แทนพระคุณเทวาลัย สู่ศตวรรษใหม่อักษรศาสตร์
โครงการระดมเงินบริจาคเนื่องในวาระอักษรศาสตร์ ๑๐๐ ปี

สาส์นจากคณบดี | ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ | วัตถุประสงค์ของโครงการ | ช่องทางบริจาค | แบบแสดงความจำนงบริจาค


 

ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ นั้น คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกที่ตั้งขึ้นใหม่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นิสิตในคณะอื่นๆ หลังจากนั้น คณะอักษรศาสตร์ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาหลายขั้นตอน อาทิเช่น การแยกคณะอักษรศาสตร์ออกจากคณะวิทยาศาสตร์ การแบ่งสาขาในคณะอักษรศาสตร์ออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์และแผนกฝึกหัดครู การรวมคณะอักษรศาสตร์กับคณะวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอีกก่อนที่จะแยกกันเป็น ๒ คณะอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๙๑ การเปลี่ยนชื่อคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ก่อนที่แผนกวิชาครุศาสตร์จะแยกตัวออกไปเป็นคณะครุศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นคณะอักษรศาสตร์และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

การพัฒนาด้านกายภาพของอักษรศาสตร์

ในด้านกายภาพ เมื่อเริ่มตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ นั้น คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีที่ทำการอยู่ที่พระตำหนักวินเซอร์ซึ่งเป็นพระตำหนักกลางทุ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ปัจจุบันสถานที่ตั้งพระตำหนักวินเซอร์ได้กลายเป็นสนามกีฬาแห่งชาติที่ถนนพระราม ๑ ต่อมาคณะอักษรศาสตร์จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ตึกซึ่งได้ชื่อต่อมาว่าตึกอักษรศาสตร์ ๑ (ปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์) และได้ใช้ห้องเรียนจำนวนหลายห้องในตึกอักษรศาสตร์ ๒ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ตั้งของหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยและได้ใช้ตึกอักษรศาสตร์ ๓ ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ทำการของบัณฑิตวิทยาลัยและ สปอ. ต่อมา คณะอักษรศาสตร์ได้รับงบประมาณสร้างตึกอักษรศาสตร์ ๔ เป็นของคณะเอง ในปัจจุบัน ตึกอักษรศาสตร์ ๑ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย ตึกอักษรศาสตร์ ๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาวชิราวุธ ใช้เป็นสำนักคณบดีและสำนักงานบริหารของคณะอักษรศาสตร์ ส่วนตึกอักษรศาสตร์ ๓ ได้ถูกทำลายและมหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารบรมราชกุมารีขึ้นมาแทนเพื่อเป็นอาคารเรียนรวมและเป็นห้องพักอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ส่วนตึกอักษรศาสตร์ ๔ ได้ถูกทำลายเพื่อสร้างอาคารใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า อาคารมหาจักรีสิรินธร และสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๕๕๓ อาคารมหาจักรีสิรินธรเป็นอาคารของคณะอักษรศาสตร์ สูง ๙ ชั้น ประกอบด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องประชุมหลายขนาด ห้องปฏิบัติการต่างๆ และห้องเรียนขนาดต่างๆ มีอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยประจำในแต่ละห้อง ในการก่อสร้างอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะได้รับงบประมาณแผ่นดินมาจำนวนหนึ่งสำหรับสร้างตัวอาคาร และได้มีการจัดตั้งมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเพื่อระดมทุนเป็นค่่าตกแต่งภายใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ตั้งแต่เริ่มตั้งมูลนิธิ

การพัฒนาด้านวิชาการของอักษรศาสตร์

ในแง่วิชาการ คณะอักษรศาสตร์ในอดีตมุ่งสอนวิชาพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาชีพแพทย์และครู ในปัจจุบัน วิชาที่สอนส่วนใหญ่ในคณะอักษรศาสตร์ก็ยังมีลักษณะที่ไม่ใช่วิชาชีพ เมื่อแรกเร่ิมจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วิชาที่จัดสอนในคณะในส่วนที่เป็นอักษรศาสตร์มีภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ ต่อมาก็ได้มีการสอนวิชาที่หลากหลายมากขึ้น แผนกวิชาแรกเริ่มในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มี ๙ แผนกได้แก่ แผนกสารบรรณและหอสมุดของคณะ แผนกเคมี แผนกฟิสิกส์ แผนกชีววิทยา แผนกคณิตศาสตร์ แผนกภาษาไทยและตะวันออก แผนกภาษาปัจจุบัน แผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกฝึกหัดครู เมื่อเวลาล่วงมานานหนึ่งศตวรรษ คณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบันประกอบด้วย ๑๑ ภาควิชา ได้แก่ภาควิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาตะวันออก ภาษาตะวันตก ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ปรัชญา บรรณารักษศาสตร์ ศิลปการละคร ภาษาศาสตร์ วรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ๒ หลักสูตรได้แก่หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาไทย ๑ หลักสูตรและหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) อีก ๑ หลักสูตร คณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท ๒๐ หลักสูตรและหลักสูตรปริญญาเอก ๑๑ หลักสูตร