การสำรวจภาคสนาม
Field Surveys and Research Sites

ประเพณีกินข้าวห่อ ของชาวกะเหรี่ยง อ.สวนผึ้ง

แต่ละบ้านจะจัดพิธีไม่ตรงกัน เพื่อที่ว่าหมู่บ้านอื่น ๆ จะได้มาร่วมงาน สนุกสนาน กระชับสัมพันธ์โดยงานจะจัดระหว่างวันที่ 12-22 สิงหาคม (แต่ละปีอาจกำหนดช่วงเวลาไม่ตรงกันทุกปี) ผู้วิจัยได้เดินทางไปร่วมพิธีในวันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งบ้านบ่อบน จัดพิธีกินข้าวห่อร่วมกับทางอำเภอ โดยมีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านต่าง ๆ ชาวบ้าน มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

โดยประวัติความเป็นมาประเพณีเรียกขวัญเดือนเก้า กำนันสกล คุณาพิทักษ์ กล่าวว่า ประเพณีเรียกขวัญเดือนเก้าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ตามตำนานกะเหรี่ยงเล่าว่า ในสมัยที่คนกะเหรี่ยงอยู่ทางตอนเหนือของจีน ชาวกะเหรี่ยงพบกับความทุกข์ยากอย่างสาหัส เกิดโรคระบาด ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ชาวกะเหรี่ยงจึงได้จัดพิธีเรียกขวัญในเดือนเก้า เพื่อให้หายจากความทุกข์โศกเศร้า โดยมีจุดประสงค์ คือ เพื่อให้ลูกหลานสุขสบาย ปราศจากโรคภัย มีความสุข ความเจริญ อายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งช่วงระยะเวลาในการเรียกขวัญ คือ เดือนเก้า ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ฝนตกชุก อากาศเย็น เป็นช่วงที่ชาวบ้านเจ็บป่วยจากโรคไข้มาลาเรีย โรคไข้เลือดออกได้ง่าย นอกจากนี้เดือนดังกล่าว ยังเป็นเดือนที่สัตว์จำศีลไม่ปรากฏตัวให้เห็น เป็นช่วงที่นายพรานปิดป่า ส่วนที่หมู่บ้านนั้นเป็นช่วงหลังจากเก็บเกี่ยว ชาวกะเหรี่ยงจึงว่างจากการทำงาน จึงจัดพิธีที่ลูกหลานจะได้กลับมาพบหน้ากัน นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า ความเจ็บป่วยเกิดจากการที่คนกะเหรี่ยงได้ทำผิดกฎระเบียบข้อห้ามของบรรพบุรุษ หรือถูกผีป่า เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าท่า เจ้าทุ่ง และวิญญาณเร่ร่อนรบกวนจึงได้มีประเพณีผูกแขนเรียกขวัญเดือนเก้าเพื่อขจัดความเจ็บป่วยของลูกหลาน

ข้าวห่อของชาวกะเหรี่ยง มีทั้งข้าวห่อตัวผู้และข้าวห่อตัวเมีย หมายถึง ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน การห่อข้าวมีทั้งที่มัดเป็นช่อและห่อเดี่ยว ๆ ห่อที่มัดเป็นช่อมีข้าวห่อตัวผู้ตัวเมียจะมอบให้พ่อแม่ ผู้ใหญ่ในบ้านกิน ในการห่อข้าวห่อที่เป็นช่อต้องห่อให้อยู่ในระดับเท่ากันทั้งหมดเพื่อสื่อถึงความเสมอภาค การจัดประเพณีกินข้าวห่อในปัจจุบันได้สร้างชื่อเสียงให้ อ.สวนผึ้ง สร้างความสนใจและมุ่งหวังที่จะให้ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงรุ่นหลังร่วมสืบสานสืบไป

การเรียกขวัญกินข้าวห่อของบ้านบ่อบน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. ส่วนที่จัดที่สนามฟุตบอล เริ่มประมาณ 09.00 น. นอกจากมีการผูกมือเรียกขวัญแล้ว ยังมีการละเล่นต่าง ๆ อาทิ แข่งทำข้าวห่อ แข่งกินข้าวห่อ แข่งเป่าลูกดอก แข่งฟุตบอลกระชับสัมพันธ์ จากการสังเกตของผู้วิจัย พบว่าการจัดงานในส่วนกลางมีวัยรุ่นมาร่วมงานน้อยมาก แต่มักจับกลุ่มกันที่ร้านค้าจำนวนมาก ทั้งนี้คืนก่อนหน้าที่จะจัดงานประเพณีเรียกขวัญกินข้าวห่อ ได้มีวัยรุ่นตีกัน ปาระเบิดใส่กัน ที่หน้าอำเภอสวนผึ้งที่จัดงานออกร้านขายของ มีการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งโชคดีอย่างยิ่งที่ไม่ได้ไป

งานประเพณีกินข้าวห่อของชาวกะเหรี่ยง
The Karen's Wrapped Rice Feast in Ratchaburi

กะเหรี่ยงโป บ้านห้วยคลุม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี The Pwo women of Ban Huai Khlum, Amphoe Suan Phueng, Ratchaburi
ฉีกใบตองไว้ห่อข้าว Preparing banana leaves for wrapping rice
เทต้มในหม้อ Boiling the wrapped rice in a pot
อัว เนยา 73 ปี Ua Neya, aged 73 บก เนยา 68 ปี Bok Neya, aged 68 นาอี๊ จอเด๊ะ 64 ปี and Na-i Chode, aged 64
เป่าแคน ร้องเพลง ประกอบพิธีเรียกขวัญ Playing the Can (Pandean pipes) musical instrument and singing in accompaniment to Khwan rituals
ข้าวห่อบนเตา Wrapped rice on a stove
เคาะเรียกขวัญ Knocking in order to invite a guardian spirit, the Khwan, to visit