กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม,  งานพิธีการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

คณะอักษรศาสตร์เข้ารับประทานพระไตรปิฎก ฉบับภาษาเขมร

วันศุกร์ ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหาร และผู้แทนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้ารับประทานพระไตรปิฎกฉบับภาษาเขมร เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า ณ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ พระไตรปิฎกดังกล่าว เป็นชุดที่สมเด็จพระสังฆนายกแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ถวายไว้แด่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความว่า

“พระพุทธศาสนานั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘พระธรรมวินัย’ เมื่อสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ ‘พระไตรปิฎก’ คือหลักฐานบันทึกพระธรรมวินัย ดังนั้น ตราบใดที่พระไตรปิฎกยังคงปรากฏมีอย่างถูกต้องสมบูรณ์บนโลกนี้ ก็เสมอด้วยการที่พระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ เป็นประทีปนำทางชีวิตของผู้สนใจใคร่ศึกษา แม้พระไตรปิฎกนั้นถูกบันทึกไว้ด้วยภาษาต่างๆ กัน เมื่อวันเวลาผ่านไป จึงเกิดมีผู้สงสัยในความถูกต้องเที่ยงแท้ของพระธรรมวินัย

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาประทานหลักการพิสูจน์ความถูกต้องของพระธรรมวินัยไว้แล้ว ว่าต้องมีลักษณะเป็นไป ๘ ประการ กล่าวคือ

๑.วิราคะ ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด
๒.วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด,ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์
๓.อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส
๔.อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก
๕.สันตุฏฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ
๖.ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่
๗.วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน ๘.สุภรตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

พระไตรปิฎกภาษาเขมรที่มอบให้นี้ สมเด็จพระสังฆนายกแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้มีไมตรีจิต มอบไว้ให้แก่อาตมภาพ อาตมภาพเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นไว้เป็นหลักเฉลิมพระนคร จึงขอมอบพระไตรปิฎกภาษาเขมรสำรับนี้ไว้แก่หอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นวิทยาทานสืบไป”