ข่าววิจัย/บริการวิชาการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

อักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง : ภาษาศาสตร์กับการพิสูจน์หลักฐานเสียงพูด

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 1 เรื่อง “ภาษาศาสตร์กับการพิสูจน์หลักฐานเสียงพูด” ผ่านโปรแกรม Zoom โดยอาจารย์ ดร. ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์ ดร. ศุจิณัฐ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการศึกษาด้านนิติสัทศาสตร์ (Forensic Phonetics) ว่าการศึกษาด้านนี้ผนวกองค์ความรู้ระหว่างสาขาวิชาภาษาศาสตร์กับการพิสูจน์เสียงพูด เพื่อวิเคราะห์คลื่นเสียงในภาษา โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านเครื่องมือประเภทแผนภาพคลื่นเสียงหรือลายพิมพ์เสียง (voiceprint)

คลื่นเสียง

ใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากคลื่นเสียงแสดงข้อมูลได้หลายประการ ทั้งหน่วยเสียง ความหมาย คุณสมบัติทางสรีระของผู้พูด และปัจจัยทางสังคมของผู้พูด เช่น ชนชั้น อาชีพ ถิ่นกำเนิด รวมทั้งลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล นิติสัทศาสตร์เป็นวิธีการพิสูจน์หลักฐานรูปแบบหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบคลื่นเสียงของหลักฐานเสียงพูดว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ โดยวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์จากแผนภาพคลื่นเสียงที่แสดงข้อมูลจำพวกระยะเวลา ค่าความถี่ ความเข้มเสียง อย่างไรก็ตาม การทำงานในสถานการณ์จริงมักมีข้อกำจัดเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความท้าทายของการวิเคราะห์เสียงพูด

เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย คือ เสียงคุณภาพไม่ชัดเจน การปลอมแปลงเสียง หรือเสียงเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และเวลา จากการตะโกน อารมณ์ ความเครียด นักนิติสัทศาสตร์มีหน้าที่พิจารณาเลือกใช้ระเบียบวิธีวิเคราะห์และค่าพารามิเตอร์ ซึ่งหมายถึงค่าที่ได้จากการวิเคราะห์ ตามความน่าจะเป็นในแต่ละสถานการณ์ เช่น ค่าระยะเวลา ค่าความถี่มูลฐาน เป็นต้น

นักภาษาศาสตร์มีบทบาทอย่างมากในการพิสูจน์เสียงพูด เพราะมีความรู้ความเข้าใจต่อการผลิตและคลื่นเสียง การแปรตามสรีระและปัจจัยทางสังคม ความแตกต่างของพารามิเตอร์และระเบียบวิธีวิเคราะห์ ปัจจุบันต้องการผู้ศึกษาทางนิติสัทศาสตร์อีกมาก เพราะเป็นงานที่อาศัยทักษะ ความรู้ความเข้าใจ และระยะเวลาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรัดกุมและรอบด้าน