วันที่ 30 ตุลาคม 2562 สาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก จัด “เสวนาภาษาพฤกษาลาตินอเมริกา-ไทย” โดยมีวิทยากร คือ อาจารย์ธง ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการ Latinamericanista ผู้ชื่นชอบการศึกษาเรื่องพืชเป็นชีวิตจิตใจ มาเล่าเรื่องราวการเดินทางของพืชจากลาตินอเมริกาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ยุโรป และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย
งานเสวนานี้เปิดมุมมองการเดินทางของพืชพันธุ์จำนวนมากสู่เอเชียตั้งแต่ยุคอาณานิคมและผ่านกระบวนการ localization จนมีชื่อใหม่เป็นภาษาไทย ทำให้ประชาชนไทยคิดว่าเป็นพืชท้องถิ่นของไทย พืชเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบของอาหารจานใหม่ในเอเชียที่มีวิธีการปรุงแตกต่างไปจากเดิม พืชผักที่เป็นส่วนประกอบใน “ส้มตำ” ล้วนเป็นพืชท้องถิ่นจากโลกใหม่ ผักผลไม้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มันเทศ มันฝรั่ง ผักเบี้ย ผักโขม พริก กระถิน ละมุด มะละกอ สับปะรด ฝรั่ง เสาวรส โกโก้ ไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ เช่น วาสนา สาวน้อยประแป้ง อะกาเว ก้ามปู เฟื่องฟ้า ดาวเรือง บานชื่น หงอนไก่ ราตรี พวงชมพู บานไม่รู้โรย ไปจนถึงพุทธรักษา ล้วนมีถิ่นกำเนิดในลาตินอเมริกา การเสวนานี้ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ว่าพืชพันธุ์ที่เราคุ้นเคยจำนวนมาก แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดในลาตินอเมริกา
งานเสวนานี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของรายวิชา “วัฒนธรรมลาตินอเมริกา” รายวิชานี้ไม่เพียงเน้นเนื้อหาจากฝั่งลาตินอเมริกา ยังเน้นการเชื่อมโยงและเปรียบเทียบมิติทางวัฒนธรรมกับประเทศไทย ที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์