แทนพระคุณเทวาลัย สู่ศตวรรษใหม่อักษรศาสตร์
โครงการระดมเงินบริจาคเนื่องในวาระอักษรศาสตร์ ๑๐๐ ปี
สาส์นจากคณบดี | ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ | วัตถุประสงค์ของโครงการ | ช่องทางบริจาค | แบบแสดงความจำนงบริจาค
วัตถุประสงค์ของโครงการระดมเงินบริจาค
- เพื่อบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธร
ในขณะนี้ อาคารมหาจักรีสิรินธรเป็นอาคารหลังเดียวที่อยู่ในความดูแลและความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ของคณะอักษรศาสตร์ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ อาคารมหาจักรีสิรินธรมีอายุประมาณ ๗ ปีแล้ว การบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธรทั้งด้านกายภายภาพและการซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการหาอุปกรณ์ชิ้นใหม่มาทดแทนวัสดุอุปกรณ์เก่าซึ่งเสียหายและหมดอายุมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี คณะกรรมการมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์จึงมีมติให้การบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีีสิรินธรอยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิ มูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์จึงมีความจำเป็นที่ต้องระดมทุนเพื่อสะสมทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธรซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี การบำรุงรักษากายภาพของอาคารมหาจักรีสิรินธรนั้นมีหลายหลากประเภท ตัวอย่างเช่น การทาสีอาคารใหม่ การบำรุงรักษาลิฟท์ การบำรุงรักษาระบบความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งระบบดับเพลิง ส่วนตัวอย่างของวัสดุอุปกรณ์เก่าที่ต้องหามาทดแทน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คประจำห้องสอนแต่ละห้อง ระบบโสตทัศนูปกรณ์และระบบมัลติมีเดียโดยเฉพาะเครื่องฉายภาพขึ้นจอในห้องสอนทุกขนาดและห้องประชุมทุกขนาดซึ่งมีราคาสูงมาก
อนึ่ง ผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์เพื่อบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธรสามารถบริจาคเข้าบัญชีมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์โดยตรงได้ (โปรดคลิกที่ลิงค์ “ช่องทางบริจาค“) - เพื่อช่วยเหลือนิสิตขาดแคลนและเพื่อพัฒนานิสิตและอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์
เป็นที่ทราบกันดีว่าศตวรรษที่ ๒๑ เป็นศตวรรษแห่งการแข่งขันอย่างรุนแรงในทุกระดับและในทุกภาคส่วน คณะอักษรศาสตร์มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานิสิตและอาจารย์ให้มีความสามารถสูงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในการพัฒนานิสิตและอาจารย์ให้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒ นั้นแบ่งได้เป็น ๒ ทิศทางได้แก่การช่วยเหลือนิสิตขาดแคลน และการพัฒนานิสิตและอาจารย์คณะอักษรศาสตร์เพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒ ดังมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เพื่อช่วยเหลือนิสิตขาดแคลน
ในแต่ละปี จะมีนิสิตอักษรศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ขาดแคลนทุนการศึกษาที่แสดงความจำนงขอรับทุนการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ข้อที่น่าสังเกตคือ นิสิตระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนการศึกษามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี งบประมาณที่คณะได้รับจัดสรรจากมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตขาดแคลนในบางปีจึงมีจำนวนไม่เพียงพอ ในบางครั้ง ผู้บริหารคณะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับนิสิตขาดแคลนด้วยการบริจาคเงินส่วนตนเพื่อเป็นทุนการศึกษานิสิตขาดแคลนเหล่านี้ ดังนั้น คณะอักษรศาสตร์จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่คณะจะต้องระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือนิสิตระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี เพื่อสร้างหลักประกันว่านิสิตที่ขาดแคลนทุนการศึกษาจะสามารถศึกษาได้จนสำเร็จ และสามารถอุทิศเวลาได้เต็มที่เพื่อศึกษาและมีโอกาสพัฒนาตนเองได้เหมือนกับนิสิตคนอื่นๆ และเพื่อให้นิสิตที่ขาดแคลนไม่ต้องกังวลกับการทำงานเสริมเพื่อหารายได้พิเศษมาเจือจุนตนเองในระหว่างศึกษาเล่าเรียน
อนึ่ง ทุนการศึกษาสำหรับนิสิตขาดแคลนต่อคนต่อปีการศึกษาเป็นจำนวน ๘๔,๐๐๐.๐๐ บาทซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละ ๑๗,๐๐๐ บาท x ๒ ภาค ๓๔,๐๐๐ บาท
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท x ๑๐ เดือน ๕๐,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ บาท
2.2 เพื่อพัฒนานิสิตและอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์เพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒
คณะอักษรศาสตร์มิใช่เป็นคณะที่สอนวิชาชีพ แต่สอนความรู้พื้นฐานที่เหมาะสำหรับการทำงานที่ไม่ได้อาศัยวิชาชีพเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งและสอนให้บัณฑิตจากคณะพร้อมจะไปศึกษาต่อยอดในสาขาวิชาอื่นๆ นอกจากนั้น คณะอักษรศาสตร์ยังมุ่งสอนให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะมีทักษะการใช้ภาษาที่ดีโดยเฉพาะภาษาไทยและภาษาต่างประเทศพร้อมทั้งมีวิธีการอ้างเหตุผลที่ถูกต้องในการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นทักษะใดๆ ดังนั้น การที่บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์จะแข่งขันในเวทีโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ได้และสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานได้นั้น บัณฑิตอักษรศาสตร์จะต้องอาศัยทั้งความรู้ด้านวิชาการ ความรู้รอบตัว และคุณสมบัติส่วนบุคคล คณะอักษรศาสตร์ตระหนักถึงภารกิจในการพัฒนานิสิตให้มีข้อได้เปรียบเพื่อเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิต แนวทางที่สำคัญที่สุดแนวทางหนึ่งในการพัฒนานิสิตให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกได้แก่การจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตไปศึกษาระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เรียกกันสั้นๆ ในภาษาอังกฤษว่า โครงการ student mobility ขณะนี้ นโยบายหลักในการพัฒนานักเรียนและนักศึกษาทั่วโลกทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับอุดมศึกษาคือการส่งนักเรียนและนักศึกษาไปเรียนระยะสั้นที่สถาบันการศึกษาที่ต่างประเทศเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษามี “ประสบการณ์ต่างประเทศ” (international experience) ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าการมีประสบการณ์ต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนและนิสิตนักศึกษาประสบความสำเร็จในการทำงานและในชีวิตส่วนตัว และมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาของประเทศ การมีประสบการณ์ต่างประเทศทำให้ผู้นั้นมีความรู้รอบตัวสูง มีิวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานต่างภาษาต่างวัฒนธรรม มีเพื่อนต่างประเเทศ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความอดทนและมีความเข้าใจผู้อื่นสูง ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษาทั่วโลกทั้งในระดับโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาทุกระดับต่างก็พยายามอย่างยิ่งที่จะส่งนักเรียนและนักศึกษาในสถาบันของตนไปศึกษาระยะสั้นที่ต่างประเทศเพื่อให้มีประสบการณ์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจึงตั้งเป้าหมายในการส่งนักศึกษาของตนเองไปศึกษาที่ต่างประเทศในจำนวนมากที่สุด มหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียเช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of SIngapore) และมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ต่างตั้งเป้าหมายว่าจะส่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนจำนวน ๑๐๐ % ไปศึกษาระยะสั้นที่สถาบันการศึกษาต่างประเทศ
สำหรับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ มีนิสิตที่ไปศึกษาในฐานะนิสิตแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศไม่ถึง ๑๐ % ของนิสิตทั้งหมด คณะอักษรศาสตร์จึงกำลังเร่งสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศเพื่อส่งนิสิตอักษรศาสตร์ไปศึกษาแบบแลกเปลี่ยน ในการส่งนิสิตไปศึกษาที่สถาบันในต่างประเทศแบบแลกเปลี่ยนนี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษา แนวปฏิบัติโดยทั่วไปคือ ถ้านิสิตไม่ได้รับทุนจากภายนอก นิสิตก็สามารถไปศึกษาแบบแลกเปลี่ยนได้โดยการใช้ทุนส่วนตัวแต่คณะเจ้าสังกัดมักจะให้ทุนเป็นบางส่วนเพื่อทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่นิสิตต้องรับผิดชอบมีน้อยลง จะเป็นเพิ่มโอกาสให้นิสิตสามารถเดินทางไปศึกษาแบบแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น ในปัจจุบัน คณะอักษรศาสตร์ยังไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะอุดหนุนนิสิตเพื่อไปศึกษาแบบแลกเปลี่ยนระยะสั้นที่ต่างประเทศแม้ว่าจะอุดหนุนเป็นบางส่วน คณะอักษรศาสตร์ตระหนักว่านิสิตของคณะเป็นนิสิตที่มีความสามารถสูง ถ้าได้รับโอกาสที่จะเดินทางไปศึกษาแบบแลกเปลี่ยนระยะสั้นที่ต่างประเทศ จะทำให้นิสิตอักษรศาสตร์มีข้อได้เปรียบมากขึ้น และจะเป็นการดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศให้มาศึกษาระยะสั้นที่คณะอักษรศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความเป็นนานาชาติให้แก่คณะอักษรศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากการพัฒนานิสิต คณะอักษรศาสตร์ก็ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาอาจารย์ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนานิสิตอักษรศาสตร์ และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างชื่อเสียงแก่คณะอักษรศาสตร์ ในปัจจุบัน คณะไม่มีเงินทุนเพียงพอในการส่งอาจารย์ไปทำวิจัยระยะสั้น ณ ต่างประเทศเช่นเดียวกับในกรณีของนิสิต การที่อาจารย์ได้รับโอกาสไปทำวิจัยระยะสั้นที่สถาบันในต่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจะเป็นโอกาสให้อาจารย์ได้มีเวลาทำวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในระดับนานาชาติซึ่งเป็นจุดอ่อนของคณะอักษรศาสตร์อยู่ในปัจจุบัน อาจารย์จะได้รับโอกาสให้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้สอนและพัฒนานิสิตอักษรศาสตร์รวมทั้งพัฒนาคณะด้วย และยังเป็นโอกาสที่อาจารย์จะได้สร้างเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำวิจัยหรือทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน และในการส่งนิสิตไปศึกษาระยะสั้นแบบแลกเปลี่ยนกับสถาบันแห่งนั้นๆ ได้ คณะอักษรศาสตร์จึงเห็นว่าการที่อาจารย์จะได้รับโอกาสไปทำวิจัยระยะสั้นที่ต่างประเทศมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่นิสิตได้รับโอกาสไปศึกษาระยะสั้นในฐานะนิสิตแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ
อนึ่ง ผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือนิสิตขาดแคลนและเพื่อพัฒนานิสิตและอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์สามารถบริจาคเข้าบัญชีคณะอักษรศาสตร์โดยตรงได้ (โปรดคลิกที่ลิงค์ “ช่องทางบริจาค“)