จาก แผนกวิชา สู่ ภาควิชา…
ภาควิชาภาษาไทยเป็นหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยและดำรงอยู่คู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏว่า เมื่อแรกสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2459 (ตรงกับ พ.ศ. 2460 ตามการนับแบบปัจจุบัน) คณะอักษรศาสตร์มีฐานะเป็นคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานแก่คณะอื่น ๆ ได้แก่ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 เมื่อคณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมอักษรศาสตร์ (ป.ม.) ได้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยร่วมกับวิชาอื่น ๆ ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรรมวิภาค คณิตศาสตร์
และวิชาครู
ต่อมาใน พ.ศ. 2491 ภาควิชาภาษาไทยมีฐานะเป็นแผนกวิชา ใช้ชื่อว่า แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก จัดการเรียนการสอนภาษาไทยร่วมกับภาษาตะวันออกอีก 3 ภาษา ได้แก่ เขมร บาลี และสันสกฤต
ในปี พ.ศ. 2504 แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออกได้เปลี่ยนชื่อเป็น แผนกวิชาภาษาไทย เนื่องจากมีการแบ่งแผนกวิชาใหม่เป็น 6 แผนกวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาตะวันออก ภาษาตะวันตก ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์
เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ได้มีการเปลี่ยนคำเรียกจาก แผนกวิชา เป็น ภาควิชา แผนกวิชาภาษาไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ภาควิชาภาษาไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ทำเนียบหัวหน้าภาควิชา
ภาควิชาภาษาไทยนับแต่เป็นแผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออกมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชามาแล้ว 20 ท่าน เรียงลำดับตามสมัยการดำรงตำแหน่ง ดังนี้
พัฒนาการการเรียนการสอน
ภาควิชาภาษาไทยเป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศในการถ่ายทอดและสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีไทยแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในระยะแรก ภาควิชาภาษาไทยจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเป็นผู้สอน เช่น พระวรเวทย์พิสิฐ พระยาอุปกิตศิลปสาร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศาสตราจารย์ฉลวย วุธาทิตย์ ศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงษ์ ศาสตราจารย์เบ็ญจวรรณ สุนทรากูล ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากอาจารย์พิเศษอีกหลายท่าน เช่น พระยาอนุมานราชธน พระสารประเสริฐ ศาสตราจารย์ซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ เป็นต้น
ภาควิชาภาษาไทยเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ขณะที่ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชา มีการปรับปรุงหลักสูตรทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและปริญญามหาบัณฑิต เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทันสมัย โดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมแก่ระบบหน่วยกิตซึ่งเริ่มเมื่อในปีการศึกษา 2514 ต่อมาเมื่อปีการศึกษา 2517 ภาควิชาภาษาไทยได้เปิดหลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตเป็นครั้งแรก มีนิสิตรุ่นแรก 5 คน และมีผู้สำเร็จการศึกษาคนแรกในปีการศึกษา 2521 คือ นางสาวกรรณิการ์ ชินะโชติ
ปัจจุบันภาควิชาภาษาไทยเปิดสอนวิชาด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และคติชนวิทยา ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต ปริญญามหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต นอกจากนี้ยังเปิดสอนวิชาในสาขาวิชาภาษาโทภาษาเขมร และสาขาวิชาภาษาลาว อีกด้วย
ศตวรรษที่ 2 ของภาควิชาภาษาไทย
ภาควิชาภาษาไทยนับเป็นภาควิชาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดภาควิชาหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากนับวาระการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ภาควิชาภาษาไทยได้ก้าวย่างสู่ศตวรรษที่ 2 แล้ว ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภาควิชาภาษาไทยเป็นหน่วยงานสำคัญที่สร้างบุคลากรจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และคติชนวิทยา เป็นกำลังสำคัญแก่ประเทศชาติในภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และคติชนวิทยาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นเสาหลักด้านวิชาการแก่สังคมไทยและสังคมโลก ในศตวรรษที่ 2 นี้ ภาควิชาภาษาไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาและพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการด้านต่าง ๆ ไว้ ดังพันธกิจของภาควิชาภาษาไทยในศตวรรษที่ 2 ที่ว่า
“ศตวรรษที่ 2 ภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ
แหล่งเผยแพร่และพัฒนาความรู้ทางภาษา วรรณคดี
และคติชนของสังคมไทยในบริบทสังคมโลก”
บรรณานุกรม
- คมคาย นิลประภัสสร. คิดถึงภาควิชาภาษาไทย. วารสารภาษาและวรรณคดีไทย 10, 2 (ธันวาคม 2536): 86-91.
- อักษราฉายาลักษณ์ 80 รุ่น อักษรศาสตรบัณฑิต 100 ปี อักษรศาสตร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2560.