ข่าววิจัย/บริการวิชาการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

อักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “มากกว่านั่งดู : การจัดการประสบการณ์ที่หลากหลายสำหรับผู้ชมศิลปะการแสดง”

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 3 เรื่อง “มากกว่านั่งดู : การจัดการประสบการณ์ที่หลากหลายสำหรับผู้ชมศิลปะการแสดง” ผ่านโปรแกรม Zoom โดยอาจารย์เปรมรินทร์ มิลินทสูต จากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์เปรมรินทร์กล่าวถึงความสำคัญของนักจัดการด้านงานศิลปะและการแสดงว่า มีบทบาทอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ที่ดีและแปลกใหม่แก่ผู้ชม ด้วยหลากหลายวิธี ดังนี้

Collaboration

ความร่วมมือของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ เป็นแนวทางเปิดกว้างสู่การสร้างงาน กลุ่มผู้ชม และประสบการณ์ใหม่ เช่น NEOS Dance Theatre ที่เด่นด้านการแสดงบัลเลต์รูปแบบร่วมสมัยร่วมมือกับศิลปินทัศนศิลป์ จัดงานแสดงร่วมกันในพิพิธภัณฑ์ Akron Art 

Extraordinary

การสร้างประสบการณ์ที่แปลกและแตกต่าง นักจัดการต้องเตรียมงานให้เหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มผู้ชม เช่น ละคร Sleep No More จัดแสดงในอาคารที่เนรมิตบรรยากาศให้เข้ากับธีมของละคร ผ่านกิจกรรมภายในงาน การตกแต่งพื้นที่ อาทิ ช่องจำหน่ายบัตร พื้นที่นั่งรอ ลิฟต์โดยสาร รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน

Participation

การสร้างความมีส่วนร่วม เช่น ละครของ Cleveland Public Theatre ที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง และนำข้อความติดบนกระดาน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณงาน เพื่อแบ่งปันแก่ผู้ชมคนอื่น และสร้างความรู้สึกร่วมกันระหว่างผู้ชม ก่อนเริ่มการแสดง

Partnership

ความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น งานดนตรีชุมชน จัดให้มีการซื้อขายสินค้าจากร้านในชุมชน และจัดการแสดงดนตรีโดยหมุนเวียนตามบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยของคนในชุมชน งานแสดงดนตรีของชุมชนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างผู้อาศัยในชุมชน ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ส่วนบุคคล และเทศมนตรีและผู้ดูแลศิลปะ ซึ่งคอยอำนวยความสะดวก ให้กระบวนการงานด้านศิลปะดำเนินงานได้ง่ายขึ้น

Value

การสร้างคุณค่าที่ไม่ใช่เพียงสินค้า แต่เป็นประสบการณ์ที่ได้รับ เช่น ความผูกพันระหว่างโรงละครกับผู้ชม โดยรักษาบรรยากาศหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ทำให้ผู้ชมภาคภูมิใจ และกลับมาชมละครทุก ๆ ปี

แม้ในปัจจุบันที่เผชิญกับภาวะการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นักจัดการทางศิลปะต้องปรับตัวเพื่อหาวิธีถ่ายทอดประสบการณ์การแสดงที่ดีแก่ผู้ชมให้ได้ เช่น โรงละครอุปรากรในสเปนที่ใช้ต้นไม้แทนผู้ชม แต่ยังคงบรรยากาศการแสดงแบบดั้งเดิมไว้