Search
Close this search box.

กิจกรรมเพื่อสังคม

กิจกรรมเพื่อสังคม

นอกจากหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแก่นิสิตแล้ว ภาควิชาภาษาไทยยังตระหนักถึงบทบาทต่อสังคมด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ภาควิชาภาษาไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้


1. กิจกรรมเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาและวรรณคดีไทย

ในปี พ.ศ. 2501 คณะอักษรศาสตร์สนับสนุนให้มีการจัดตั้งชุมนุมของแผนกวิชา เพื่อจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ ในการนี้ ภาควิชาภาษาไทยได้ตั้งชุมนุมภาษาไทยขึ้น มีพระวรเวทย์พิสิฐเป็นประธานชุมนุม เพื่อฟื้นฟูการศึกษาวิชาภาษาไทยและส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ได้มาตรฐาน และเพื่อจัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาษาไทย กิจกรรมที่สำคัญในช่วงนี้ เช่น การจัดการแสดงสักรวาหน้าที่นั่ง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2503  ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร และพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเป็นทุนดำเนินงานของชุมนุม

 

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย 
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ประธานชุมนุม พร้อมด้วยคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

 

กิจกรรมของชุมนุมภาษาไทยที่นับว่ามีความสำคัญต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การประชุมทางวิชาการวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ซึ่ง ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล หัวหน้าแผนกวิชาภาษาไทยเป็นประธานชุมนุม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมการประชุมเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานการประชุม ทรงร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ร่วมชี้แจงปัญหาการใช้คำไทยด้วย อันแสดงให้เห็นความสนพระทัยและความห่วงใยปัญหาการใช้ภาษาไทย พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ทำให้ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 เห็นชอบให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ บรมนาถบพิตร และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย กล่าวได้ว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ บรมนาถบพิตร และการจัดกิจกรรมของชุมนุมภาษาไทย มีความสำคัญต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นประธานการประชุม และทรงร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย”

กิจกรรมเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาและวรรณคดีไทยที่เกี่ยวข้องกับภาควิชาภาษาไทยอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ งานวันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ชื่อเดิมคือ งานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) ซึ่งชุมนุมภาษาไทย (ปัจจุบันคือภาควิชาภาษาไทย) ร่วมกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2502 กิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 9 – 11 ธันวาคมของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลรามฯ ภายในงานมีการประกวดและการแข่งขันทักษะภาษาไทยและวรรณคดีไทยของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา งานวันกรมพระปรมานุชิตชิโนรสจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 60 ปี นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าของภาษาและวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี

การแข่งขันเล่านิทานประกอบการแสดง ระดับประถมศึกษา

นอกจากงานวันภาษาไทยแห่งชาติ และงานวันกรมพระปรมานุชิตชิโนรสแล้ว ภาควิชาภาษาไทยยังจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมภาษาไทยและวรรณคดีไทยกิจกรรมอื่น ๆ อีก ตามโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น งานวันสุนทรภู่ การแสดงสักวาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ การประกวดและการแข่งขันทักษะภาษาไทย เป็นต้น

การแข่งขันต่อคำประพันธ์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
2. กิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่สังคม

ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิชาการด้านภาษาไทยที่เก่าแก่ในประเทศไทย ภาควิชาภาษาไทยได้จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการภาษาไทย วรรณคดีไทย และคติชนวิทยาแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการจัดบรรยายทางวิชาการในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น การบรรยายทางวิชาการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ การบรรยายทางวิชาการเนื่องในวันสุนทรภู่ เป็นต้น และยังมีการบรรยายทางวิชาการชุดต่าง ๆ เช่น

  • “สืบสานวิทยาพฤฒาจารย์” การบรรยายทางวิชาการของอาจารย์อาวุโสภาควิชาภาษาไทย
  • “มณีปัญญา” การนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย
  • “วิชญมาลา” การนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย
  • “สรรพ์วิทยา” การนำเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ภาควิชาภาษาไทยยังได้เผยแพร่ความรู้ด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และคติชนวิทยาในรูปแบบสื่อสารงานวิจัยทางสื่อสังคม โดยนำเสนอในรูปแบบวีดิทัศน์เผยแพร่ทาง เฟซบุ๊กแฟนเพจเอกภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ” และ เว็บไซต์ ยูทูบ ช่อง เอกภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ” 

วิจักษ์วิจัย...อิเหนาไทย-อิเหนาเทศ
วิจักษ์วิจัย...อิเหนาไทย-อิเหนาเทศ
Interlanguage Pragmatics เพื่อการสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 และทำความเข้าใจการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
Interlanguage Pragmatics เพื่อการสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 และทำความเข้าใจการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม
บรรณานุกรม

คมคาย นิลประภัสสร. คิดถึงภาควิชาภาษาไทย. วารสารภาษาและวรรณคดีไทย 10, 2 (ธันวาคม 2536): 86-91.

อักษราฉายาลักษณ์ 80 รุ่น อักษรศาสตรบัณฑิต 100 ปี อักษรศาสตร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2560.

แชร์หน้านี้: