังกฤษว่า Voice มีลักษณะเป็นธรรมชาติมีแต่ภาวะแต่ไม่มีรูปร่างเป็นตัวตน คัมภีร์พระเวทถือว่าเป็นพลังอำนาจทางธรรมชาติ อย่างหนึ่งที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่ง สามารถดลบันดาลให้เกิดความรู้ความฉลาดในหมู่มนุษย์ และเป็นราชินีแห่งทวยเทพผู้ทรงความฉลาดลึกล้ำเพราะเสียงหรือถ้อยคำนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งวิชาการทั้งปวง ซึ่งสมัยโบราณต้องท่องจำและถ่ายทอดสั่งสอนสืบกันมา และบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในคัมภีร์พระเวทนั้น ถือว่าเป็นยอดแห่งความรู้ทั้งมวล ซึ่งจะถ่ายทอดสืบกันมาได้ก็ด้วยการเปล่งเสียงให้ถูกต้องและมีจังหวะจะโคนที่ถูกต้อง โดยอาศัยการฝึกหัดอบรมกันมาอย่างเคร่งครัดเป็นรุ่นๆ สืบมาเป็นเวลาเกือบสี่พันปีแล้ว ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี จึงได้รับความนับถือยกย่องว่าเป็นแกนสำคัญอย่างหนึ่งในการธำรงไว้ซึ่งรากฐานแห่งอารยธรรมของอินเดียโบราณทั้งมวล

คัมภีร์ภาควตปุราณะ อ้างถึง วาจ ว่า “ เป็นผู้มีร่างกายบอบบางและเป็นธิดาผู้ทรงเสน่ห์ของพระพรหม” และมีเรื่องเล่า สืบไปว่า พระพรหมสร้างวาจขึ้นมาและเพราะเธอมีความงามพึงพิศหลายประการจึงให้ชื่อว่า “ ศตรูปา” (มีรูปร้อยแบบ)
และ พระพรหมมีความเสน่หาในตัวนาง พระพรหมจึงเอานางเป็นชายาสร้างกำเนิดเผ่าพันธ์มนุษย์สืบมา แต่คัมภีร์ปัทมปุราณะ มีข้อความต่างออกไปโดยกล่าวว่า วาจ เป็นลูกสาวของฤาษีกัศยป และเป็นมารดาของคนธรรพ์และนางอัปสรทั้งหลาย

ส่วนสรัสวตี เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจาก สรสฺ ( น้ำ ) + วตี ( เต็มไปด้วย ) หมายถึง “ เต็มไปด้วยน้ำ” คือแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และเก่าแก่อันเป็นที่นับถืออย่างยอดยิ่งของคนอินเดียโบราณ เป็นแม่น้ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนพรหมาวรรต คืออาณาจักรรุ่นแรกๆของพวกอารยันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย แม่น้ำสรัสวตีเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นแม่น้ำ หัวด้วนปลายด้วน กล่าวคือต้นน้ำอยู่ใต้ดินไหลไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาและยมุนา ส่วนปลายน้ำหายลงไปในทะเลทรายธาระ ตรงที่เรียกว่า “ วินาศนะ” เพราะรังเกียจที่จะไหลต่อไปทางใต้อันเป็นที่อยู่ของพวกป่าเถื่อน แต่มหาภารตะกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ เกิดจากคำสาปของฤษีอุตัถยะ อย่างไรก็ดี มีร่องทรายเป็นแนวทางต่อไปทางตอนใต้ของแม่น้ำสินธุอันแสดงว่า แม่น้ำสรัสวตีเคยเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุ แต่ภายหลังสายน้ำเปลี่ยนทางเดินและตื้นเขินไปในที่สุด ถ้าเป็นไปตามหลักฐานนี้ แม่น้ำสรัสวตีโบราณก็คือสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุทั้ง ๗ และมีชื่อเฉพาะว่า “ สรรสตุ” ( สรฺสฺตุ )

จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าต้นกำเนิดเดิมของ วาจ และ สรัสวตี ก็คือบุคลาธิษฐาน (personification) ของธรรมชาติคือ “ เสียง” กับ “ สายน้ำ” นั้นเอง ซึ่งสมมุติให้มีรูปร่างเป็นเทวีทั้งสององค์ และในที่สุดก็รวมเป็นองค์เดียวกัน ด้วยเหตุผลอันเหมาะสมอย่างยิ่ง กล่าวคือ เสียงหรือถ้อยคำของมนุษย์ ย่อมเกิดจากน้ำในร่างกาย เราจึงมีคำว่า “น้ำเสียง” แสดงว่า “ เสียง” กับ “ น้ำ” นั้นย่อมคู่กัน เมื่อมีน้ำ เสียงก็แจ่มใส เมื่อคอแห้งผาก เสียงก็แหบแห้ง หรือไม่มีเสียงในที่สุด ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี กับ สรัสวตี จึงผสมกลมกลืนเป็นเทวีองค์เดียวกันด้วยประการฉะนี้

สรัสวตีเทวี ปรากฏในรูปร่างหญิงงามผิวขาวผุดผ่อง บางทีเป็นรูป ๒ กร แต่ส่วนใหญ่มี ๔ กร พระหัตถ์ถือดอกไม้ ถือคัมภีร์ใบลาน ถือสร้อยไข่มุกชื่อศิวมาลา และถือกลองทมรุ หรือมิฉะนั้นก็ถือพิณ ถ้าเป็นรูปมี ๒ กรจะถือพิณอย่างเดียว ประทับบนพาหนะคือนกยูง แต่มีบางรูป มีพาหนะเป็นหงส์ ซึ่งเป็นพาหนะเเบบเดียวกับพาหนะของสวามีคือพระพรหม

โดยเหตุที่ สรัสวตี เป็นเทวีแห่งศิลปวิทยาการโดยเฉพาะวิชาการทางอักษรศาสตร์ จึงกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าเป็น เทวีอักษรศาสตร์ ในอินเดียถือกันว่าวันแรกของเดือนมาฆะ ( ราวเดือนกุมภาพันธ์ ) เป็นวันที่ระลึกถึงพระสรัสวตีเรียกว่า ศรีปัญจมีบูชา ในวันดังกล่าวผู้คนจะหยุดการขีดเขียนทั้งปวง และการให้สมุดหรือเครื่องเขียนแก่กัน ถือว่าเป็นการให้ของขวัญอันมีค่ายิ่ง คนที่บูชาสรัสวตีเทวีถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับพรให้เป็นนักอักษรศาสตร์ที่ฉลาดเฉลียว ปราดเปรื่อง สมตามบทสวดสำหรับวาคเทวีที่ว่า

“ ฉันโปรดใคร ฉันก็ทำให้ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นนักปราชญ์ แลกวีผู้ฉลาดหลักแหลม”

หมายเหตุ : ดูเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง วาจหรือสรัสวตี : เทวีอักษรศาสตร์ ในวรรณวิทยา รวมบทความทางวิชาการบางเรื่อง ของ รองศาสตราจารย์ ดร . ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในวาระการเกษียณอายุราชการ พ . ศ . ๒๕๓๔


สีเทา สีแห่งสติปัญญา เป็นสีประจำคณะอักษรศาสตร์


ชงโค

คือ ต้นไม้ประจำคณะอักษรศาสตร์เป็นไม้ผลัดใบขนาดเล็ก ความสูงประมาณ ๕– ๑๐ เมตร มีถิ่นกำเนิด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าโปร่งผสมนิยมนำปลูกประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพราะลำต้นมีลีลาที่งดงาม และดอกที่สวยงามคล้ายดอกกล้วยไม้ กลีบดอกสีชมพู ออกดอกหลังจากที่ใบใหม่ผลิแล้ว คือหลังเดือนเมษายน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจปลายทู่และเว้าลึกมองดูคล้ายใบแฝดติดกัน ผลัดใบในฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม แตกใบใหม่ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นชงโคเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วๆไป